Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 451 - 480 of 2268

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

คอมพอสิตของพอลิแล็กติกแอซิดรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์–เอสเทอร์/โวลลาสโทไนต์เติมด้วยสารขยายสายโซ่, สุรพันธ์ หงสุรพันธุ์ Jan 2021

คอมพอสิตของพอลิแล็กติกแอซิดรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์–เอสเทอร์/โวลลาสโทไนต์เติมด้วยสารขยายสายโซ่, สุรพันธ์ หงสุรพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิจัยนี้ คอมพอสิตของพอลิแล็กติกรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์– เอสเทอร์/โวลลาสโทไนต์ได้ถูกพัฒนาด้วยการเติมสารขยายสายโซ่จองคิ้ว โดยขั้นแรกพอลิเมอร์ผสม พอลิแล็กติกแอซิดรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์–เอสเทอร์ที่อัตราส่วน 80/20 ถูกผสมด้วยสารขยายสายโซ่จองคิ้วที่อัตราส่วนต่าง ๆ (0.5–2 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินผสมร้อยส่วน) เพื่อวิเคราะห์หาน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ย ดรรชนีการหลอมไหล สมบัติเชิงกล และสมบัติทางความร้อน พบว่า การเติมสารขยายสายโซ่จองคิ้ว ส่งผลให้น้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ย ความเข้ากันได้ระหว่าง พอลิเมอร์ผสม และสมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสมเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพทางความร้อนมีค่าลดลง โดย 80/20 พอลิแล็กติกแอซิดรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์–เอสเทอร์ที่เติมสารขยายสายโซ่จองคิ้วที่ปริมาณ 1.5 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินผสมร้อยส่วนมีค่าความทนแรงกระแทกและการยืดตัว ณ จุดขาดสูงสุด จึงถูกเลือกไปเตรียมคอมพอสิตกับโวลลาสโทไนต์ที่ปริมาณ 5, 10, 15 และ 20 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินผสมร้อยส่วน พบว่า คอมพอสิตได้รับการปรับปรุง ยังส์มอดุลัส ความทนแรงดัดโค้ง มอดุลัสการดัดโค้ง เสถียรภาพทางความร้อน และการหลอมหยด ขณะที่ความทนแรงดึงและการยืดตัว ณ จุดขาด มีค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 80/20 พอลิแล็กติกแอซิดรีไซเคิล/เทอร์มอพลาสติกพอลิอีเทอร์–เอสเทอร์ที่เติมสารขยายสายโซ่จองคิ้วที่ปริมาณ 1.5 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินผสมร้อยส่วนอย่างไรก็ตาม คอมพอสิตที่เติมโวลลาสโทไนต์ที่ปริมาณ 20 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินผสมร้อยส่วนมีสมบัติที่ดีที่สุด


การพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศขนาดกลาง, ไปรยา ทองเหลือง Jan 2021

การพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศขนาดกลาง, ไปรยา ทองเหลือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หน่วยควบแน่นแบบระเหย (Evaporative condenser unit) คือการอาศัยหลักการระเหยของน้ำมาช่วยเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ ได้แก่ ความชื้นสัมพัทธ์โดยรอบ (Ambient relative humidity) และอัตราการไหลของน้ำ (Water flow rate) โดยออกแบบคอยล์เสริมเพื่อเป็นบริเวณที่ใช้ในการฉีดพ่นน้ำ พบว่าการเชื่อมต่อคอยล์เสริมบริเวณดิสชาร์จสูงกว่าบริเวณลิควิด 3.5% การทดลองเพื่อศึกษาเปลี่ยนแปลงค่าความชื้นสัมพัทธ์ควบคุมโดยปรับค่าความเร็วอากาศพบว่าเมื่อความเร็วอากาศลดลงทำให้ความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น และความสามารถในการระบายความร้อนมีค่าสูงสุดในช่วงความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 73.1% ถึง 80.9% การทดลองศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลของน้ำพบว่าพื้นที่สัมผัสบริเวณผิวคอยล์เสริมมากจะสามารถลดอุณหภูมิของสารทำความเย็นได้มากเช่นกัน นอกจากนี้ขนาดของหัวฉีดพ่นและความชื้นสัมพัทธ์ยังส่งผลต่อการลดลงของอุณหภูมิสารทำความเย็นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพการทำงานของต้นแบบหน่วยควบแน่นแบบระเหยพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจากเครื่องปรับอากาศที่ระบายความร้อนด้วยลมปกติได้สูงถึง 20.36%


การพัฒนาระบบพลาสมาไอออนไนเซอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับเครื่องปรับอากาศ, นฤสรณ์ แน่นหนา Jan 2021

การพัฒนาระบบพลาสมาไอออนไนเซอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับเครื่องปรับอากาศ, นฤสรณ์ แน่นหนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิจัยนี้ วงจรเครื่องกำเนิดพลาสมาถูกออกแบบโดยวางรากฐานอยู่บนการใช้ Flyback Transformer ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสวิตชิ่งกำลังไฟฟ้าของ MOSFET ในการคายประจุแบบพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับพลาสมาไอออนไนเซอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายให้กับเครื่องพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวใช้แรงดันไฟฟ้า 5.38 kV วงจรกำเนิดพลาสมาได้รับการออกแบบมีการทำงานที่ความถี่ 0.2 Hz เมื่อใช้ Duty Cycle ที่ 5%, 10%, 20% และ 100% การศึกษาอุณหภูมิวัสดุไดอิเล็กตริกที่เปิดระบบไว้ 10 นาที อยู่ที่ 34.0 °C, 36.5 °C, 39.6 °C และ 67.0 °C ตามลำดับ และเมื่อตรวจวัดค่าโอโซนพบว่ามีความเข้มข้นโอโซน 174 ppb, 794 ppb, 1,820 ppb และ 9,849 ppb ตามลำดับ จากการศึกษาสเปกโตรสโกปีการเปล่งแสงของพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จพื้นผิวที่ความดันบรรยากาศเผยให้เห็นว่ามีกลุ่ม N2, NO และ OH ซึ่งสารอนุมูลอิสระเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยการใช้ Optical Emission Spectrometer พบว่ามีอุณหภูมิพลาสมาที่ 0.82 eV การทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อใช้ Escherichia coli (E. coli) ATCC 25922 ในการทดสอบ เชื้อ E. coli ถูกฉายด้วยไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวและพลาสมาไอออนไนเซอร์เป็นเวลา 10 นาที จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวสามารถลดปริมาณเชื้อ E. coli ได้ถึง 100% ในขณะที่พลาสมาไอออนไนเซอร์ไม่สามารถลดปริมาณเชื้อ E. coli ได้


ความต้องการทางการตลาดของเทคโนโลยีเครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศในกลุ่มตลาดใหม่, กมลวรรณ บรรจงแก้ว Jan 2021

ความต้องการทางการตลาดของเทคโนโลยีเครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศในกลุ่มตลาดใหม่, กมลวรรณ บรรจงแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ 1. ศึกษาลักษณะตลาดเครื่องปรับอากาศ แนวโน้มการตลาด และลักษณะของตลาดผลิตภัณฑ์ เครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศ (Evaporative Condensing Unit) ที่บริษัทต้องการพัฒนา 2. ศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในสองรูปแบบ คือ แบบติดตั้งเพิ่มเติม (Retrofitting) และแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้จัดการดูแลงานโครงการภาคใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งซ่อมบำรุงระบบเครื่องปรับอากาศ 10 คน, บุคคลทั่วไป 10 คน และเจ้าของสถานประกอบการ 4 คน ร่วมกับการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 2 ชุด ชุดแรกสำหรับผู้จัดการดูแลงานโครงการภาคใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งซ่อมบำรุงระบบเครื่องปรับอากาศ 10 คน ชุดที่ 2 สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ที่เคยซื้อ หรือกำลังตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ 400 คน โดยใช้วิธีแจกแบบสอบถามออนไลน์ในการเก็บข้อมูล ซึ่งใช้สถิติพรรณนา และสถิติอนุมาน ในการวิเคราะห์รายงานผล ผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหย เพียงร้อยละ 0.8 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันจากหลายยี่ห้อ จากผู้จัดจำหน่ายหลายแห่งก่อนการตัดสินใจซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่สนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่แบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) และแบบติดตั้งเพิ่มเติม (Retrofitting) ช่วง 6-10 ปี ข้างหน้าโดยผู้บริโภคจะยอมจ่ายเพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 25,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ในช่วงราคา 30,252-31,421 บาท สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 36,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ในช่วงราคา 47,369-52,020 บาท สำหรับผู้บริโภคกลุ่มเจ้าของกิจการจะยอมจ่ายเพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 25,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ไม่เกิน 37,828 บาท สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 36,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ไม่เกิน 66,587.81 …


การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับสำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป, พีรวัส รัตนโชติ Jan 2021

การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับสำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป, พีรวัส รัตนโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางการเลือกใช้และพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับ (Gripper) สำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปให้เหมาะสมกับรูปร่าง ขนาด และคุณสมบัติทางกลของยางแปรรูป ซึ่งอุปกรณ์หยิบจับนี้ถูกนำมาใช้เพื่อนำผลิตภัณฑ์ยางที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยแม่พิมพ์โดยการให้ความร้อนออกจากแม่พิมพ์ออกจากแม่พิมพ์โลหะ ซึ่งจำเป็นที่ต้องทราบถึงแรงที่ใช้นำชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์โดยแรงนี้ถูกเรียกว่า Demolding force และโดยปกติแรงนี้จะประกอบไปแรงเสียดทาน (Friction Force) และแรงยึดติด (Adhesion force) ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Demolding force ได้แก่ รูปทรง พื้นที่สัมผัส ความแข็งของยาง และความหยาบผิวของแม่พิมพ์ โดยได้มีการออกแบบการทดลองโดยใช้ Full factorial design และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple regression analysis) เพื่อใช้ในการพยากรณ์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาซอฟท์แวร์มาเพื่อแนะนำการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับ และสุดท้ายได้มีการพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับตัวต้นเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของซอฟท์แวร์นี้


การวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการเกิดคราบบนแม่พิมพ์ระหว่างวัลคาไนเซชันยางด้วยการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียล, สิรีธร อุตมโชติ Jan 2021

การวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการเกิดคราบบนแม่พิมพ์ระหว่างวัลคาไนเซชันยางด้วยการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียล, สิรีธร อุตมโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยางพบปัญหาจากการเกิดชิ้นงานที่มีจุดบกพร่อง เช่น พอง ฉีกขาด แผล และคราบ โดยชิ้นงานที่เป็นคราบ คือ ชิ้นงานที่ผิวที่ไม่เรียบและต้องหยุดการผลิตเพื่อนำแม่พิมพ์ไปทำความสะอาด ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น สาเหตุของการเกิดคราบถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียลเพื่อหาความสำคัญทางสถิติของแต่ละตัวแปร โดยตัวแปรที่ศึกษาได้แก่ เวลาที่ใช้ในการขึ้นรูป ปริมาณซิงค์ออกไซด์ ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนต และอัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออน จากผลการทดลองเชิงแฟกทอเรียล พบว่าเวลาที่ใช้ในการขึ้นรูปและอัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออน คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชิ้นงานเกิดคราบ เนื่องจากการใช้เวลาในการขึ้นรูปที่นานขึ้น ทำให้ยางเกิดระดับการวัลคาไนเซชันเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้แรงยึดติดระหว่างชิ้นงานกับแม่พิมพ์ลดลง ส่งผลให้ทำให้มีคราบที่เกิดขึ้นลดลง และเมื่ออัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออนที่ 1:100 พบว่ามีชิ้นงานที่เป็นคราบลดลง เนื่องจากน้ำยาถอดแบบทำให้ผิวของแม่พิมพ์มีความลื่น จึงทำให้ไม่มีสิ่งตกค้างหลงเหลืออยู่ที่สามารถนำไปสู่การเกิดคราบบนผิวของแม่พิมพ์ได้ โดยแนวโน้มของการเกิดคราบต่อการปรับเปลี่ยนเวลาในการขึ้นรูปและอัตราส่วนของน้ำยาถอดแบบได้มาจากการทดลองเชิงเดี่ยว พบว่าเมื่อเวลาการขึ้นรูปมากขึ้นจาก 350 ไปเป็น 450 วินาที และอัตราส่วนโดนน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออนจาก 1:450 ไปเป็น 1:250 ทำให้มีชิ้นงานที่เป็นคราบลดลง


ปัจจัยที่ส่งผลถึงการประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมพาวด์, สุทธิพัฒน์ กมลสุทธิไพจิตร Jan 2021

ปัจจัยที่ส่งผลถึงการประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมพาวด์, สุทธิพัฒน์ กมลสุทธิไพจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวัลคาไนซ์เซชั่นยางในอุตสาหกรรมต้องอาศัยอุณหภูมิและระยเวลาในการคงรูปชิ้นงานซึ่งระยะเวลาในการคงรูปชิ้นงานจะขึ้นกับค่าการนำความร้อนของยางคอมปาวด์ที่แต่ละสูตร โดยงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาหลักการและกระบวนการทดสอบค่าการนำความร้อน การประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมปาวด์และปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าการนำความร้อนในกระบวนการคงรูป โดยขั้นแรกได้ศึกษาการประมาณค่าการนำความร้อน พบว่า การประมาณค่านำความร้อนของแบบจำลองขนานเทียบกับค่าการนำความร้อนที่ได้จากการทดสอบ HFM จะมีค่าความคาดเคลื่อนเกิดขึ้นไม่เกิน 5 % สำหรับยางคอมปาวด์ที่วัลคาไนซ์เซชั่นอย่างสมบูรณ์ ขั้นที่สองเป็นศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าการนำความร้อน พบว่า สัดส่วนโดยปริมาตรของสารตัวเติมมีผลกระทบต่อค่าการนำความร้อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปรวมถึงปริมาณน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อค่าการนำความร้อนอย่างมาก ส่วนยางที่วัลคาไนซ์เซชั่นอย่างสมบูรณ์จะให้ค่าการนำความร้อนสูงกว่ายางคอมปาวด์และยางที่วัลคาไนซ์เซชั่นร้อยละ 50 จะมีฟองอากาศภายในยางส่งผลให้ค่าการนำความร้อนต่ำกว่ายางคอมปาวด์ ส่วนยางที่เกิด และขั้นที่สามออกแบบชุดทดสอบสำหรับหาค่าการนำความร้อน พบว่า ชุดต้นแบบใช้วิธีการหาค่าการนำความร้อนในสภาวะคงที่ซึ่งต้องควบคุมความสม่ำเสมอของความร้อนและป้องสูญเสียความร้อนของชุดต้นแบบ ดังนั้นชุดต้นแบบจะมีส่วนประกอบหลักเป็นฮีตเตอร์สำหรับเป็นแหล่งความร้อนโดยจะใช้น้ำหล่อเย็นสำหรับการควบคุมอุณหภูมิประกอบกับฉนวนกันความร้อนสำหรับป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยจะใช้การไหลของความร้อนในหนึ่งหน่วยพื้นที่เป็นตัวกำหนดค่าการนำความร้อน


การพัฒนาเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซตจากยางโบรโมบิวทิลและพอลิโพรพิลีนสำหรับจุกปิดหลอดเก็บเลือด, สุพรรณษา คุณขยัน Jan 2021

การพัฒนาเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซตจากยางโบรโมบิวทิลและพอลิโพรพิลีนสำหรับจุกปิดหลอดเก็บเลือด, สุพรรณษา คุณขยัน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาอัตราส่วนผสมยางโบรโมบิวทิล (BIIR) พอลิโพรพิลีน (PP) และเอทิลีนออกทีนโคพอลิเมอร์ (EOC) เพื่อปรับปรุงความแข็งให้เท่ากับความแข็งของจุกปิดหลอดเก็บเลือดทางการค้า จากผลการทดสอบสมบัติความแข็งพบว่าที่อัตราส่วนผสม B65P10E25 (BIIR 65 wt%, PP 10wt% และ EOC 25 wt%) มีค่าความแข็งเท่ากับ 43 Shore A ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าความแข็งของจุกปิดหลอดเก็บเลือด จึงได้เลือกอัตราส่วนนี้มาเตรียมเป็นเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซต (TPV) โดยผสมสารวัลคาไนซ์ไดคิวมิลเพอร์ออกไซด์ 1.5 wt% และสารโคเอเจนต์ไตรเมทิลออลโพรเพนไตรเมทาอะคริเลท 1 wt% ผลการทดสอบสมบัติเชิงกลต่าง ๆ พบว่า TPV ที่เตรียมได้มีสมบัติความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึง ระยะยืดสูงสุด ณ จุดขาด และความต้านทานต่อแรงฉีกขาดสูงขึ้น ในขณะที่เปอร์เซ็นต์การยุบตัวหลังได้รับแรงกดลดลงเป็น 21.83% เมื่อเทียบกับ B65P10E25 ที่ไม่มีสารวัลคาไนซ์ ผลจากภาพกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM Micrograph) พบว่าการเติม EOC ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยปรับปรุงความเข้ากันได้และการกระจายตัวของ BIIR และ PP นอกจากนี้เมื่อผสม EOC ในสัดส่วนที่มากกว่า 25% วัสดุจะแสดงสมบัติการคืนตัวหลังแทงเข็มที่ดี โดยสูตรที่ผ่านการทดสอบนี้ ได้แก่ B65P10E25, B65E35 (BIIR 65 wt% และ EOC 35 wt%) และ B65P10E25 TPV (TPV ที่เตรียมขึ้นจากอัตราส่วน B65P10E25) เป็นต้น นอกจากนี้ความสามารถในการซึมผ่านแก๊สออกซิเจนของ B65P10E25 TPV มีค่าเท่ากับ 151.81 cm3·mm/m2·day·0.1MPa ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาวัสดุที่จะนำมาใช้เป็นจุกปิดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการป้องกันการซึมผ่านของอากาศภายนอกได้ดี ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสามารถเตรียม TPV ที่มีสมบัติเชิงกลที่ดี มีอัตราการซึมผ่านแก๊สต่ำ และสามารถคืนตัวได้หลังจากดึงเข็มออก ซึ่งสมบัติเหล่านี้ผ่านเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาสำหรับนำไปประยุกต์ใช้เป็นจุกปิดในหลอดเก็บเลือด นอกจากนี้ยังสามารถนำมาผ่านกระบวนการขึ้นรูปซ้ำใหม่ได้


