Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 601 - 630 of 2268

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

การปรับปรุงสมบัติของพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์ด้วยกระบวนการทางรังสี สำหรับการประยุกต์ด้านสิ่งทอป้องกัน, คอลิด ถิ่นเกาะแก้ว Jan 2020

การปรับปรุงสมบัติของพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์ด้วยกระบวนการทางรังสี สำหรับการประยุกต์ด้านสิ่งทอป้องกัน, คอลิด ถิ่นเกาะแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ปรับปรุงสมบัติพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์สำหรับประยุกต์ด้านสิ่งทอป้องกัน ด้วยการนำไตรฟลูออโรเอทิลเมทาคริเลตและอนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์มากราฟต์ลงบนพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์ด้วยการฉายรังสีแกมมาแทนการใช้กระบวนการทางเคมีแบบดั้งเดิม เพื่อให้ผ้ามีสมบัติสะท้อนน้ำ ต่อต้านรังสียูวี และยับยั้งแบคทีเรีย การวิจัยขั้นแรกเป็นการศึกษาผลของความเข้มข้นของมอนอเมอร์ ชนิดของตัวทำละลาย บรรยากาศที่ใช้ และปริมาณรังสีต่อระดับขั้นของการกราฟต์ไตรฟลูออโรเอทิลเมทาคริเลต จากการวิเคราะห์คุณลักษณะเบื้องต้นพบว่าสัณฐานวิทยาและโครงสร้างทางเคมีของพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากปฏิกิริยาการกราฟต์ ส่วนการทดสอบความสามารถในการป้องกันน้ำพบว่ามุมสัมผัสของน้ำ มีค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 125 องศา ในขั้นต่อมาเป็นการกราฟต์อนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ร่วมกับไตรฟลูออโรเอทิลเมทาคริเลต โดยเริ่มจากการดัดแปรพื้นผิวของอนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ด้วยมาเลอิกแอนไฮไดรด์ก่อนนำไปกราฟต์ลงบนพอลิโพรพิลีนสปันบอนด์ จากการศึกษาพบว่า สามารถดัดแปรอนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์เพื่อให้พื้นผิวสามารถเกิดอันตรกิริยาได้ดีขึ้น พอลิโพรพิลีนสปันบอนด์ที่ผ่านการกราฟต์แสดงสมบัติในการสะท้อนน้ำด้วยมุมสัมผัสของน้ำประมาณ 120 องศา สามารถต่อต้านรังสียูวีได้ดีโดยมีค่า UPF เท่ากับ 122-124 อีกทั้งยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ดี สังเกตจากบริเวณโซนใส (inhibition zone) ที่ชัดเจน จากผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีการพัฒนาสมบัติของผ้าเพื่อใช้ในงานด้านสิ่งทอป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni/Al2o3, พัชรพร วิบูลย์วิมลรัตน์ Jan 2020

การผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni/Al2o3, พัชรพร วิบูลย์วิมลรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา การทดลองนี้ถูกดำเนินการในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่งชนิดสองขั้น ในส่วนแรกศึกษาผลของตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินาที่ส่งผลต่อไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำในการผลิตไฮโดรเจน โดยเทียบกรณีไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา จากผลการทดลองพบว่า การเติมตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา ส่งผลทำให้องค์ประกอบและผลได้ของไฮโดรเจนมีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน และให้องค์ประกอบและผลได้ของมีเทนและคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ลดลง ส่วนที่สองศึกษาผลของอุณหภูมิรีฟอร์มิงที่ 700, 750 และ 800 องศาเซลเซียส โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา ภายใต้สภาวะการดำเนินงานเดียวกัน สำหรับกรณีที่ป้อนกลีเซอรอลหรือพลาสติกเดี่ยว พบว่าผลได้ของแก๊สผลิตภัณฑ์รวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิรีฟอร์มิงที่สูงขึ้น และที่อุณหภูมิรีฟอร์มิง 750 องศาเซลเซียส มีผลได้ของไฮโดรเจนสูงสุดสำหรับกรณีที่ป้อนกลีเซอรอลร่วมกับชนิดของพลาสติกที่แตกต่างกัน จึงถือเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอล และส่วนสุดท้ายศึกษาผลของการใช้พลาสติกที่แตกต่างกันสามชนิด ได้แก่ พอลิเอทิลีน, พอลิโพรพิลีนและพอลิสไตรีน จากผลการทดลองที่ได้พบว่าการผลิตไฮโดรเจนจากกลีเซอรอลร่วมกับพอลิเอทิลีนและกลีเซอรอลร่วมกับพอลิสไตรีนมีแนวโน้มที่สูงใกล้เคียงกัน


การพัฒนาแผ่นกั้นในแบตเตอรี่ซิงก์ไอออนจากแผ่นเส้นใยอิเล็กโทรสปันพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพ, สุชาวดี สายแสงธรรม Jan 2020

การพัฒนาแผ่นกั้นในแบตเตอรี่ซิงก์ไอออนจากแผ่นเส้นใยอิเล็กโทรสปันพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพ, สุชาวดี สายแสงธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมแผ่นเส้นใยอิเล็กโทรสปันของพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพสำหรับใช้เป็นแผ่นกั้นในแบตเตอรี่ซิงก์ไอออน โดยเตรียมพอลิยูริเทนชีวภาพจากไดไอโซไซยาเนตเชิงชีวภาพ พอลิคาโพรแล็กโทนไดออล และเอทิลีนไกลคอลพบว่าที่อัตราส่วน 2.1:1:1 พอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพที่ได้มีน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยสูงสุด 28,000 กรัมต่อโมล จากนั้นขึ้นรูปเป็นแผ่นเส้นใยอิเล็กโทรสปันของพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพที่อัตราส่วน 75:25 ด้วยเทคนิคอิเล็กโทรสปินนิง ร่วมกับการใช้วิธีการออกแบบการทดลองโดยวิธีการทากูชิ ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย 4 ระดับ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสัณฐานวิทยาและสมบัติของเส้นใยพอลิเมอร์ จากนั้นใช้วิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบเกรย์เพื่อศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการเป็นแผ่นกั้นของแผ่นเส้นใยอิเล็กโทรสปันพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพ โดยสมบัติที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใย ขนาดรูพรุน ความเป็นรูพรุน ค่าการดูดซับอิเล็กโทรไลต์ ความทนแรงดึง ค่าการนำไอออน ค่ามุมสัมผัสของอิเล็กโทรไลต์และการหดตัวของแผ่นเส้นใย พบว่าการใช้ความเข้มข้นของพอลิอะคริโลไนไตรล์กับพอลิยูรีเทนเชิงชีวภาพร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก ความต่างศักย์ไฟฟ้า 25 กิโลโวลต์และระยะห่างระหว่างปลายเข็มฉีดยากับแผ่นเก็บตัวอย่าง 16 เซนติเมตร เป็นภาวะที่เหมาะสมในการขึ้นรูปแผ่นเส้นใยพอลิอะคริโลไนไตร์ลกับพอลิยูรีเทนชีวภาพ โดยมีค่าการนำไอออนสูงถึง 3.11 มิลลิซีเมนต์ต่อเซนติเมตร มีความทนแรงดึง 44.2 เมกะปาสคาล และมีการดูดซับอิเล็กโทรไลต์ร้อยละ 1,971 ของแผ่นเส้นใย นอกจากนี้ยังพบว่าแผ่นเส้นใยที่พัฒนาได้สามารถทนต่อการหดตัวทางความร้อนได้ที่อุณหภูมิสูงถึง 150 องศาเซลเซียส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแผ่นเส้นใยที่เตรียมได้มีศักยภาพในการประยุกต์เป็นแผ่นกั้นสำหรับซิงก์ไอออนแบตเตอรี่


ผลของสารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์ต่อการออกซิเดชันสถานะของแข็งของพอลิเอทิลีนแวกซ์, ธนัญชฎา ทิพยไกรศร Jan 2020

ผลของสารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์ต่อการออกซิเดชันสถานะของแข็งของพอลิเอทิลีนแวกซ์, ธนัญชฎา ทิพยไกรศร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของสารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์และภาวะที่เหมาะสมในการผลิตออกซิไดซ์พอลิเอทิลีนแวกซ์โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์แบบแบตซ์ เพื่อให้ได้ค่าความเป็นกรดที่มากกว่า 13 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อกรัม เนื่องจากเป็นค่าที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นสารหล่อลื่นในภาคอุตสาหกรรม ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ โดยใช้สารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์คือ หนึ่ง,หนึ่ง-บิส-(เติร์ท-เอมิลเพอร์ออกซี)ไซโคลเฮกเซน และ ได-เติร์ท-บิวทิลเพอร์ออกไซด์ เป็นสารริเริ่มปฏิกิริยา (Initiator) ที่ความเข้มข้นร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก และใช้แก๊สอากาศ (Air zero) ในการทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยใช้เวลาในการทำปฏิกิริยาในช่วง 60 ถึง 180 นาที อุณหภูมิที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาในช่วง 90 ถึง 130 องศาเซลเซียส และปริมาณของสารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์ในช่วงร้อยละ 2 ถึง 8 โดยน้ำหนัก จากการทดลองพบว่าภาวะที่เหมาะสมในการผลิตออกซิไดซ์พอลิเอทิลีนแวกซ์จากปริมาณพอลิเอทิลีนแวกซ์ 100 กรัม ได้แก่ เวลาในการทำปฏิกิริยา 180 นาที อุณหภูมิที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา 123 องศาเซลเซียส และปริมาณของสารเพอร์ออกไซด์อินทรีย์ หนึ่ง,หนึ่ง-บิส-(เติร์ท-เอมิลเพอร์ออกซี)ไซโคลเฮกเซน ร้อยละ 6 โดยน้ำหนัก จะได้ค่าความเป็นกรด 15.23 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อกรัม นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค FTIR และ NMR ยังยืนยันว่าพอลิเอทิลีนแวกซ์ถูกออกซิไดซ์ในเครื่องปฏิกรณ์แบบแบตซ์


ผลของเอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์และโวลลาสโทไนต์ต่อสมบัติของไนลอน 6, บุษยา วิลาวรรณ Jan 2020

ผลของเอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์และโวลลาสโทไนต์ต่อสมบัติของไนลอน 6, บุษยา วิลาวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ พอลิเมอร์ผสมของไนลอน 6 กับเอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์และเอทิลีน-ออกทีนโค พอลิเมอร์กราฟต์มาเลอิกแอนไฮไดรด์ ได้ถูกเตรียมด้วยกระบวนการผสมแบบหลอมเหลวโดยใช้เครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่และขึ้นรูปชิ้นทดสอบด้วยเครื่องฉีดแบบ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพ สมบัติเชิงกล สมบัติทางความร้อน และสัณฐานวิทยา พบว่าความทนแรงกระแทกของพอลิเมอร์ผสมไนลอน 6/เอทิลีน-ออกทีน โคพอลิเมอร์ทุกอัตราส่วนมีค่าต่ำกว่าไนลอน 6 ล้วน ทั้งที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส และ -30 องศาเซลเซียส และมีค่าลดลงเมื่อปริมาณเอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากความไม่เข้ากันของพอลิเมอร์ผสม ในขณะที่พอลิเมอร์ผสมไนลอน 6/เอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์กราฟต์มาเลอิกแอนไฮไดรด์ทุกอัตราส่วนมีค่าความทนแรงกระแทกสูงกว่าไนลอน 6 และเพิ่มขึ้นตามปริมาณของเอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์กราฟต์มาเลอิกแอนไฮไดรด์ เนื่องจากการเกิดอันตรกิริยาที่ดีของพันธะไฮโดรเจนระหว่างหมู่อะมิโนกับหมู่แอนไฮไดรด์ในเมทริกซ์ของไนลอน 6 สอดคล้องกับภาพที่ได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด นอกจากนี้ยังพบว่าพอลิเมอร์ผสมทุกอัตราส่วนแสดงอัตราการหลอมไหล, ความถ่วงจำเพาะ, สมบัติความทนแรงดึง, สมบัติความทนแรงดัดโค้ง, ความแข็งแบบร็อคเวลล์, อุณหภูมิอ่อนตัวด้วยความร้อน, ร้อยละความเป็นผลึก, มอดุลัสสะสม และความต้านทานการหดตัวในแม่พิมพ์มีค่าลดลง เนื่องจากพฤติกรรมของความเป็นอิลาสโตเมอร์ของเอทิลีน-ออกทีนโค พอลิเมอร์ในพอลิเมอร์ผสม และจากสมบัติเชิงกลที่เหมาะสมจึงเลือกอัตราส่วน 85/15 (ร้อยละโดยน้ำหนัก) ของไนลอน 6/เอทิลีน-ออกทีนโคพอลิเมอร์กราฟต์มาเลอิกแอนไฮไดรด์สำหรับเตรียมคอมพอสิตกับโวลลาสโทไนต์ ที่ 10, 20 และ 30 ส่วนต่อเรซิน 100 ส่วน ผลการวิจัยพบว่าความถ่วงจำเพาะ, ยังส์มอดุลัส, มอดุลัสดัดโค้ง, อุณหภูมิอ่อนตัวด้วยความร้อน, มอดุลัสสะสม, ความต้านทานการหดตัวในแม่พิมพ์และความต้านทานการหลอมหยดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความทนแรงกระแทกที่ 23 องศาเซลเซียส และ -30 องศาเซลเซียส, ความทนแรงดึงและการยืดตัว ณ จุดขาด มีค่าลดลงเนื่องจากการเกิดอันตรกิริยาระหว่างโวลลาสโทไนต์และเมทริกซ์ต่ำ


การประยุกต์ใช้ตัวแบบซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีนและตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียมร่วมกับวิธีการทำให้เรียบแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล, แซนนี่ ชัว Jan 2020

การประยุกต์ใช้ตัวแบบซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีนและตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียมร่วมกับวิธีการทำให้เรียบแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล, แซนนี่ ชัว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การพยากรณ์อนุกรมเวลาเป็นการคาดคะเนผลลัพธ์จากข้อมูลในอตีต เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในอนาคต งานวิจัยฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลอนุกรมเวลาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวน 40 ชุด ทั้งปริมาณการผลิตสินค้า มูลค่าการจำหน่ายสินค้า ปริมาณเชื้อเพลิง ปริมาณน้ำในเขื่อน และจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งมีรูปแบบแนวโน้มและฤดูกาลของข้อมูลอนุกรมเวลาที่หลากหลาย สำหรับศึกษาการประยุกต์วิธีการทำให้เรียบแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล (ES) ในการพยากรณ์ และเปรียบเทียบความแม่นยำของผลการพยากรณ์อนุกรมเวลาที่ได้จาก 3 ตัวแบบ คือ วิธีทำให้เรียบแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล (ES), ตัวแบบผสมระหว่างตัวแบบ ES ร่วมกับตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียม (ES+ANN) และตัวแบบผสมระหว่างตัวแบบ ES ร่วมกับตัวแบบซัพพอร์ทเวกเตอร์แมชชีน (ES+SVM) โดยมีเกณฑ์รากของค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย (Root Mean Square Error : RMSE) เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบความแม่นยำของตัวแบบ ผลการศึกษาพบว่าตัวแบบผสมระหว่างตัวแบบ ES ร่วมกับตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียม (ES+ANN) มีความแม่นยำในการพยากรณ์อนุกรมเวลามากที่สุดสำหรับข้อมูลทั้ง 40 ชุด


ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด, ธีรภัทร์ วงศ์สุธีรา Jan 2020

ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด, ธีรภัทร์ วงศ์สุธีรา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การระบุตำแหน่งภายในอาคารด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายมักจะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเมื่อนำไปใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การระบุตำแหน่งดังกล่าวมักพบกับปัญหาตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่แม่นยำในการระบุตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมก็สามารถลดประสิทธิภาพโดยรวมของระบบได้เช่นกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอ ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด ระบบนี้ประกอบด้วยกันทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคืออัลกอริทึมสำหรับจัดหมวดหมู่พื้นที่ โดยส่วนนี้จะจำแนกคำร้องขอจากผู้ใช้งาน ว่าถูกส่งมาจากภายนอกอาคารหรือภายในอาคารใด เพื่อกรองคำร้องขอที่ถูกส่งมาจากพื้นที่ภายนอกอาคารหรือพื้นที่ที่ระบบไม่ได้ครอบคลุมออกไป ส่วนที่สองคืออัลกอริทึมระบุตำแหน่งภายในอาคาร ส่วนนี้จะใช้ข้อมูลจากส่วนแรก ในการลดขอบเขตการค้นหาลายนิ้วมือของสัญญาณลง ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการประมวลผลเพื่อหาตำแหน่งที่แน่นอนได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้อัลกอริทึมในส่วนนี้จะคำนึงถึงปัญหาตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ส่วนที่สามคืออัลกอริทึมตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปจากคำร้องขอจากผู้ใช้งานและปรับปรุงฐานข้อมูล เพื่อให้ระบบสามารถปรับตัวกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ จากผลการทดลอง ระบบที่นำเสนอสามารถจัดหมวดหมู่พื้นที่ ระบุตำแหน่งภายในอาคารและตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปได้อย่างแม่นยำ โดยอัลกอริทึมสำหรับจัดหมวดหมู่พื้นที่สามารถลดระยะเวลาในการประมวลผลอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ผ่านมา นอกจากนี้อัลกอริทึมตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งระบบที่นำเสนอและงานวิจัยที่ผ่านมาได้อย่างมาก


การสกัดตารางและรายการบนเว็บเป็นอาร์ดีเอฟ, จุลเทพ นันทขว้าง Jan 2020

การสกัดตารางและรายการบนเว็บเป็นอาร์ดีเอฟ, จุลเทพ นันทขว้าง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ทุกวันนี้ ลิงก์เดต้าได้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของเว็บ นอกเหนือจากข้อมูลใหม่ที่สร้างขึ้นในรูปแบบซีแมนติกโดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งมาจากการแปลงข้อมูลโครงสร้างที่มีอยู่ให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลเปิดระดับห้าดาว อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อมูลจำนวนมากในรูปแบบโครงสร้างและกึ่งโครงสร้าง ตัวอย่างเช่นตารางและรายการซึ่งเป็นรูปแบบหลักที่มนุษย์ใช้อ่าน ยังรอการแปลงอยู่ งานวิจัยนี้กล่าวถึงงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแปลงตารางและรายการมาเป็นข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องสามารถอ่านได้ นอกจากนี้ยังเสนอวิธีการในการแปลงตารางและรายการเป็นรูปแบบ Resource Description Framework และยังคงเก็บโครงสร้างต้นฉบับที่จำเป็นไว้อย่างละเอียด ซึ่งทำให้สามารถที่จะสร้างข้อมูลโครงสร้างเดิมกลับมาได้ ระบบ TULIP ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาซีแมนติกเว็บ วิธีการที่เสนอมีความยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ เดต้าโมเดลของ TULIP สามารถรองรับการเก็บข้อมูลต้นฉบับอย่างครบถ้วน และสามารถนำมาแสดงใหม่ในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม เครื่องมือนี้สามารถใช้สร้างข้อมูลจำนวนมหาศาลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้ใช้งานได้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม


การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันโดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง, หัสพล ธัมมิกรัตน์ Jan 2020

การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันโดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง, หัสพล ธัมมิกรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอวิธีการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันด้วยการใช้การเรียนรู้ของเครื่องสำหรับการตรวจพบโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบวนซ้ำชนิดพิเศษ Long Short-Term Memory กับข้อมูลโรคพาร์กินสันที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบไปด้วยข้อมูลจากเซ็นเซอร์และคีย์บอร์ดจากการเก็บข้อมูลจากผู้ร่วมทดสอบซึ่งมีทั้งกลุ่มควบคุมและผู้ป่วยจำนวนหนึ่งผ่านตัวควบคุมที่เก็บข้อมูลคีย์บอร์ดและเซ็นเซอร์ ซึ่งข้อมูลเซ็นเซอร์มีค่าตัวแปรความเร่งและมุม ข้อมูลคีย์บอร์ดคือการกดคีย์บอร์ดเป็นตัวอักษรพร้อมทั้งเวลาการกดคีย์บอร์ด การวิจัยนี้ทำเพื่อช่วยการวินิจฉัยแยกแยะระหว่างอาการสั่นหรือมีปัญหาทางการควบคุมการเครื่องไหวของผู้ป่วยโรคอื่นและผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน การวิจัยนี้ได้ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นแทนการใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคพาร์กินสันสำหรับแพทย์แผนกผู้ป่วยนอกในวินิจฉัยการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการใกล้เคียงอย่างการเคลื่อนไหว และความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง ผลการวินิจฉัยพบว่าการเรียนรู้เครื่องสามารถตรวจพบการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ได้ร้อยละความถูกต้องที่ 88.78 เปอร์เซ็นต์


ระบบควบคุมเกมแอคชั่นแนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งที่ผสานระบบต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย, ศุภชัย เต็งตระกูล Jan 2020

ระบบควบคุมเกมแอคชั่นแนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งที่ผสานระบบต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย, ศุภชัย เต็งตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เทคโนโลยีการต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ (Brain Computer Interface: BCI) ที่ใช้สัญญาณ Electroencephalogram (EEG) เป็นเทคโนโลยี BCI ที่เหมาะกับการนำมาใช้ควบคุมเกมที่สุดเพราะความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้ใช้ แต่แม้ว่าจะมีการศึกษาประเด็นนี้กันมานานหลายปี การออกแบบเกม BCI ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามจุดอ่อนพื้นฐานของสัญญาณ EEG ได้ ส่งผลให้ตัวเกมที่ออกมาขาดระบบการเล่นที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับเกมอื่นในท้องตลาด งานวิจัยชิ้นนี้จึงเสนอระบบควบคุมแบบใหม่ที่นำระบบ BCI ที่ใช้วิธีการจำแนก Steady-State Visually Evoked Potential (SSVEP) ที่ดีที่สุดในปัจจุบันอย่าง Riemannian มารวมกับอุปกรณ์ควบคุมอีก 3 อย่าง ได้แก่ คีย์บอร์ด (Keyboard) เมาส์ (Mouse) และเครื่องตรวจจับตำแหน่งการมอง (Eye Tracker) นอกจากนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ยังเสนอเกมแอคชั่นแนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (Action First-person Shooter: Action FPS) ที่ถูกพัฒนามาให้ทำงานร่วมกับระบบควบคุมดังกล่าวเพื่อสร้างประสบการณ์การเล่นเกมด้วยระบบ BCI ที่ดียิ่งขึ้น โดยตัวเกมจะมี 3 ฟีเจอร์ (Features) สำคัญ ได้แก่ การชะลอเวลา การไฮไลต์ตัวกระตุ้น SSVEP ที่ถูกมองอยู่ และการออกคำสั่ง SSVEP ให้โดยอัตโนมัติเมื่อผู้เล่นไม่สามารถใช้ได้แลกกับการไม่ได้รับของรางวัลบางอย่าง จากผลการทดสอบของผู้ร่วมทดสอบ 10 คนพบว่า ผู้ร่วมทดสอบทุกคนสามารถใช้คำสั่งผ่านเครื่องตรวจจับตำแหน่งการมองได้ดีในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับใช้คำสั่งได้ไม่ดีเท่าเดิม ส่วนการใช้คำสั่งผ่าน SSVEP ผลที่ออกมาแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละคำสั่ง คำสั่งที่ผู้ร่วมทดสอบใช้สำเร็จด้วยตัวเองมากที่สุดมีโอกาสใช้สำเร็จอยู่ที่ 71% ส่วนคำสั่งที่ผู้ร่วมทดสอบใช้สำเร็จด้วยตัวเองน้อยที่สุดมีโอกาสเพียง 49% เท่านั้น โดยรวมแล้วระบบควบคุมนี้ถือว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะนำไปใช้ควบคุมเกมแนว FPS ได้ แต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องความคงที่ของประสิทธิภาพของระบบ BCI และทางเลือกเกี่ยวกับการควบคุมด้วยเครื่องตรวจจับตำแหน่งการมอง และถึงแม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ร่วมทดสอบไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเล่นอยู่บ้าง แต่ผู้ร่วมทดสอบ 90% ก็ยังคงสนุกกับตัวเกมอยู่ เนื่องจากฟีเจอร์ของตัวเกมมีส่วนช่วยให้ผู้ร่วมทดสอบรู้สึกว่ายังสามารถควบคุมเกมได้