ผลของการคัดเลือกสนิปตัวแทนต่อการวิเคราะห์การได้มากขึ้นจากเซตของยีนในบาทวิถีการให้สัญญาณจากฐานข้อมูล Kegg ในการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม, เจษฎา วีรเดชกำพล Jan 2021

ผลของการคัดเลือกสนิปตัวแทนต่อการวิเคราะห์การได้มากขึ้นจากเซตของยีนในบาทวิถีการให้สัญญาณจากฐานข้อมูล Kegg ในการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม, เจษฎา วีรเดชกำพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการเปรียบเทียบระหว่างการวิเคราะห์บาทวิถีโดยใช้ข้อมูลสนิปทั้งหมดและข้อมูลสนิปตัวแทนจากการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม ชุดการวัดเปรียบเทียบสมรรถนะได้สร้างจากเจ็ดเซตข้อมูลกลุ่มกรณี-กลุ่มควบคุมจากการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนมของเจ็ดโรคซับซ้อนโดย Wellcome Trust Case Control Consortium เจ็ดโรคซับซ้อนที่สนใจ ได้แก่ โรคอารมณ์สองขั้ว โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี โรคโครห์น ความดันเลือดสูง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 สนิปตัวแทนได้รับการคัดเลือกจากสนิปในตัวอย่างกลุ่มควบคุมโดยใช้ Tagger จากนั้นหนึ่งสนิปจะได้รับการคัดเลือกสำหรับใช้เป็นตัวแทนยีนโดยการหาค่าสูงสุดของค่าสถิติทดสอบแนวโน้มเอียงคอคราน-อาร์มิเทจเป็นเงื่อนไขการคัดเลือก ถึงแม้ว่ามีการคำนวณค่าสถิติทดสอบสำหรับแต่ละสนิป ค่าสถิติทดสอบสำหรับสนิปตัวแทนจะใช้เป็นค่าสถิติทดสอบสำหรับสนิปที่มีตัวแทนด้วย ส่งผลให้ข้อมูลสนิปที่มีตัวแทนไม่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์บาทวิถี การวิเคราะห์บาทวิถีกระทำโดยใช้ GSEA-SNP ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาต่อจากเทคนิคการวิเคราะห์การได้มากขึ้นจากเซตของยีนหรือ GSEA และสามารถระบุว่า เซตของยีนในบาทวิถีสัมพันธ์กับโรคซับซ้อนหรือไม่ การวิเคราะห์บาทวิถีสนใจเฉพาะบาทวิถีการให้สัญญาณจาก Kyoto Encyclopedia of Genes and Genomes (KEGG) ดังนั้นจุดประสงค์ของการวัดเปรียบเทียบสมรรถนะคือการเปรียบเทียบสมรรถนะการระบุบาทวิถีเป้าหมายที่สัมพันธ์กับแต่ละโรคซับซ้อนจากบาทวิถีการให้สัญญาณทั้งหมด โดยรวมการวิเคราะห์บาทวิถีโดยใช้ข้อมูลสนิปทั้งหมดให้ผลการวิเคราะห์ไม่แตกต่างจากการวิเคราะห์บาทวิถีโดยใช้ข้อมูลสนิปตัวแทน ภายใต้เงื่อนไขการมีอยู่ของข้อมูลความไม่สัมพันธ์การเชื่องโยง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของการวิเคราะห์บาทวิถีโดยใช้เซตข้อมูลกลุ่มกรณี-กลุ่มควบคุมซึ่งการเก็บข้อมูลจีโนไทป์จะอาศัยสนิปตัวแทนจากการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม


การคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายทอดการเรียนรู้เชิงลึก, ชัยสิทธิ์ พัฒนาสุวรรณ Jan 2021

การคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายทอดการเรียนรู้เชิงลึก, ชัยสิทธิ์ พัฒนาสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ควรมีการคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ที่ติดเชื้อแยกออกมารักษาเพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย โดยการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและผู้ป่วย การประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการจำแนกภาพทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างทวีคูณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คณะวิจัยได้เลือกใช้แบบจำลอง Convolution Neural Network (CNN) เนื่องจากเป็นหนึ่งในโมเดลที่มีชื่อเสียงและมีประสิทธิภาพสูงสำหรับงานในการแยกประเภทรูปภาพานวิจัยนี้นำเสนอโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อจำแนกภาพทรวงอกออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาพอกซเรย์ปอดปกติและปอดที่ติดเชื้อวัณโรค โดยมีแหล่งชุดข้อมูลภาพเอกซ์เรย์ทรวงอก 3 ชุด ได้แก่ Montgomery, Shenzen และกรองวัณโรค กรมควบคุมโรค นักวิจัยได้เปรียบเทียบสถาปัตยกรรมแบบจำลองการประมวลผลของ CNN ทั้ง 4 แบบเพื่อหาแบบจำลองที่ดีที่สุดที่เหมาะสำหรับการเอกซ์เรย์ทรวงอก โดยประเมินประสิทธิภาพแบบจำลองด้วยการใช้ Accuracy, Precision, Recall และ AUC ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแบบจำลอง DenseNet มีความแม่นยำมากกว่ารุ่นอื่นๆ และเราปรับแต่งแบบจำลองสำหรับเกณฑ์ที่ดีที่สุด และนำมาฝึกเพิ่มกับภาพเอกซเรย์ทรวงอกของกองวัณโรคของไทย เพื่อให้เหมาะกัยงานคัดกรองวัณโรคสำหรับคนไทย ความแม่นยำในการทำนายภาพเอกซเรย์ของ ปอดปกติและปอดที่ติดเชื้อวัณโรคในแบบจำลองที่ดีที่สุดคือ 91% และ AUC คือ 95% แบบจำลองที่ได้พัฒนาขึ้นมานี้จะช่วยผู้ให้บริการด้านสุขภาพในการคัดกรองวัณโรค สำหรับประชากรจำนวนมากในประเทศไทย


แบบจำลองตรวจจับความฟุ้งซ่านจากไฟฟ้าคลื่นสมอง, ชุติมณฑน์ รุ่งศิลป์ Jan 2021

แบบจำลองตรวจจับความฟุ้งซ่านจากไฟฟ้าคลื่นสมอง, ชุติมณฑน์ รุ่งศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องความฟุ้งซ่านได้รับความนิยมแพร่หลายเนื่องจากความฟุ้งซ่านเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางอารมณ์และสภาพจิตใจที่ไม่มีสุข การศึกษานี้จึงมีความสนใจที่จะพัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องสำหรับฝังในอุปกรณ์พกพาที่สามารถจัดหมวดหมู่ความฟุ้งซ่าน เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถติดตามความคิดของตนเองได้ ในการศึกษานี้ใช้เครื่องวัดสัญญาณไฟฟ้าคลื่นสมองชนิดจำนวนอิเล็กโทรดน้อย เพื่อบันทึกข้อมูลสภาวะสมองที่จะใช้ในการสร้างแบบจำลองทำนาย เพราะความสะดวกและเป็นความมิตรต่อผู้ใช้งาน โดยการศึกษาส่วนใหญ่ของการเรียนรู้ของเครื่องโดยใช้สัญญาณไฟฟ้าคลื่นสมองนั้นให้ผลลัพธ์ดีในระดับบุคคล แต่ในระดับกลุ่มมีเพียงบางการศึกษาที่ทำการพัฒนาแบบจำลอง ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์ของการวิจัยนี้คือแบบจำลองระดับกลุ่มที่มีความแม่นยำสูง ดังนั้นจึงเลือกใช้การทวนสอบชนิด Leave One Participant Out Cross Validation (LOPOCV) เพื่อประเมินความถูกต้องของแบบจำลอง ผลการศึกษาพบว่าการใช้เทคนิค baseline normalization ในขั้นตอนคัดเลือกคุณลักษณะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และแบบจำลองที่ใช้คือ ซพพอร์ตเวกเตอร์ แมชชีน ที่มีความแม่นยำของโมเดลที่ดีสุดเป็น 75.6 เปอร์เซนต์


การสร้างคำถามภาษาไทยโดยใช้ Mt5, ณัฎฐนิช วิวัฒน์บุตรสิริ Jan 2021

การสร้างคำถามภาษาไทยโดยใช้ Mt5, ณัฎฐนิช วิวัฒน์บุตรสิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการสร้างคำถามอยู่จำนวนมากในขอบเขตภาษาอังกฤษแต่แทบไม่มีงานวิจัยเรื่องการสร้างคำถามในภาษาไทย มีชุดข้อมูลคำถาม-คำตอบในขอบเขตของภาษาอังกฤษมากกว่า 1 ล้านคู่คำถาม-คำตอบซึ่งมีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับในขอบเขตของภาษาไทยที่มีอยู่เพียงประมาณ 12,000 คู่ งานวิจัยนี้ขอนำเสนอวิธีพัฒนาการสร้างคำถามอัตโนมัติจากบทความโดยไม่ต้องมีคำตอบในการสร้างคำถาม ภายใต้เงื่อนไขการฝึกสอนจากชุดข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยแบบจำลองการสร้างคำถามอัตโนมัติซึ่งฝึกสอนโดยแบบจำลองที่ผ่านการเรียนรู้มาก่อน MT5 จากชุดข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถสร้างคำถามจากชุดข้อมูลภาษาไทยที่เมื่อประเมินอัตโนมัติโดยวัดจากคะแนน BLEU-1 ได้คะแนน 56.19 เราจึงนำเสนอวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างคำถามจากการสังเคราะห์ข้อมูลและกลไกที่นำเสนอเพิ่มเติมโดยยังคงใช้เพียงแบบจำลองที่ผ่านการเรียนรู้มาก่อน MT5 ซึ่งแบบจำลองที่ผ่านการพัฒนาแล้วมีคะแนน BLEU-1 ถึง 59.03 มากกว่าแบบจำลองที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลการประเมินประสิทธิภาพของคำถามโดยมนุษย์ยังแสดงคะแนนด้านความไพเราะ 4.40 คะแนน, ด้านความเกี่ยวข้องกับบทความ 4.65 คะแนนและด้านการตอบคำถามได้จากบทความ 4.7 คะแนนจากทั้งหมด 5 คะแนน


การพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สะสมโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึก, ทศพล นวลช่วย Jan 2021

การพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สะสมโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึก, ทศพล นวลช่วย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่ธันวาคม 2019 โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคที่เริ่มแพร่กระจายจากคนสู่คน การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้อันเนื่องมาจากปัจจัยส่งเสริมในหลาย ๆ ด้าน ส่วนหนึ่งคือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ หลังจากการค้นพบการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนครั้งแรกไม่นาน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศในวันที่ 21 มกราคม 2020 ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลกต่อการแพร่กระจายที่รวดเร็วของโรคนี้ มีการสร้างโมเดลจำลองการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพื่อใช้ในการพยากรณ์และออกแบบนโยบายเพื่อการป้องกันต่อไป โดยเทคนิคที่ใช้ในการสร้างโมเดลมีหลายหลายแบบ ทั้งแบบคลาสสิคและการใช้เครือข่ายประสาทเทียม เพื่อความแม่นยำที่มากขึ้นงานวิจัยชิ้นนี้ได้สร้างโมเดลที่ใช้ข้อมูลทางสถิติในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางสถิติด้านจำนวนผู้ติดเชื้อ การทดลองถูกออกแบบมาเพื่อหาวิธีการสร้างโมเดลที่ดีที่สุดและเปรียบเทียบกับโมเดลที่ใช้ข้อมูลเพียงด้านเดียวทั้งในการพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและการพยากรณ์แนวโน้มการติดเชื้อ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการใช้ข้อมูลด้านเดียวสามารถพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในอนาคตได้แม่นยำที่สุดและการใช้ข้อมูลทั้ง 14 ชนิดสามารถพยากรณ์แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายวันได้แม่นยำที่สุด


การสังเคราะห์ข้อความเพื่อเพิ่มตัวอย่างการตรวจจับข้อความประทุษวาจาในข้อความภาษาไทย, ธโนภาส วรรณวโรทร Jan 2021

การสังเคราะห์ข้อความเพื่อเพิ่มตัวอย่างการตรวจจับข้อความประทุษวาจาในข้อความภาษาไทย, ธโนภาส วรรณวโรทร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาในการจำแนกข้อความประทุษวาจา ด้วยวิธีการสังเคราะห์ข้อความขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของการเกิดชุดข้อมูลไม่สมดุลที่ปรากฏในข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากทวิตเตอร์ ซึ่งหลังจากเก็บรวบรวม ทำความสะอาดข้อมูลและติดฉลากข้อมูลแล้ว ผู้วิจัยได้สร้างตัวอย่างเพิ่มเติม 3 วิธีคือ คือ 1. การสุ่มตัวอย่างส่วนน้อยเพิ่มด้วยการสังเคราะห์ (Synthetic Minority Over-sampling Technique: SMOTE) 2. เทคนิคการสร้างข้อความเพิ่ม (Text generation) 3.เทคนิคคำฝังตัว (Word Embedding) เป็นวิธีการในการใช้สังเคราะห์ตัวอย่างเพิ่มเติม ให้เกิดความสมดุลก่อนที่จะนำข้อมูลชุดใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่แบ่ง ตัวอย่างเป็น 3 รูปแบบในการจำแนกข้อความประทุษวาจา คือ 1. อัลกอริทึมนาอีฟเบย์ (Navie bays) 2. หน่วยความจำระยะสั้นแบบยาว (LSTM) 3. หน่วยความจำระยะสั้นแบบยาว ร่วมกับ โครงข่ายประสาทแบบคอนโวลูชัน (LSTM + CNN) เพื่อเป็นการจำแนกข้อความประทุษวาจา ในชุดข้อความที่เป็นข้อความธรรมดา โดยผลการทดลองการจำแนกข้อความมีความหมายเชิงประทุษวาจา ซึ่งในการทดลองแรกได้ลองใช้ข้อมูลที่ไม่สมดุล จากผลการทดลองทั้ง 3 รูปแบบที่ใช้ในการจำแนกซึ่งให้ความถูกต้องไม่สูงเท่าที่ควร จากนั้นจึงทำการแก้ไขปัญหาในชุดของข้อมูลทำให้ได้ความถูกต้องสูงขึ้นในทุกชุดของทุกโมเดล


ระบบแนะนำวารสารวิชาการให้กับผู้เขียนบทความ โดยใช้ข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากบทความ, นิธิรันดร์ นุ่มนนท์ Jan 2021

ระบบแนะนำวารสารวิชาการให้กับผู้เขียนบทความ โดยใช้ข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากบทความ, นิธิรันดร์ นุ่มนนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันมีวารสารทางด้านวิชาการอยู่เป็นจำนวนมากหลากหลายประเภท ส่งผลให้ผู้เขียนบทความ ต้องใช้เวลามากไปกับการค้นหาคัดเลือกวารสารทางด้านวิชาการที่เหมาะสมกับเนื้อหาของแต่ละบทความของผู้เขียน ก่อนจะส่งบทความให้ทางบรรณาธิการวารสารทำการพิจารณารับบทความในลำดับถัดไป เนื่องจากทางบรรณาธิการได้รับบทความจำนวนมาก จึงทำให้ใช้เวลามากในการพิจารณาบทความ งานวิจัยฉบับนี้จึงเล็งเห็นว่าการนำระบบแนะนำเข้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อแนะนำวารสารที่เหมาะสมกับบทความนั้นจะทำให้กระบวนการตัดสินใจในการส่งบทความเพื่อตีพิมพ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะใช้ข้อมูลจาก Thai Journals Online (ThaiJO) ซึ่งจะใช้ข้อมูลจากบทความภาษาไทยและบทความภาษาอังกฤษในการวิเคราะห์ในงานวิจัยนี้ โดยในงานวิจัยนี้รวมการศึกษาข้อมูลที่ใช้ การทำความสะอาดข้อมูล และการทำแบบจำลองสำหรับระบบแนะนำ โดยจะทำแบบจำลองจากการคำนวณหาความสำคัญจากข้อความด้วยเทคนิคความถี่ของคำ-ส่วนกลับความถี่ของเอกสาร (Term Frequency - Inverse Document Frequency: TF-IDF) และการวิเคราะห์ความคล้ายคลึงระหว่างบทความและวารสารโดยใช้ Cosine Similarity แล้วจึงจัดอันดับค่าคะแนนเพื่อแนะนำบทความที่เหมาะสม จากผลการทดลองในงานวิจัยนี้การตรวจสอบความสมเหตุสมผลแบบไขว้จำนวน 10 พับ (10-fold cross-validation) พบว่าเมื่อเรานำข้อมูลคำสำคัญและบทคัดย่อจากทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมารวมกัน ระบบสามารถแนะนำออกมาได้ค่าความแม่นยำที่วัดด้วย Hit Rate ได้ค่าสูงสุดที่ 0.87965 ซึ่งมากกว่าแบบจำลองที่ใช้ข้อมูลภาษาอังกฤษอย่างเดียว (0.84948) หรือ แบบจำลองที่ใช้ข้อมูลภาษาไทยอย่างเดียว (0.80383) และได้ค่าความแม่นยำที่สูงกว่าการตรวจสอบความสมเหตุสมผลแบบไขว้จำนวน 5 พับและการทดลองแบบจำลองในลักษณะความคล้ายระหว่างบทความ


ระบบวางบิลหลายแพลตฟอร์มอัจฉริยะสําหรับร้านซูชิสายพาน, พัชริยา ปิยะอารมณ์รัตน์ Jan 2021