การประยุกต์ใช้ไมโครฟรอนต์เอนส์กับการปรับโครงสร้างใหม่ซิงเกิลเพจแอปพลิเคชัน, ณัฐพร นพปฎล Jan 2020

การประยุกต์ใช้ไมโครฟรอนต์เอนส์กับการปรับโครงสร้างใหม่ซิงเกิลเพจแอปพลิเคชัน, ณัฐพร นพปฎล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สถาปัตยกรรมระบบซอฟต์แวร์ปกติมักแบ่งแยกเป็นส่วนหน้าและส่วนหลัง โดยที่แบ็กเอนด์มีหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลทางฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ในขณะที่ฟรอนต์เอนด์รับผิดชอบการโต้ตอบระหว่างไคลเอนต์และระบบ บรรดาแนวทางสถาปัตยกรรมแบ็กเอนด์ในปัจจุบัน ไมโครเซอร์วิสเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับระบบที่สามารถขยายได้ ในขณะเดียวกัน แอปพลิเคชันฝั่งไคลเอนต์ก็เติบโตขึ้นตามขนาดและความซับซ้อนเช่นกัน แนวคิดไมโครฟรอนต์เอนส์ได้ปรากฏขึ้นเป็นวิวัฒนาการทางตรรกของสถาปัตยกรรมฝั่งฟรอนต์เอนด์ของเว็บแอปพลิเคชัน คล้ายคลึงกับไมโครเซอร์วิส แนวคิดทั้งสองมีประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบพร้อมกัน นอกเหนือจากสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการแบ่งแยกแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนเล็กๆ วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการประยุกต์ใช้ไมโครฟรอนต์เอนส์สำหรับการพัฒนาเว็บไซต์โปรแกรมสืบค้นทางกฎหมายเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากโปรแกรมสืบค้นโดยปกติทั่วไปจัดเป็นโครงการซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ การพัฒนาเป็นซิงเกิลเพจแอปพลิเคชันจึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรองรับงานที่มีปริมาณมากขึ้น ระบบขยายตัวไม่ได้ดี และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสูง การออกแบบฝั่งไคลแอนต์บนพื้นฐานไมโครฟรอนต์เอนด์ผนวกกับเทคโนโลยีแบ็กเอนด์แบบไมโครเซอร์วิสได้ถูกนำเสนอในงานวิจัยนี้ สำหรับการประเมินผล ความต้องการใหม่ของหน้าเว็บ รายละเอียดเอกสาร ได้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยแองกูลาร์และเพิ่มเข้าไปในระบบปัจจุบันที่เป็นซิงเกิลเพจแอปพลิเคชัน เพื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาฟีเจอร์ดังกล่าวด้วยไมโครฟรอนต์เอนด์ ตัววัดทั้งสามที่ถูกเลือกสำหรับการประเมินสมรรถนะประกอบด้วย ความขึ้นต่อกันของคอมโพเนนต์ เวลาการพัฒนา และเวลาการทดสอบ ผลลัพธ์ค่าการวัดรายงานค่าตัววัดทั้งสามตัวที่ลดลงเมื่อพัฒนาด้วยไมโครฟรอนต์เอนด์ อย่างไรก็ตาม ทีมงานมีความรู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกับการพัฒนาแบบใหม่ด้วยไมโครฟรอนต์เอนด์


การสรุปใจความสำคัญของข้อความแบบสกัดสำหรับข่าวท่องเที่ยวภาษาไทย, ศรัญญา นาทองห่อ Jan 2020

การสรุปใจความสำคัญของข้อความแบบสกัดสำหรับข่าวท่องเที่ยวภาษาไทย, ศรัญญา นาทองห่อ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมากและยังถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์มากมายโดยเฉพาะทางด้านการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อลดเวลาในการอ่านข่าวหรืออ่านบทความและข่าวออนไลน์ต่างๆ จากการวิจัยที่ผ่านมามีการศึกษาและพัฒนาการสรุปใจความสำคัญของภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอวิธีการสรุปใจความสำคัญจากข่าวการท่องเที่ยวภาษาไทย 2 วิธีคือการเลือกประโยคจากการจัดกลุ่มประโยคด้วยเคมีนและการเลือกประโยคด้วยวิธีหาคำสำคัญประโยคจากหัวข้อข่าว โดยมีการพัฒนาและสร้างคลังข้อมูลรายการคำประสมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดคำ โดยการทดลองนี้ใช้ข้อมูลข่าวการท่องเที่ยวไทย ทั้งหมด 400 ข่าวสำหรับใช้ทดลองในการสรุปใจความสำคัญ และ 5,000 ข่าวสำหรับการสร้างคลังข้อมูลรายการคำประสม การวัดประสิทธิภาพของวิธีการที่นำเสนอ มีการวัดประสิทธิภาพการสรุปใจความสำคัญโดยการเปรียบเทียบผลจากการสรุปที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเทียบกับผลสรุปที่ได้จากวิธีการที่นำเสนอ จากงานวิจัยนี้ในขั้นตอนการสร้างคำประสมได้คำประสมทั้งหมด จำนวน 2,340 คำ ผลการทดลองพบว่าวิธีตัดคำด้วยคัตคำร่วมกับตัดคำประสมได้ผลดีกว่าการตัดคำจากคัตคำเพียงอย่างเดียว และการสรุปใจความสำคัญโดยใช้การคำนวณค่าน้ำหนักของคำสำคัญโดยหาค่าความถี่ของคำจากหัวข้อข่าวเพียงอย่างเดียวและเลือกประโยคเรียงลำดับจากผลรวมความถี่ของคำสำคัญจากหัวข้อข่าวมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุดโดยมีค่าความแม่นยำ ค่าความระลึกและค่าวัดประสิทธิภาพอยู่ที่ 0.8097 0.8367 และ 0.8216 ตามลำดับและเมื่อใช้คัตคำร่วมกับการตัดคำแบบเอ็นแกรมโดยวิธีการสรุปใจความสำคัญแบบเดียวกันได้ค่าความแม่นยำ ค่าความระลึกและค่าวัดประสิทธิภาพอยู่ที่ 0.8119 0.8398 และ 0.8242 ตามลำดับที่อัตราการบีบอัดร้อยละ 20


การวิเคราะห์ข้อความภาษาธรรมชาติตามประมวลกฎหมายอาญา, วีรยุทธ ครั่งกลาง Jan 2020

การวิเคราะห์ข้อความภาษาธรรมชาติตามประมวลกฎหมายอาญา, วีรยุทธ ครั่งกลาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายอาญาของประเทศไทย ในภาค1 บทบัญญัติทั่วไป และภาค2 เฉพาะความผิดเกี่ยวกับชีวิต มาตรา 288 และมาตรา 289 ในลักษณะ10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ส่วนแรกของวิทยานิพนธ์นี้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายอาญาและคำพิพากษาของศาลฎีกาในการสร้างกฎในการพิจารณาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ และส่วนที่สองคือการฝึกฝนแบบจำลองด้วยชุดข้อมูลจากคำพิพากษาด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก โดยแก้ปัญหาความไม่สมดุลของกลุ่มข้อมูลฝึกสอนด้วยการสังเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลในกลุ่มอื่น ๆ ให้มีจำนวนเท่ากับกลุ่มที่มากที่สุด และฝึกสอนด้วยโครงข่ายหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวทิศทางเดียวและสองทิศทาง ซึ่งเป็นโครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับประเภทหนึ่ง และเมื่อวัดประสิทธิภาพแบบจำลองด้วยค่าเฉลี่ยมหภาคเอฟวัน พบว่าแบบจำลองของหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวสองทิศทางให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบทิศทางเดียว และการใช้ค่าถ่วงน้ำหนักเริ่มต้นจากเรียนรู้ด้วยคลังข้อมูลขนาดใหญ่อื่น ให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าการใช้เฉพาะข้อมูลฝึกสอน และท้ายสุดทำการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองจากข่าวอาชญากรรมด้วยเทคนิคการหาค่าเฉลี่ยความน่าจะเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลขาเข้าของกฎการพิจารณา พบว่าสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมาย 59 %


การสร้างกรณีทดสอบจากบีพีเอ็มเอ็นที่มีการเรียกใช้ดีเอ็มเอ็น, บุศรินทร์ บุญมีพิพิธ Jan 2020

การสร้างกรณีทดสอบจากบีพีเอ็มเอ็นที่มีการเรียกใช้ดีเอ็มเอ็น, บุศรินทร์ บุญมีพิพิธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บีพีเอ็มเอ็นถูกนำมาใช้ในการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ โดยใช้ในการสื่อสารการทำงานผ่านสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานของแบบจำลอง ซึ่งการจัดการกระบวนการทางธุรกิจดังกล่าวอาจเกิดระหว่างขั้นตอนการรวบรวมความต้องการของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เนื่องจากกระบวนการทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนมักจะมีกฎการตัดสินใจ ดังนั้น ดีเอ็มเอ็นจึงถูกนำมาใช้ร่วมกับบีพีเอ็มเอ็นเพื่ออธิบายกฎเหล่านี้ในรูปแบบของตารางการตัดสินใจดีเอ็มเอ็น ดีเอ็มเอ็นยังช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถระบุกฎทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทำให้รูปแบบกระบวนการทางธุรกิจเข้าใจได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบจำลองเหล่านี้จำเป็นต้องถูกทวนสอบด้วยกรณีทดสอบ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างกรณีทดสอบจากบีพีเอ็มเอ็น แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับบีพีเอ็มเอ็นที่มีการเรียกใช้ดีเอ็มเอ็น วิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอการสร้างกรณีทดสอบจากบีพีเอ็มเอ็นที่มีการเรียกใช้ดีเอ็มเอ็น โดยเริ่มจากนำเข้าและวิเคราะห์ไฟล์บีพีเอ็มเอ็น ไฟล์ดีเอ็มเอ็น ไฟล์เส้นทางการทดสอบ และไฟล์กรณีทดสอบเดิม เพื่อค้นหาว่ามีกฎใดของตารางการตัดสินใจดีเอ็มเอ็นที่ยังไม่ถูกใช้งานในกรณีทดสอบ จากนั้นจึงสร้างกรณีทดสอบให้ครอบคลุมครบทุกกฎ ด้วยวิธีการนี้ทำให้กรณีทดสอบมีกฎครอบคลุมครบทุกกฎ ซึ่งมั่นใจได้ว่ากระบวนการทางธุรกิจถูกทวนสอบอย่างอย่างถี่ถ้วน


การสร้างกรณีทดสอบสำหรับเว็บเซอร์วิสแบบดับเบิลยูเอส-บีเพลจากกราฟการเรียกเชิงสถิต, วารีรัตน์ บัวเสนาะ Jan 2020

การสร้างกรณีทดสอบสำหรับเว็บเซอร์วิสแบบดับเบิลยูเอส-บีเพลจากกราฟการเรียกเชิงสถิต, วารีรัตน์ บัวเสนาะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เว็บเซอร์วิสถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การพัฒนาเว็บเซอร์วิสนั้นไม่ยึดติดกับภาษาที่ใช้ในการพัฒนาจึงทำให้เว็บเซอร์วิสมีรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป จึงต้องมีมาตรฐานในการควบคุมและประสานกระบวนการธุรกิจผ่านทางเว็บเซอร์วิส มาตรฐานนี้ถูกเรียกว่าดับเบิลยูเอส-บีเพล การทดสอบเว็บเซอร์วิสนั้นก็เป็นกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้ตรงตามความต้องการของกระบวนการธุรกิจ งานวิจัยในปัจจุบันมีการนำเสนอแนวคิดและเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างกรณีทดสอบสำหรับดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยมุ่งเน้นเพียงกระบวนการธุรกิจในไฟล์ดับเบิลยูเอส-บีเพลเพียงหนึ่งไฟล์เท่านั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางและเครื่องมือการสร้างกรณีทดสอบสำหรับดับเบิลยูเอส-บีเพลจากกราฟการเรียกเชิงสถิต เพื่อรองรับกรณีที่มีการเรียกใช้กระบวนการย่อยระหว่างไฟล์ดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยเครื่องมือจะวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของแต่ละไฟล์ แทรกชุดคำสั่งในรหัสต้นทาง วิเคราะห์ความสัมพันธ์การเรียกใช้งานระหว่างไฟล์ดับเบิลยูเอส-บีเพลเพื่อสร้างกราฟการเรียกเชิงสถิต จากนั้นสร้างทางเดินทดสอบจากกราฟการเรียกเชิงสถิตเพื่อให้ได้ความครอบคลุมในระดับกิ่ง


การแปลงตรรกเชิงเวลาแบบเมตริกไปเป็นตรรกเชิงเวลาเชิงเส้นสำหรับโพรเมลา, จุฑามาศ กะวิเศษ Jan 2020

การแปลงตรรกเชิงเวลาแบบเมตริกไปเป็นตรรกเชิงเวลาเชิงเส้นสำหรับโพรเมลา, จุฑามาศ กะวิเศษ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทวนสอบสำหรับระบบเรียลไทม์เป็นสิ่งสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปกติแล้วระบบเรียลไทม์จะอยู่ในรูปแบบที่เป็นรูปแบบทางการและถูกตรวจสอบเพื่อให้สามารถรองรับคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ ได้ แบบจำลองที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการนี้สามารถตรวจสอบคุณลักษณะที่สนใจด้วยใช้การตรวจสอบแบบจำลอง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบคุณลักษณะของแบบจำลองดังกล่าว ที่ได้ประสิทธิภาพสามารถเขียนแทนให้อยู่ในรูปแบบของตรรกเชิงเวลาแบบเมตริก หรือเอ็มทีแอล ซึ่งสามารถระบุช่วงเวลาที่สนใจได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอทางเลือกหนึ่งสำหรับการแปลงสมการในรูปบบแอลทีแอลไปเป็นสมการในรูปแบบของตรรกศาสตร์เชิงเส้น หรือแอลทีแอล ที่ทำงานร่วมกันกับภาษาโพรเมลา จากคุณลักษณะของเอ็มทีแอลที่ประกอบไปด้วย ตัวดำเนินการแบบตลอดไป ตัวดำเนินการแบบในที่สุด ตัวดำเนินการแบบถัดไป ตัวดำเนินการจนกระทั่งแบบเข้ม และตัวดำเนินการจนกระทั่งแบบอ่อน จากคุณะลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นคุณลักษณะที่ได้นำมาศึกษาในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ กรณีศึกษาแบบจำลองระบบการบรรจุในแจ้งยอดหนี้บัตรเครดิตที่อยู่ในรูปแบบของไทม์แพททริเนทและถูกเขียนด้วยภาษาโพรเมลาซึ่งทำงานด้วยระบบสัญญาณนาฬิกาหลักและนาฬิกาย่อยเพื่อรองรับการทำงานกับเงื่อนไขด้านเวลาของกระบวนการในกรณีศึกษา การแปลงสมการในรูปแบบของเอ็มทีแอลพร้อมด้วยเงื่อนไขของเวลาไปเป็นสมการในรูปแบบของแอลทีแอลแสดงให้เห็นว่าการทวนสอบแบบจำลองกรณีศึกษาทำงานได้อย่างถูกต้องโดยทวนสอบแบบจำลองดังกล่าวด้วยเครื่องมือสปิน