ระบบวางบิลหลายแพลตฟอร์มอัจฉริยะสําหรับร้านซูชิสายพาน, พัชริยา ปิยะอารมณ์รัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ร้านซูชิสายพานเป็นที่นิยมทั่วโลก เนื่องจากราคาถูกกว่าร้านซูชิที่มีบริการ รวมทั้งรายการอาหารมีความหลากหลาย เพื่อประหยัดเวลาในการรับประทานอาหารธุรกิจซูชิสายพานจะแสดงราคาอาหารจากสีของจานรองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับราคา การคำนวณการชำระบิลสามารถทำได้โดยการนับจำนวนจานแต่ละประเภท การตรวจจับวัตถุพัฒนาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อตรวจจับเพื่อลดระยะเวลาในการนับจานเพื่อคำนวณการชำระบิลแบบเดิม ระบบวางบิลอัจฉริยะพัฒนาโดยใช้ฟลัตเตอร์ สามารถทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม โดยผู้ใช้สามารถถ่ายรูปกองจานซูชิเพื่อใช้เป็นภาพอินพุตเพื่อให้แบบจำลองที่พัฒนาด้วยโยโลวีสี่จำแนกจานสีต่างๆ ในวิทยานิพนธ์นี้พัฒนาในส่วนของการปรับปรุงภาพและแอปพลิเคชัน เนื่องจากระบบสามารถทำงานได้บนระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์ เทคนิคการถ่ายโอนสีด้วยช่วงสีเอลเอบี คอนทราสต์ลิมิตอเดปทีฟอีควอไลเซชัน และเอสอาร์-ซีเอ็นเอ็น ถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพ ผลการทดลองรายงานด้วยการตรวจจับวัตถุสำเร็จด้วยค่าความมั่นในการตรวจจับวัตถุที่สูงขึ้น


กรอบงานการตอบคำถามภาษาไทยโดยใช้แบบจำลองประเภททรานส์ฟอร์เมอร์พร้อมด้วยข้อมูลเสริม, ภูริ ฟักมงคล Jan 2021

กรอบงานการตอบคำถามภาษาไทยโดยใช้แบบจำลองประเภททรานส์ฟอร์เมอร์พร้อมด้วยข้อมูลเสริม, ภูริ ฟักมงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การตอบคำถาม (Question Answering) เป็นหนึ่งในงานด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ที่สามารถให้อุปกรณ์เข้าใจบทความและสามารถตอบคำถามที่ให้ได้ มีงานศึกษาทางด้านตอบคำถามในภาษาอังกฤษซึ่งมีจำนวนของชุดข้อมูลที่มีจำนวนมาก แต่ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีจำนวนของชุดข้อมูลที่น้อยกว่า ทำให้ประสิทธิภาพของแบบจำลองการตอบคำถามภาษาไทยมีคะแนนเอฟวันเพียง 70% ในขณะที่แบบจำลองการตอบคำถามภาษาอังกฤษ สามารถมีคะแนนเอฟวันสูงถึง 90% ดังนั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของแบบจำลองการตอบคำถามภาษาไทย โดยการสร้างชุดข้อมูลเพิ่มด้วยแบบจำลอง Multilingual Text-to-Text Transfer Transformer (mT5) และการประมวลผลข้อมูลที่เหมาะสมกับภาษาไทย วิธีนี้ สามารถสร้างชุดข้อมูลการตอบคำถามได้มากกว่าหนึ่งแสนชุดจากบทความ Wikipedia ภาษาไทย นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษารูปแบบวิธีการฝึกสอนในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ชุดข้อมูลที่สร้างขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแบบจำลองการตอบคำถามให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง ในงานวิจัยนี้ได้เสนอการวัดผลแบบจำลองการตอบคำถามภาษาไทยโดยใช้คะแนนเอฟวันระดับพยางค์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับภาษาไทยมากกว่าการวัดผลด้วยวิธีการดั้งเดิม โดยใช้คะแนนความถูกต้องและคะแนนเอฟวันระดับคำ ผู้วิจัยได้ทำการทดลองบนชุดข้อมูลการตอบคำถามภาษาไทยทั้ง 2 ชุด ได้แก่ Thai Wiki QA และ iApp Wiki QA พบว่าผลการทดลองโดยใช้วิธีการสร้างชุดข้อมูลของงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถให้ประสิทธิภาพของแบบจำลองสูงขึ้นบนชุดข้อมูลทั้ง 2 ชุด โดยใช้แบบจำลองประเภท ทรานส์ฟอร์เมอร์ ได้แก่ Roberta และ mT5


การผสานการวิเคราะห์เชิงเทคนิคและแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการซื้อขายน้ำมันดิบ, วิศรุต เลิศทวีเดช Jan 2021

การผสานการวิเคราะห์เชิงเทคนิคและแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการซื้อขายน้ำมันดิบ, วิศรุต เลิศทวีเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

น้ำมันดิบเป็นสินค้าอุปโภคที่มีความสำคัญในโลก เพราะน้ำมันดิบถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก ราคาของน้ำมันดิบนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น การขนส่ง, การผลิตพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังนั้นการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจึงมีความสำคัญสำหรับหลายภาคส่วน แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนสูง มีหลานงานวิจัยจำนวนมากที่เสนอการใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายราคาน้ำมัน โดยงานวิจัยนี้ได้นำเสนอเทคนิคการใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบผสานกันระหว่างโครงข่ายประสาทเทียมคอนโวลูชัน (Convolutional neural networks - CNN) และ หน่วยความจำระยะสั้นแบบยาว (Long short-term memory - LSTM) เพื่อใช้ทำนายแนวโน้มราคาน้ำมันและส่งสัญญาณการซื้อขายน้ำมันให้ดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับกลยุทธ์การซื้อขายน้ำมันแบบดั้งเดิม โดยหลักการของแบบจำลองคือ CNN สามารถตรวจจับรูปแบบในตำแหน่งต่าง ๆ ของข้อมูล Time Series ได้ ในขณะที่ LSTM สามารถใช้รักษาความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับข้อมูล Time Series ได้ การผสานคุณสมบัติเหล่านี้จึงเพิ่มความสามารถให้แบบจำลองได้ จากการศึกษานี้พบว่าการผสานกันของ CNN และ LSTM สามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรจากการซื้อขายน้ำมันดิบได้ในระยะยาว


ระบบแนะนําร้านอาหารในประเทศไทยแบบผสมด้วยการเรียนรู้เชิงลึก, อภิสรา แซ่ลิ้ม Jan 2021

ระบบแนะนําร้านอาหารในประเทศไทยแบบผสมด้วยการเรียนรู้เชิงลึก, อภิสรา แซ่ลิ้ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในยุคที่ข้อมูลมากมายมหาศาล ระบบผู้แนะนำมีบทบาทสำคัญอย่างมากตราบใดที่ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการใช้ข้อมูลและส่งข้อมูลมากขึ้น ธุรกิจจำนวนมากได้ใช้ระบบผู้แนะนำเพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ผู้ใช้ได้ทำการค้นหาสินค้าหรือรายการโดยอ้างอิงจากข้อมูลการบริโภคของผู้ใช้ที่ผ่านมา โครงข่ายประสาทเชิงลึกได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจในหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงระบบผู้แนะนำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวได้ละเว้นการใช้ข้อมูลเสริมในแบบจำลอง ดังนั้น ในงานวิจัยนี้จึงนำเสนอระบบการแนะนำเชิงลึกด้วยโครงข่ายประสาท ซึ่งประกอบด้วยการกรองการทำงานร่วมกันเชิงลึกเพื่อเรียนรู้ปัจจัยแฝงของการโต้ตอบของผู้ใช้และสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพของแบบจำลองด้วยข้อมูลคุณลักษณะของสินค้าโดยใช้เพอร์เซปตรอนแบบหลายชั้น และรวมทั้งสองแบบจำลองนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่า แบบจำลอง DNNRecs นอกเหนือจากโครงสร้างของแบบจำลองแล้ว ยังได้มีการนำเสนอวิธีการทำวิศวกรรมคุณลักษณะเพื่อสร้างคุณลักษณะใหม่จากข้อความวิจารณ์โดยใช้เทคนิค tf-idf งานวิจัยนี้ได้ใช้ชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยและแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแบบจำลองที่นำเสนอ


การประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องเพื่อตรวจจับงานเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการทดสอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, อรุณี ศรีดี Jan 2021

การประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องเพื่อตรวจจับงานเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการทดสอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, อรุณี ศรีดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้นำเสนอเทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่องในการตรวจจับงานเสียที่เกิดจากการอ่านสัญญาณเซอร์โวในกระบวนการทดสอบ ลักษณะของชุดข้อมูลมีจำนวนหลายมิติและมีความไม่สมดุลสูง มีการเลือกคุณลักษณะด้วย Filter Method และ Embedded Method เพื่อลดมิติของข้อมูล มีการประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่อง 2 อัลกอริทึม คือ SVM และ XGBoost ร่วมกับ 3 วิธีการในการจัดการข้อมูลที่ไม่สมดุล คือ SMOTE , Different Cost Learner และ SMOTE กับ Different Cost รวมเป็น 6 วิธีการและทำการเปรียบเทียบผลการทดลอง SVM ให้ประสิทธิภาพที่ดีในการวัดด้วย ROC AUC แต่ให้ประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำในการวัดด้วย PRC AUC ขณะที่ XGB ให้ประสิทธิภาพที่ดีทั้ง ROC AUC และ PRC AUC โดยวิธีการของ XGB SMOTE ให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดที่ ROC AUC 91%, PRC AUC 73% และ Accuracy, Precision, Recall และ F1-Score ที่ 97%