วงจรควอนตัมสำหรับขั้นตอนวิธีการของชอร์, วิภู เมธาชวลิต Jan 2020

วงจรควอนตัมสำหรับขั้นตอนวิธีการของชอร์, วิภู เมธาชวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิธีขั้นตอนการหาตัวประกอบจำนวนเฉพาะของชอร์เป็นหนึ่งในปัญหาที่น่าสนใจสำหรับคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยงานวิจัยนี้ต้องศึกษาถึงพฤติกรรมของวงจรขั้นตอนวิธีการของชอร์เมื่อนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์ควอนตัมในปัจจุบัน โดยเลือกนำการออกแบบวงจรที่นำเสนอไว้โดย สตีเฟ่น เบอรีการ์ด มาทำการทดลองบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมของทางบริษัทไอบีเอ็มขนาด 15 คิวบิต


Recommendation System For Horticultural Commodities, Lukman Adlin Harahap Jan 2020

Recommendation System For Horticultural Commodities, Lukman Adlin Harahap

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Horticultural commodities commonly have fluctuating prices due to their nature. Seasonality and climate are the main factors that cause their prices to fluctuate. Price instability causes a planning on horticultural cultivation to become difficult. Local farmers would intuitively know the planning by their experience, but this might be too complicated for those farmers who are new or have no experience. Thus, the proposed recommendation system would be able to help the new farmers to set a schedule for horticultural cultivation. The proposed recommendation system consists of three phases: price prediction, commodity recommendation, and cultivation scheduling. A hybrid of Long Short-Term …


Catalytic Cracking Of Fusel Oil To Light Olefins Over Zeolite Catalysts, Rachatawan Yaisamlee Jan 2020

Catalytic Cracking Of Fusel Oil To Light Olefins Over Zeolite Catalysts, Rachatawan Yaisamlee

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Fusel oil is a by-product of bioethanol production. It is considered a renewable feedstock as well as an environmentally friendly material. However, due to the limitation of its application, the market is not able to absorb the demand for fuel oil, which results in a relatively low price. As a consequence, fusel oil is an interesting new renewable source to convert into value-added products via a high-efficiency bioenergy conversion process. In the present work, the catalytic cracking of fusel oil to light olefins (ethylene, propylene, and butylene) was investigated in a fixed bed reactor using zeolites as catalysts. The physicochemical …


Positive Labeled And Unlabeled Learning Methods Of Meta-Path Based Functional Profiles For Predicting Drug-Disease Associations, Thitipong Kawichai Jan 2020

Positive Labeled And Unlabeled Learning Methods Of Meta-Path Based Functional Profiles For Predicting Drug-Disease Associations, Thitipong Kawichai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Drug repositioning, discovering new indications for existing drugs, is a competent strategy to reduce time, costs, and risk in drug discovery and development. Many computational methods have been developed to identify new drug-disease associations for further validation and drug development. A recent approach showing superior performance with less required data is a meta-path based approach, which derives network-based information using path patterns from drug to disease nodes. However, existing meta-path based methods discard information of intermediate nodes along paths, which are important indicators for describing relationships between drugs and diseases. With known (positive) and unknown (unlabeled) drug-disease associations, this research …


Preparation Of Activated Clay From Ratchaburi Bentonite For Pyrolysis Oil Decolorization, Woranan Koedsang Jan 2020

Preparation Of Activated Clay From Ratchaburi Bentonite For Pyrolysis Oil Decolorization, Woranan Koedsang

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Bentonite is a clay mineral which widely used in considerable applications, such as bleaching agent in the oil refining process, lubricant in drilling for civil works, filler and additive as well as used to absorb odors from the waste. It can be achieved that bentonite is very tremendously advantageous and employ in many industries. The aims of this research were carried out to study the preparation of activated clay from bentonite Ratchaburi for pyrolysis oil decolorization. The bentonite was processed by activation with sulfuric acid (H2SO4), hydrochloric acid (HCl). sodium hydroxide (NaOH) and potassium hydroxide (KOH), various the ratio of …


การจำลองซีเอฟดีของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และการฟื้นฟูสภาพตัวดูดซับ K2co3/Al2o3 ในฟลูอิไดซ์เบดแบบปั่นป่วนหมุนเวียนแบบครบวงจร, ชนิกานต์ วันจันทร์ Jan 2020

การจำลองซีเอฟดีของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และการฟื้นฟูสภาพตัวดูดซับ K2co3/Al2o3 ในฟลูอิไดซ์เบดแบบปั่นป่วนหมุนเวียนแบบครบวงจร, ชนิกานต์ วันจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตพลังงานและกระแสไฟฟ้ายังคงเป็นสาเหตุหลักในการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เทคโนโลยีดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการศึกษานี้ จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาแบบจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณของเครื่องปฏิกรณ์ฟลูอิไดซ์เบดแบบปั่นป่วนหมุนเวียนแบบครบวงจรด้วยตัวดูดซับของแข็งโพแทสเซียมคาร์บอนเนตบนตัวรองรับอะลูมินา ที่ประกอบไปด้วยส่วนหอไรเซอร์ที่มีการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และส่วนหอดาวเนอร์ที่ใช้ในการฟื้นฟูสภาพตัวดูดซับของแข็ง ด้วยภาวะการดำเนินการที่แตกต่างกันในหอไรเซอร์และดาวเนอร์ การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมทางวิศวกรรม นั่นคือ วาล์วควบคุม เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่ออุทกพลศาสตร์ภายในกระบวนการ โดยทำการจำลองระบบติดตั้งวาล์วแบบเลื่อนและวาล์วแบบหมุน จากผลการจำลองพบว่าระบบการติดตั้งวาล์วแบบหมุนมีการกระจายตัวของตัวดูดซับของแข็งภายในไรเซอร์อย่างหนาแน่นและสม่ำเสมอ เนื่องจากการปิดกั้นการไหลของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปยังส่วนดาวเนอร์ส่งผลให้ทิศทางการไหลของแก๊สและของแข็งไหลในไรเซอร์ได้ดีมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อีกทั้งพบว่าอัตราการเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับมีผลต่อประสิทธิภาพการฟื้นฟูสภาพตัวดูดซับและอุณหภูมิภายในระบบเมื่อเวลาผ่านไป ในส่วนผลลัพธ์ของอัตราการป้อนตัวดูดซับของแข็งที่มากขึ้นมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงขึ้น และการศึกษาผลของอุณหภูมิและความดันขาออกของดาวเนอร์ พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดการฟื้นฟูสภาพตัวดูดซับของแข็งที่ดีขึ้น แต่ทำให้การดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเล็กน้อย และการลดความดันที่ขาออกของดาวเนอร์ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของความดันภายในกระบวนการ ทำให้ความเร็วแก๊สขาเข้าและแรงผลักดันในระบบเพิ่มสูงขึ้น


การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณของไรเซอร์สำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แบบอุณหภูมิไม่คงที่, อมลวรรณ ศรวิชัย Jan 2020

การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณของไรเซอร์สำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แบบอุณหภูมิไม่คงที่, อมลวรรณ ศรวิชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการเผาไหม้ที่ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ที่ได้รับความสนใจทั้งระดับการทดลองและระดับอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย คือ การดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หลังการเผาไหม้ด้วยเครื่องปฏิกรณ์ฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียนและใช้ตัวดูดซับชนิดของแข็ง ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ หอไรเซอร์ที่ใช้ในการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และหอดาวเนอร์ที่ใช้ในการฟื้นฟูหรือคืนสภาพตัวดูดซับ ในการศึกษาจึงมุ่งเน้นในส่วนของหอไรเซอร์ พบว่า ความสามารถในการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ยังไม่ดีพอ เนื่องจากอุณหภูมิถึงสมดุลปฎิกิริยาเคมี งานวิจัยนี้จึงมีแนวคิดพัฒนาแบบจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวนของหอไรเซอร์ฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียนแบบอุณหภูมิไม่คงที่ จากผลการศึกษาพบจำนวณเซลล์ที่ใช้ในการคำนวณและเวลาจำลองที่เหมาะสม คือ จำนวนเซลล์การคำนวณ 400,000 เซลล์และเวลาในการคำนวณ 100 วินาทีตามลำดับ นอกจากนี้ยังศึกษาผลกระทบของตัวแปรกระบวนการต่าง ๆ ต่อการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในหอไรเซอร์ ประกอบด้วย อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น อัตราการไหลของน้ำหล่อเย็น ระยะห่างระหว่างชุดท่อน้ำหล่อเย็น ขนาดท่อน้ำหล่อเย็น และลักษณะการจัดเรียงท่อน้ำหล่อเย็นภายในหอไรเซอร์ ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิมีผลต่อการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากอุณหภูมิจะส่งผลให้สมดุลการดูดซับเปลี่ยนไป


การดัดแปรโครงสร้างและผิวของเลเยอร์ดับเบิลไฮดรอกไซด์สำหรับสารยึดติดฐานพียู, ลักษณ์ชนก ทันเจริญ Jan 2020

การดัดแปรโครงสร้างและผิวของเลเยอร์ดับเบิลไฮดรอกไซด์สำหรับสารยึดติดฐานพียู, ลักษณ์ชนก ทันเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This work studied the structural modification of magnesium-aluminum layered double hydroxides (MgAl LDH) by intercalation with sodium dodecyl sulfate (SDS) and surface modification of MgAl LDH by silylation with (3-aminopropyl)triethoxysilane (APS), methyl(trimethoxy)silane (MTMS) and octadecyl (trimethoxy)silane (OTMS). The effect of SDS : Al molar ratio silane coupling agent and APS : Al molar ratio on the physicochemical properties of modified MgAl LDH were also investigated. The results showed that LDHw-SDS1.0-APS2.4 exhibited the highest interlayer spacing. The APS had better dispersibility on metal hydroxides layer than MTMS and OTMS, as APS dispersed thoroughly in ethanol. The higher amount of APS was …


การผลิตไฮโดรเจนจากแกซิฟิเคชันด้วยไอน้ำของใบอ้อยโดยใช้ Nio/Cao-Li4sio4, เพ็ชร ชุนะเกียรติ Jan 2020

การผลิตไฮโดรเจนจากแกซิฟิเคชันด้วยไอน้ำของใบอ้อยโดยใช้ Nio/Cao-Li4sio4, เพ็ชร ชุนะเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากกระบวนการแกซิฟิเคชันด้วยไอน้ำของใบอ้อยโดยใช้ NiO/CaO-Li4SiO4 โดยการทดลองถูกดำเนินการในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่งชนิดสองขั้น จากผลการทดลองพบว่าการใช้ตัวดูดซับลิเทียมออโทซิลิเกต (Li4SiO4) ร่วมกับตัวดูดซับแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ผลได้และความเข้มข้นของไฮโดรเจนมีค่าสูงกว่าการใช้ตัวดูดซับลิเทียมออโทซิลิเกตหรือแคลเซียมออกไซด์เพียงอย่างเดียว บ่งชี้ถึงการทำงานร่วมกันของแคลเซียมออกไซด์และลิเทียมออโทซิลิเกต ปริมาณของแคลเซียมออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แก๊สที่ได้มีแนวโน้มของผลได้และความเข้มข้นของไฮโดรเจนที่สูงขึ้น เนื่องจากการดูดซับของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น การใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา NiO/CaO-Li4SiO4 ให้ผลิตภัณฑ์แก๊สที่มีผลได้และความเข้มข้นของไฮโดรเจนสูงขึ้นเป็นผลมาจากการเร่งปฏิกิริยาการแตกตัวและรีฟอร์มมิงด้วยไอน้ำของสารระเหย การศึกษาผลของอุณหภูมิ พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิส่งให้ผลิตภัณฑ์แก๊สรวมมีค่าสูงขึ้นจากการแตกตัวด้วยความร้อนเพิ่มขึ้น แต่ความเข้มข้นของไฮโดรเจนลดลงจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง นอกจากนี้จากการศึกษาผลของวิธีการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาที่ต่างกันพบว่าวิธีอิมเพรกเนชันร่วมจะให้ความเข้มข้นของไฮโดรเจนสูงสุด


การผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ, นัจกร จันทร์ดำ Jan 2020

การผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ, นัจกร จันทร์ดำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษากัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ ตัวแปรที่ศึกษา คือ ความเข้มข้นเริ่มต้นของน้ำเสีย ชนิดอโลหะ ได้แก่ คาร์บอน (C) ซิลิคอน (Si) และฟอสฟอรัส (P) ที่เจือลงบนตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์ ปริมาณฟอสฟอรัสร้อยละ 1 3 5 7 และ 9 โดยน้ำหนัก และความสามารถในการนำตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงกลับมาใช้ซ้ำ พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P1/T400ให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง C1/T400 และ Si1/T400 เท่ากับ 6.43 มิลลิโมลต่อกรัมตัวเร่งปฏิกิริยา และร้อยละ 26.0 ตามลำดับ ภายใต้ภาวะความเข้มข้นเริ่มต้นของน้ำเสียที่ไม่ผ่านการเจือจาง ปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยา 4 กรัมต่อลิตร ความเข้มแสง 5.93 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P1/T400 มีแถบช่องว่างพลังงานที่แคบและมีตำแหน่งแถบเวเลนซ์และแถบนำในโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการผลิตโปรตอน (H+) และตัวออกซิไดซ์ (HO• และ O2•-) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตไฮโดรเจนและการลดค่าซีโอดี ปริมาณฟอสฟอรัสที่เจือลงบนตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง T400 ที่ให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงที่สุด ได้แก่ P7/T400 โดยสามารถผลิตไฮโดรเจนได้สูงถึง 8.34 มิลลิโมลต่อกรัมตัวเร่งปฏิกิริยา และลดค่าซีโอดีได้เท่ากับร้อยละ 50.6 นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P7/T400 ยังคงให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง T400 แม้ผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ 4 ครั้ง


การสกัดน้ำมันจากกาแฟคั่วบดและกากกาแฟคั่วบดโดยคาร์บอนไดออกไซด์ภาวะเหนือวิกฤต, กนกพร ผลมานะ Jan 2020

การสกัดน้ำมันจากกาแฟคั่วบดและกากกาแฟคั่วบดโดยคาร์บอนไดออกไซด์ภาวะเหนือวิกฤต, กนกพร ผลมานะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กากกาแฟเป็นของเสียที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกาแฟสดและกาแฟสำเร็จรูป กากกาแฟมีสารที่สำคัญเป็นองค์ประกอบ เช่น พอลิแซ็กคาร์ไรด์ กรดไขมัน โปรตีน คาเฟอีน สารประกอบฟีนอล และแร่ธาตุต่าง ๆ งานวิจัยนี้ศึกษาการสกัดน้ำมันจากกาแฟคั่วบดและกากกาแฟคั่วบดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ภาวะเหนือวิกฤตที่ภาวะต่าง ๆ ช่วงความดัน 200 -300 บาร์ และช่วงอุณหภูมิ 40 – 60 องศาเซลเซียส ที่อัตราการไหลของคาร์บอนไดออกไซด์คงที่ 10 กรัมต่อนาที น้ำมันกาแฟที่สกัดจากกาแฟคั่วบดและกากกาแฟคั่วบดโดยใช้เฮกเซนเป็นตัวทำละลายมีปริมาณร้อยละ 20.16±0.92 และ 15.67±1.84 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ส่วนการสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ภาวะเหนือวิกฤต พบว่าที่ความดัน 300 บาร์ และอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นภาวะที่เหมาะสมในการสกัดกาแฟคั่วบดได้ปริมาณน้ำมันกาแฟร้อยละ 13.45 ภาวะที่เหมาะสมในการสกัดน้ำมันจากกากกาแฟคั่วบด คือ ความดัน 300 บาร์ และอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ได้ปริมาณน้ำมันกาแฟร้อยละ 11.93 องค์ประกอบกรดไขมันของน้ำมันกาแฟส่วนใหญ่ประกอบด้วยกรดลิโนเลอิก กรดปาล์มิติก กรดโอเลอิก กรดสเตียริก และกรดอะราคิดิก องค์ประกอบสารระเหยที่พบในน้ำมันกาแฟให้กลิ่นหอมคล้ายกับคาราเมล มอลต์ และเนย ซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของฟูแรน คือ 2,3-dihydro-5-methyl-furan, 2-ethyl-furan, furfural, และ 2-pentyl-furan


การเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตที่ใช้แล้ว, ซุ ฮุ่ย คอ Jan 2020

การเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตที่ใช้แล้ว, ซุ ฮุ่ย คอ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาระดับโลก เทคโนโลยีในการรีไซเคิลและปรับคุณภาพขยะพลาสติกมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาการเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบใสและแบบมีสีที่ใช้แล้วด้วยวิธีการกระตุ้นทางเคมีและทางกายภาพ ซึ่งสารเคมีที่ใช้ในการกระตุ้นทางเคมี คือ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ด้วยวิธีการทำให้อิ่มตัวด้วยอัตราส่วนโดยมวลระหว่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อคาร์บอน 2 ถึง 4 อุณหภูมิกระตุ้น 700 ถึง 900 องศาเซลเซียส และเวลากระตุ้น 1 ถึง 2.5 ชั่วโมง และใช้ไอน้ำเป็นสารกระตุ้นในการกระตุ้นทางกายภาพ อุณหภูมิกระตุ้น 800 ถึง 1,000 องศาเซลเซียส และเวลากระตุ้น 1 ถึง 4 ชั่วโมง พบว่าภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตถ่านกัมมันต์จากจากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบใสคือ กระตุ้นด้วยวิธีกระตุ้นทางกายภาพโดยใช้ไอน้ำที่อุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้พื้นที่ผิว BET สูงสุด 1634.59 ตร.ม./กรัม และปริมาตรรูพรุนรวม 1.0434 ลบ.ซม./กรัม และภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตถ่านกัมมันต์จากจากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบมีสีคือ กระตุ้นด้วยวิธีกระตุ้นทางกายภาพโดยใช้ไอน้ำเช่นกัน ที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ได้พื้นที่ผิว BET สูงสุด 576.42 ตร.ม./กรัม และปริมาตรรูพรุนรวม 0.3093 ลบ.ซม./กรัม พบว่าอัตราส่วนโดยมวลของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อถ่าน อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการกระตุ้น ส่งผลต่อร้อยละผลได้ของผลิตภัณฑ์และการพัฒนารูพรุนของถ่านกัมมันต์


การเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถนะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์, วรัญญา ขันติอุดม Jan 2020

การเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถนะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์, วรัญญา ขันติอุดม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนยังคงเป็นวิกฤตสำคัญสำหรับนานาชาติ เนื่องจากการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ ขนส่ง และอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการสะสมของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับตัวดูดซับของแข็งบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้ภาวะบรรยากาศ จึงสามารถนำมาประยุกต์กับสีทาผนังรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ในงานวิจัยนี้จะทำการศึกษาการเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะสร้างอุปกรณ์ทดสอบการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของสี และศึกษาความสามารถในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของสีเมื่อสัดส่วนตัวดูดซับ อัตราการไหลของแก๊ส ความชื้น และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จากผลการทดลองพบว่า เมื่อเพิ่มปริมาณสารดูดซับ ส่งผลให้ค่าความสามารถในการดูดซับของสีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณสารตั้งต้นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในสีจะถูกจำกัดด้วยสมบัติบางประการของสี เช่น ความเงา เป็นต้น ในการทดสอบที่ภาวะต่าง ๆ พบว่า ความสามารถในการดูดซับจะแปรผันตรงกับอัตราการไหลของแก๊สและความชื้น แต่จะแปรผกผันกับอุณหภูมิ นอกจากนี้ ในการจำลองกระบวนการเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นบนผนังที่มีการเคลือบด้วยสี โดยปรับให้แบบจำลองให้ค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ใกล้เคียงกับค่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากห้องปฏิบัติการในช่วงเวลา 0 - 21 วินาที เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีเป็นแบบคายความร้อน แบบจำลองแสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิและการกระจายความร้อนที่เกิดขึ้นบนกระดาษจำลองและผลกระทบต่ออุณหภูมิเนื่องจากพฤติกรรมการไหลของแก๊ส


ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni-Mo แบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับสำหรับไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ : สมรรถนะและการนำมาใช้ซ้ำ, พจวรรณ เอี่ยมศิริ Jan 2020

ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni-Mo แบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับสำหรับไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ : สมรรถนะและการนำมาใช้ซ้ำ, พจวรรณ เอี่ยมศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มบนตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับ ตัวแปรที่ศึกษาคือ ชนิดของตัวเร่งปฏิกิริยา ความเข้มข้นของสารตั้งต้น และระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา จากการทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์หลักคือ สารประกอบนอร์มัลแอลเคน n-C14, n-C15, n-C16, n-C17 และ n-C18 การเพิ่มความเข้มข้นของสารตั้งต้นส่งผลให้ปฏิกิริยาไปทางดีคาร์บอกซิเลชันและดีคาร์บอนิลเลชัน การเพิ่มเวลาส่งผลให้ปฏิกิริยาไปทางไฮโดรดีออกซิจิเนชันมากกว่าดีคาร์บอกซิเลชันและดีคาร์บอนิลเลชัน ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบไม่มีตัวรองรับ (0.2-NiMoS2) ซึ่งเตรียมจากการสลายตัวด้วยความร้อนมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ความดันไฮโดรเจนเริ่มต้น 40 บาร์ เวลา 3 ชั่วโมง ความเข้มข้นของสารตั้งต้นร้อยละ 10 โดยน้ำหนักของสารละลาย และอัตราส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยาต่อสารตั้งต้นที่ 0.1 (w/w) ให้ร้อยละผลได้ของ แอลเคนทั้งหมด (n-C14-C18) สูงสุดที่ 67.0 โดยน้ำหนัก ในส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบมีตัวรองรับแกมมาอะลูมินา (NiMoS2/Al2O3) ที่เตรียมจากการสลายตัวด้วยความร้อน; (H-NiMoS2/Al2O3) ที่ปริมาณ Al2O3 ร้อยละ 20 มี HDO แอกทีวิตีดี ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ความดันไฮโดรเจนเริ่มต้น 50 บาร์ เวลา 3 ชั่วโมง ความเข้มข้นของสารตั้งต้นร้อยละ 5 โดยน้ำหนักของสารละลาย และอัตราส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยาต่อสารตั้งต้นที่ 0.15 (w/w) ให้ร้อยละผลได้ของแอลเคน C14-C18 ร้อยละ 55.4 สูงที่สุด นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิยา 0.2-NiMoS2 และ H-NiMoS2/Al2O3-0.2 สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำในไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มได้อย่างน้อย 3 รอบ แสดงให้เห็นว่าตัวเร่งปฏิกิริยายังมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้นาน