วัสดุเชิงประกอบพอลิแล็คติกแอซิด/แบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลต, ฐาปนี เพ็ชระ Jan 2021

วัสดุเชิงประกอบพอลิแล็คติกแอซิด/แบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลต, ฐาปนี เพ็ชระ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมและศึกษาสมบัติของวัสดุเชิงประกอบพอลิแล็คติกแอซิด/แบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลต โดยสังเคราะห์แบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลตด้วยกระบวนการพอลิเมอไรเซชันแบบอิมัลชันที่อัตราส่วนระหว่าง BC:MMA ที่ 1:1 และ 1:5 โดยมี K2S2O8 เป็นตัวริเริ่มปฏิกิริยา จาก FTIR สเปกตรัมของแบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลต (BC1:5) พบค่าการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของหมู่คาร์บอนิล (C=O) ขึ้นที่ตำแหน่ง 1725 cm-1 โดยคาดว่าเป็นส่วนของ PMMA ที่ถูกกราฟต์ลงบนแบคทีเรียเซลลูโลส ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์โครงสร้างทางเคมีด้วยเทคนิค NMR รวมไปถึงการวิเคราะห์พฤติกรรมทางความร้อนด้วยเทคนิค TGA และ DSC ยืนยันได้ว่ามีการกราฟต์ PMMA ลงบนแบคทีเรียเซลลูโลสได้สำเร็จ จากนั้นนำแผ่นแบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลตที่เตรียมได้ไปทำการลามิเนตกับแผ่นพอลิแล็คติกแอซิดด้วยเครื่องอัดแบบ แล้วนำแผ่นลามิเนตพอลิแล็คติกแอซิดที่ได้ไปศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา สมบัติทางความร้อน สมบัติเชิงกล และการย่อยสลายด้วยวิธีฝังกลบ จากการศึกษาพบว่าลักษณะสัณฐานวิทยาของแผ่นลามิเนตพอลิแล็คติกแอซิดกับแบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลต (BC1:5) มีการยึดเกาะที่ดีกว่าแบคทีเรียเซลลูโลสบริสุทธิ์และ BC1:1 จากการศึกษาสมบัติทางความร้อนพบว่าแผ่นลามิเนตพอลิแล็คติกแอซิดกับแบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลตสูตร BC1:5 มีเสถียรภาพทางความร้อนมากที่สุด และจากการศึกษาสมบัติเชิงกลของแผ่นลามิเนตพอลิแล็คติกแอซิดกับแบคทีเรียเซลลูโลส-กราฟต์-พอลิเมทิลเมทาคริเลตพบว่ามีค่ายังส์มอดุลัสเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพอลิแล็คติกแอซิดบริสุทธิ์ นอกจากนี้การทดสอบการย่อยสลายด้วยวิธีการฝังกลบ พบว่าแผ่นลามิเนตพอลิแล็คติกแอซิดที่เสริมแรงด้วยแบคทีเรียเซลลูโลสส่งผลต่อการย่อยสลายที่เร็วขึ้น


ผลของอนุภาคนาโนซิลเวอร์ต่อสมบัติการให้สี การต้านเชื้อแบคทีเรียและการป้องกันรังสียูวีบนผ้าไหม, พรชีวิน บรรจง Jan 2021

ผลของอนุภาคนาโนซิลเวอร์ต่อสมบัติการให้สี การต้านเชื้อแบคทีเรียและการป้องกันรังสียูวีบนผ้าไหม, พรชีวิน บรรจง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาผลของตัวแปรต่าง ๆในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีด้วยวิธีการแบบอินซิทู ต่อเฉดสี ความสม่ำเสมอของสี ความคงทนของสีต่อการซัก สมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรียและการป้องกันรังสียูวีบนผ้าไหมที่ทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สี นอกจากนี้ยังศึกษาผลของการใช้สารยึดติดชนิดอะคริลิกและผลของการย้อมทับด้วยสีแอซิดบนผ้าไหมที่ทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีต่อสมบัติต่าง ๆ ที่ศึกษาด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าสภาวะที่เหมาะสมที่ให้สมบัติต่าง ๆ ที่ศึกษาบนผ้าไหมที่ผ่านการให้สีดีที่สุดจากการสังเคราะห์อนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีด้วยวิธีการแบบอินซิทูบนผ้าไหมคือ สภาวะที่ใช้ความเข้มข้นของสารละลายซิลเวอร์ไนเตรต 2.0 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักผ้า อัตราส่วนระหว่างสารละลายซิลเวอร์ไนเตรตต่อสารละลายไตรโซเดียมซิเตรตไดไฮเดรตเท่ากับ 1:3 อุณหภูมิในการ ทรีต 90 องศาเซลเซียส ที่เวลาในการทรีต 90 หรือ 120 นาที ที่ค่าพีเอชเท่ากับ 4.0 จากผลการทดลองพบว่าผ้าไหมที่ได้จากการทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีเปลี่ยนจากเฉดสีขาวเป็นเฉดสีเทาอ่อนถึงเฉดสีน้ำตาลเหลืองอ่อนจนถึง สีน้ำตาลเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นซิลเวอร์ไนเตรตและอัตราส่วนระหว่างสารละลายซิลเวอร์ไนเตรตต่อสารละลายไตรโซเดียมซิเตรตไดไฮเดรตที่ใช้ ถ้าใช้ความเข้มข้นสูงและอัตราส่วนที่สูงจะได้ผ้าไหมที่มีเฉดสีน้ำตาลเข้มเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิและเวลาในการทรีตผ้าไหมก็ช่วยในการเพิ่มเฉดสีให้เข้มขึ้นด้วยเช่นกันและยังช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอของสีบน ผ้าไหมด้วย ผลของการซักล้าง 20 ครั้ง พบว่าผ้าไหมที่เกิดจากการให้สีด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์มีความคงทนของสีต่อการ ซักล้างที่ต่ำมาก ความสามารถในการป้องกันรังสียูวียังคงรักษาได้ในระดับดี และความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย S. aureus. ลดลงมาเหลือประมาณร้อยละ 50 ส่วนผลการใช้สารยึดติดชนิดอะคริลิกและการย้อมทับด้วยสีแอซิดบนผ้าไหมที่ทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีเพื่อช่วยในการปรับปรุงสมบัติที่ศึกษาให้ดีขึ้น สรุปได้ว่าการย้อมทับด้วยสีแอซิดช่วยปรับปรุงความคงทนของสีต่อการซักล้าง ความสามารถในการป้องกันกันรังสียูวี และสมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus. ได้ดีขึ้นมากกว่าการใช้สารยึดติดชนิดอะคริลิก แต่วิธีการย้อมทับด้วยสีแอซิดสีน้ำเงินส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเฉดสีของผ้าไหมที่ทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สีเปลี่ยนเป็นสีเขียวซึ่งเกิดจากการผสมของสี ส่วนการใช้สารยึดติดชนิดอะคริลิกไม่มีผลกระทบต่อเฉดสีบนผ้าไหมที่ทรีตด้วยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ให้สี


ผลผลิตขั้นปฐมภูมิสุทธิและการบริโภคซากใบไม้โดยกลุ่มหอยฝาเดียวในแปลงปลูกป่าชายเลนที่มีอายุแตกต่างกัน, ธนพล พงศ์สุวโรจน์ Jan 2021

ผลผลิตขั้นปฐมภูมิสุทธิและการบริโภคซากใบไม้โดยกลุ่มหอยฝาเดียวในแปลงปลูกป่าชายเลนที่มีอายุแตกต่างกัน, ธนพล พงศ์สุวโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ป่าชายเลนมีบทบาทในการสร้างผลผลิตขั้นปฐมภูมิสุทธิ (net primary productivity, NPP) ที่สูง ปัจจุบันมีการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง ถึงกระนั้นการประมาณ NPP ที่มีค่าผันแปรตามอายุของแปลงปลูกยังมีค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการศึกษาเชิงปริมาณด้านการกินซากใบไม้โดยหอยฝาเดียวยังมีอยู่น้อย การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการประมาณ NPP ควบคู่กับอัตราการกินซากใบไม้โดยหอยฝาเดียวแปลงปลูกป่าชายเลนที่มี Avicennia alba เป็นพืชเด่นจำนวน 4 แปลง ได้แก่ Y1, Y5, Y7, และ Y9 ปี ที่มีอายุ 14, 10, 8 และ 6 ปี ตามลำดับ (ในปี พ.ศ. 2562) บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู ผลการศึกษาพบว่าความหนาแน่นต้นไม้ลดลงมากยกเว้นแปลง Y1 แต่ผลรวมพื้นที่หน้าตัดต้นไม้และมวลชีวภาพเพิ่มขึ้นเมื่อแปลงปลูกมีอายุเพิ่มขึ้น NPP ผกผันกับอายุแปลงปลูก พบหอยฝาเดียวทั้งหมด 14 ชนิด โดยที่ความหนาแน่นหอยฝาเดียววงศ์ที่กินซากใบไม้ (Littorinidae, Iravadiiae และ Potamididae) มีค่ามากที่สุดในแปลง Y1 ถึงแม้ความหนาแน่นนี้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราการกินซากใบไม้โดยหอยฝาเดียว แต่ไม่พบความแตกต่างของอัตราการกินซากใบไม้ระหว่างแปลงทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่าโครงสร้างพืชพรรณที่แตกต่างกันจากอายุของแปลงปลูกป่าชายเลนส่งผลให้มวลชีวภาพ NPP และสังคมหอยฝาเดียวแตกต่างกันระหว่างแปลง ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้วางแผนปลูกฟื้นฟูและจัดการแปลงปลูกป่าชายเลนบนหาดเลนงอกใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางนิเวศวิทยาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบเวลาที่จำกัดของการฟื้นฟูป่าชายเลน


ซอฟต์แวร์เฟรมเวิร์กสำหรับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการฝึกฝนแบบปรับเหมาะได้ พร้อมด้วยส่วนประเมินตัวสร้างคำถาม, ปณิดา วิริยะชัยพร Jan 2021

ซอฟต์แวร์เฟรมเวิร์กสำหรับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการฝึกฝนแบบปรับเหมาะได้ พร้อมด้วยส่วนประเมินตัวสร้างคำถาม, ปณิดา วิริยะชัยพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบสำหรับการฝึกฝนแบบปรับเหมาะ (adaptive practicing) สามารถส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบนี้อยู่บ้าง แต่การสร้างระบบนี้ยังคงมีความซับซ้อนแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยเหลือก็ตาม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอซอฟต์แวร์เฟรมเวิร์กสำหรับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการฝึกฝนแบบปรับเหมาะได้ พร้อมด้วยส่วนประเมินตัวสร้างคำถาม โดยใช้ระบบการจัดอันดับของ Elo โดยเฟรมเวิร์กนี้สามารถนำตัวสร้างคำถามมาสร้างเป็นระบบสำหรับการฝึกฝนแบบปรับเหมาะได้อย่างง่ายดายในรูปแบบบริการเอพีไอ (Application Programming Interface; API) บนเว็บไซต์ ซึ่งในเฟรมเวิร์กนี้ประกอบไปด้วย 4 โมเดล ได้แก่ ตัวชี้วัดการเรียนรู้ ผู้เรียน โจทย์คำถาม และบทคำสั่ง นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย 7 มอดูล ได้แก่ ส่วนเลือกโจทย์คำถาม ส่วนสร้างโจทย์คำถาม ส่วนคำนวณความแตกต่างระหว่างคำถาม ส่วนแสดงผลโจทย์คำถาม ส่วนตรวจสอบคำตอบ ส่วนแสดงผลย้อนกลับ (feedback) และส่วนปรับโจทย์คำถามให้เป็นปัจจุบัน การแยกส่วนสร้างโจทย์คำถามออกมานั้น ส่งผลให้เฟรมเวิร์กรองรับคำถามสำหรับหลายหัวข้อ อาทิ คำถามวิชาภาษาไทย คำถามวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ส่วนสร้างโจทย์คำถามยังทำให้ระบบที่สร้างภายใต้เฟรมเวิร์กนี้ มีทรัพยากรโจทย์คำถามที่ไม่จำกัด และขยายฐานข้อมูลโจทย์คำถามได้อย่างอัตโนมัติ อีกทั้งเฟรมเวิร์กนี้ยังรองรับคำถามได้หลากหลายประเภทที่สามารถประเมินผลเป็นถูกและผิด อาทิ คำถามปรนัย คำถามเลือกจับคู่ เนื่องจากการออกแบบให้ส่วนแสดงผลโจทย์คำถามเป็นส่วนที่สามารถปรับแต่งได้ เฟรมเวิร์กนี้รองรับการออกรายงานทั้งหมด 5 ประเภทเพื่อใช้วิเคราะห์ทั้งในฝั่งผู้เรียนและฝั่งของระบบ ระบบที่สร้างภายใต้เฟรมเวิร์กนี้ถูกออกแบบให้เป็นเอพีไอจึงทำให้สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมประยุกต์อื่น ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ระบบที่สร้างภายใต้เฟรมเวิร์กนี้สามารถรองรับการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์สำหรับกลุ่มผู้เรียนทุกขนาด และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยความเร็วตามความสามารถของตนเอง และผู้สอนไม่จำเป็นต้องสร้างคำถามสำหรับป้อนเข้าในระบบ


การตัดไทม์เพทริเน็ตโดยใช้คุณสมบัติตรรกะเชิงเวลาแบบเมตริก, ปฏิมากร จริยฐิติพงศ์ Jan 2021

การตัดไทม์เพทริเน็ตโดยใช้คุณสมบัติตรรกะเชิงเวลาแบบเมตริก, ปฏิมากร จริยฐิติพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไทม์เพทริเน็ตเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างแบบจำลองและทวนสอบระบบเวลาจริง ปริภูมิสถานะของไทม์เพทริเน็ตนั้นมีอัตราการเติบโตแบบเอกโพเนนเชียลเนื่องจากความซับซ้อนของระบบเวลาจริง ซึ่งปริภูมิสถานะที่มีขนาดใหญ่มากอาจทำให้เกิดการระเบิดของปริภูมิสถานะในการทำโมเดลเช็กกิง งานวิจัยนี้จึงนำเสนออัลกอริทึมการตัดไทม์เพทริเน็ตโดยใช้สูตรตรรกะเชิงเวลาแบบเมตริกเพื่อลดขนาดไทม์เพทริเน็ตโดยการกำจัดเพลสและทรานสิชันที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาร์คกิงเริ่มต้นและคุณสมบัติของสูตรตรรกะเชิงเวลาแบบเมตริก นอกจากนี้อัลกอริทึมที่นำเสนอยังนำเสนอกราฟพึ่งพาซึ่งแสดงเป็นกราฟพึ่งพาที่แสดงช่วงเวลาโกลบอลของการยิงของทรานสิชันเพื่อแสดงพฤติกรรมการทำงานของไทม์เพทริเน็ต โดยไทม์เพทริเน็ตผลลัพธ์นั้นยังคงเส้นทางการทำงานที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการทำโมเดลเช็กกิง ดังนั้น โมเดลเช็กกิงสามารถสร้างปริภูมิสถานะที่เพียงพอต่อการทวนสอบเมื่อเทียบกับไทม์เพทริเน็ตที่ไม่ได้ตัด


แบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการจำแนกประเภทภาพแบบละเอียด, สรนันท์ พยัตศุภร Jan 2021

แบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับการจำแนกประเภทภาพแบบละเอียด, สรนันท์ พยัตศุภร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การจำแนกประเภทภาพแบบละเอียดเป็นปัญหาการจำแนกประเภทภาพที่อยู่ในหมวดหมู่หลักเดียวกัน เช่น ชนิดของนก, รุ่นของรถยนต์และรุ่นของเครื่องบิน โดยปัญหาหลักของการจำแนกประเภทภาพแบบละเอียดคือมีความผันผวนภายในประเภทและความเหมือนระหว่างประเภทสูง ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การระบุตำแหน่งของวัตถุหรือชิ้นส่วนสำคัญของภาพด้วยการออกแบบโครงสร้างแบบจำลองที่มีความซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของความแม่นยำในการจำแนกประเภทซึ่งประกอบด้วยแบบจำลองสองระดับที่ทำหน้าที่แยกกันในการระบุตำแหน่งและจำแนกประเภท โดยการระบุตำแหน่งวัตถุทำหน้าที่หาพื้นที่ในรูปภาพที่มีวัตถุอยู่ด้วยสมมติฐานพื้นที่ต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนการรวมของผังฟีเจอร์ ซึ่งสกัดมาจากหลังจากคอนโวลูชันนิวรอลเน็ตเวิร์ค หลังจากนั้นในขั้นตอนการจำแนกประเภท ได้ปรับปรุงฟังก์ชันสูญเสียค่าสูงสุดอย่างอ่อนด้วยการเพิ่มมาจินเชิงมุมปรับค่าได้ในค่ามุมระหว่างฟีเจอร์เวกเตอร์และเวกเตอร์ศูนย์กลางประจำแต่ละประเภทในระหว่างการฝึกสอนแบบจำลอง วิธีการในงานวิจัยนี้สามารถฝึกสอนแบบจำลองได้แบบเอ็นทูเอ็นโดยไม่ต้องใช้กล่องขอบเขตในการฝึกสอนเพิ่มเติม ทั้งนี้ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เทคนิคที่งานวิจัยนี้นำมาใช้มีประสิทธฺภาพที่ดีบนชุดข้อมูลสามชุดที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในการทดลองเกี่ยวกับการจำประแนกประเภทภาพแบบละเอียด


การพยากรณ์ปริมาณและความเข้มข้นสารฟลอกคูแลต์ในกระบวนการพักใสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อย, สิงหดิศร์ จันทรักษ์ Jan 2021

การพยากรณ์ปริมาณและความเข้มข้นสารฟลอกคูแลต์ในกระบวนการพักใสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อย, สิงหดิศร์ จันทรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กระบวนการพักใสเป็นกระบวนการที่สำคัญในกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งกระบวนการมีการทำงานเพื่อแยกระหว่างตะกอนกับน้ำอ้อยออกจากกันโดยใช้สารฟลอกคูแลนต์ โดยในการใส่ปริมาณและความเข้มข้นสารฟลอกคูแลนต์ลงไปในน้ำอ้อยทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเร็วการตกตะกอนและค่าความขุ่นของน้ำอ้อย วิทยานิพนธ์เล่มนี้เสนอวิธีการพยากรณ์ปริมาณและความเข้มข้นสารฟลอกคูแลต์ในกระบวนการพักใสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบวนซ้ำชนิดพิเศษ Long Short-Term Memory โดยข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลขาเข้าสำหรับการสร้างโมเดลได้แก่ ปริมาณอ้อยสด, ปริมาณอ้อยเผา, ความขุ่นของน้ำอ้อย และปริมาณน้ำฝน และข้อมูลขาออกได้แก่ ปริมาณและความเข้มข้นของสารฟลอกคูแลนต์ ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้นำมาจากโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโมเดลที่ได้นำเสนอ LSTM โดยการเปรียบเทียบกับโมเดลอื่นๆ ได้แก่ Autoregressive Integrated Moving Average (ARIMA), Recurrent Neural Network (RNN) และ Gated Recurrent Unit (GRU) โดยใช้ตัวแปร RMSE และ MAPE เป็นตัววัดประสิทธิภาพของโมเดล พบว่าโมเดลที่นำเสนอมีประสิทธิภาพที่สุดในการพยากรณ์ปริมาณและความเข้มข้นของสารฟลอกคูแลนต์


โมเดลควอนตัมโครงข่ายประสาทเทียมสำหรับปัญหาการถดถอย, สุรพันธุ์ เหล่าคนดี Jan 2021

โมเดลควอนตัมโครงข่ายประสาทเทียมสำหรับปัญหาการถดถอย, สุรพันธุ์ เหล่าคนดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เหนือกว่าคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิคในการแก้ไขปัญหาบางประเภทด้วยการใช้กฎของกลศาสตร์ควอนตัมและด้วยการรวมเอาความรู้ทางด้านการเรียนรู้ของเครื่องและควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เรียกว่าการเรียนรู้ของเครื่องแบบควอนตัม ควอนตัมโครงข่ายประสาทเทียมเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้ความรู้ของการเรียนรู้ของเครื่องและคอมพิวเตอร์ควอนตัมด้วยการดัดแปลงความคิดจากการทำโครงข่ายประสาทเทียมแบบคลาสสิคและการใช้ควอนตัมเกทแบบปรับค่าได้มาเป็นค่าน้ำหนักของโครงข่ายประสาทเทียม ในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอการประยุกต์ใช้ควอนตัมโครงข่ายประสาทเทียมด้วยข้อมูลจากโลกจริงเพื่อแก้ไขปัญหาการถดถอยเพื่อทำนายจำนวนโทเคนที่ใช้ในระบบประมูลรายวิชา โดยการทดลองจะถูกทำบนเครื่องจำลองคอมพิวเตอร์ควอนตัมของไอบีเอ็ม(Qiskit) ผลลัพธ์ของการทดลองได้แสดงให้เห็นว่าควอนตัมโครงข่ายประสาทเทียมสามารถบรรลุผลที่ดีในการทำนายเมื่อเปรียบเทียบกับโครงข่ายประสาทเทียมแบบคลาสสิคโดยโมเดลที่ดีที่สุดมีค่ารากที่สองของค่าเฉลี่ยความผิดพลาดกำลังสอง(RMSE) ที่ 6.38% วิธีการนี้ทำให้เกิดการเปิดกว้างสำหรับโอกาสที่จะสำรวจผลประโยชน์ของการเรียนรู้ของเครื่องแบบควอนตัมในการทำวิจัยในอนาคต


การจำแนกปัญหาของเทคโนโลยีฐานข้อมูลในชุมชนถามตอบออนไลน์, ณัฐนัย สุวรรณชูชิต Jan 2021

การจำแนกปัญหาของเทคโนโลยีฐานข้อมูลในชุมชนถามตอบออนไลน์, ณัฐนัย สุวรรณชูชิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอแนวทางการสร้างเครื่องมือการทำงานอัตโนมัติเพื่อจำแนกคำถามบนเว็บไซต์สแต็กโอเวอร์โฟลว์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชนิดของผลิตภัณฑ์ฐานข้อมูล ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีค่าสำหรับเจ้าของผลิตภัณฑ์ฐานข้อมูลในการนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หมวดหมู่ของคำถามกำหนดไว้เป็นสองระดับได้แก่ ระดับปัญหา และ ปัญหาย่อย โดยที่ระดับปัญหาประกอบด้วย การพัฒนา การติดตั้ง และ การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในขณะที่ ปัญหาย่อย ประกอบด้วย การออกแบบ ข้อจำกัด และการอภิปรายปัญหา ด้วยการรวมทั้งสองระดับเข้าด้วยกัน คำถามจะถูกจำแนกออกเป็นเก้าหมวดของปัญหา-ปัญหาย่อย การประมวลผลภาษาธรรมชาติและการจำแนกข้อความถูกนำมาใช้ โดยใช้อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องที่หลากหลาย โมเดลการจำแนกประเภทที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดจะถูกนำมาใช้ในเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อจำแนกแต่ละคำถามโดยใช้แท็กปัญหา-ปัญหาย่อย นอกจากนี้คำถามที่ถูกจำแนกออกตามหมวดแล้ว สามารถนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยใช้อัลกอริทึมการสร้างแบบจำลองหัวข้อ เพื่อให้ทราบว่าคำถามในแต่ละหมวดนั้นกล่าวถึงหัวข้อใดบ้าง ซึ่งจะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ฐานข้อมูลในการทำความเข้าใจถึงปัญหาของผลิตภัณฑ์เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงต่อไป


การสร้างความต้องการเชิงฟังก์ชันและที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชันของซอฟต์แวร์จากการจำแนกบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานโมไบล์แอปพลิเคชัน, ธนัชชา พันธ์ธรรม Jan 2021

การสร้างความต้องการเชิงฟังก์ชันและที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชันของซอฟต์แวร์จากการจำแนกบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานโมไบล์แอปพลิเคชัน, ธนัชชา พันธ์ธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทวิจารณ์ของผู้ใช้งานเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับนักพัฒนาโมไบล์แอปพลิเคชัน เพื่อใช้ในการปรับปรุงและวิวัฒนาการแอปพลิเคชันหลังจากที่ได้ปล่อยให้ใช้งานไปแล้ว เนื่องจากข้อมูลบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานมีจำนวนมากจึงเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับทีมนักพัฒนาโมไบล์แอปพลิเคชันที่จะระบุว่าบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานใดประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและวิวัฒนาการโมไบล์แอปพลิเคชันเพิ่มเติม วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอความพยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมนักพัฒนาในขั้นต้นด้วยการสร้างความต้องการเชิงฟังก์ชันและที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชันโดยอัตโนมัติจากข้อมูลบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานโมไบล์แอปพลิเคชันบนแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ แนวทางที่นำเสนอประกอบด้วยสามขั้นตอน เริ่มจากการใช้อัลกอริทึมการจำแนกข้อความเพื่อจำแนกบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานออกเป็นบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานเชิงฟังก์ชันหรือที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชัน ขั้นตอนที่สองบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำกันจะถูกระบุโดยใช้เทคนิคการจัดกลุ่มและการวิเคราะห์ความคล้ายคลึงกันของข้อความ ในขั้นตอนสุดท้ายข้อมูลที่มีความสำคัญจะถูกสกัดจากบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานเพื่อใช้สร้างความต้องการเชิงฟังก์ชันและที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชันโดยใช้แบบรูปข้อมูลบทวิจารณ์ของผู้ใช้งานและแม่แบบความต้องการ ในส่วนของการประเมินผล ความต้องการที่ถูกสร้างขึ้นจากแนวทางที่นำเสนอได้รับคะแนนต่ำถึงสูงแตกต่างกันไปในแง่ของความสามารถในการอ่านได้ง่าย ความไม่กำกวม ความสมบูรณ์ และความสมเหตุสมผล ซึ่งแนวทางที่วิทยานิพนธ์นำเสนอนี้สามารถช่วยทีมนักพัฒนาระบุถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงฟังก์ชันและที่ไม่ใช่เชิงฟังก์ชันจากเสียงสะท้อนโดยตรงของผู้ใช้งานซึ่งควรได้รับการพิจารณาเพื่อใช้ในการปรับปรุงและวิวัฒนาการโมไบล์แอปพลิเคชันต่อไป