Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 1471 - 1500 of 5570

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การนำนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยมาปฏิบัติ กรณีศึกษา : โครงการธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี, ชยธร ฉายบ้านใหม่ Jan 2020

การนำนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยมาปฏิบัติ กรณีศึกษา : โครงการธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี, ชยธร ฉายบ้านใหม่

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงาน ปัจจัยสนับสนุนในการนำนโยบายการบริหารจัดการขยะมาปฏิบัติ และวิเคราะห์นำเสนอการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการธนาคารขยะประกันชีวิต โดยผู้วิจัยดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Study) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ในกลุ่มผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ คณะทำงานและอาสาสมัคร ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกโครงการ พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทองขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอย สอดคล้องตามแนวทางของแผนปฏิบัติการ“ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ”ที่ใช้หลัก ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ภายใต้กลยุทธ์ “เปลี่ยนขยะเป็นมูลค่าสร้างเสริมหลักประกันให้กับครอบครัว” ผ่านกลไกความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการและเป็นอาสมัครในการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายคือการมีแนวทางการปฏิบัติและการมีส่วนร่วมของสมาชิก ทั้งนี้ได้พบปัญหาสำคัญ คือ สมาชิกที่ไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองซึ่งจะไม่ได้รับเงินประกันชีวิตเมื่อเสียชีวิตมีจำนวนสูงถึง 3,913 คน และพบว่าเงินกองทุนในปัจจุบันสามารถจ่ายเงินให้สมาชิกได้เพียง 15 คน ผู้วิจัยจึงได้เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้มีการตัดยอดการขาดขายขยะทุกปีเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกกลับมาขายขยะอย่างสม่ำเสมอ และหากองทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงของกองทุนอีกด้วย


การบริหารการเปลี่ยนแปลงและการบริหารทรัพยากรบุคคลในช่วงวิกฤตโควิด-19: การศึกษาเปรียบเทียบโรงเรียนกวดวิชา 2 แห่ง, จิดาภา พินิจกิจวัฒน์ Jan 2020

การบริหารการเปลี่ยนแปลงและการบริหารทรัพยากรบุคคลในช่วงวิกฤตโควิด-19: การศึกษาเปรียบเทียบโรงเรียนกวดวิชา 2 แห่ง, จิดาภา พินิจกิจวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์การบริหารการเปลี่ยนแปลงและการบริหารทรัพยากรบุคคลของธุรกิจการศึกษาในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การศึกษานี้เป็นเชิงคุณภาพในโรงเรียนกวดวิชาสองแห่งในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 การเก็บข้อมูลดำเนินการโดยการเก็บเอกสารภายในองค์กร ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ผลการศึกษาด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงพบว่าโรงเรียนกวดวิชาทั้งสองแห่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนและการดำเนินงานภายในเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด บ่งชี้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตามโรงเรียนกวดวิชาสองแห่งมีความแตกต่างกัน คือ ความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน เนื่องจากฐานะทางการเงินและความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลายเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้ผู้เรียนบางส่วนกลับไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย อีกทั้งโรงเรียนที่ไม่เคยดำเนินการการเรียนการสอนออนไลน์มาก่อนต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวและบริหารการเปลี่ยนแปลงมากกว่า สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลโรงเรียนกวดวิชาทั้งสองแห่งมีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสอนออนไลน์ และดูแลสวัสดิการของบุคลากรเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงขององค์กร โครงสร้างแบบแบนราบและวัฒนธรรมแบบเน้นตัวตนของโรงเรียนกวดวิชาที่เอื้อต่อการปรับตัวช่วยให้การเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานมาเป็นรูปแบบออนไลน์เกิดขึ้นได้สำเร็จ จากข้อค้นพบดังกล่าวงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือ การส่งเสริมให้องค์กรด้านการศึกษามีการวางแผนด้านเทคโนโลยีล่วงหน้า ปรับรูปแบบวิธีการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยี ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลควรมีการอบรมด้านการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้น


การปรับตัวขององค์การ : กรณีศึกษา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, ภูริษรา แต้สวัสดิ์ Jan 2020

การปรับตัวขององค์การ : กรณีศึกษา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, ภูริษรา แต้สวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวขององค์การภาครัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ โดยเลือกกรณีศึกษา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กำลังได้รับผลกระทบในการดำเนินภารกิจในการให้บริการสาธารณะ จากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำเป็นต้องมีการปรับตัวองค์การตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากต่อองค์การภาครัฐ เนื่องจากองค์การภาครัฐมีข้อจำกัดหลายประการ ส่งผลให้การดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์การเพื่อการปรับตัวเกิดขึ้นได้ช้า ปรับตัวได้ไม่ทันการณ์ โดยผู้วิจัยจะมุ่งศึกษาถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ ที่ส่งอิทธิพลต่อบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้จำเป็นต้องปรับตัวมีลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์การและปรับตัวได้ทันตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยยังสามารถสร้างสมดุลระหว่างการยังคงสร้างผลประกอบการจำนวนมหาศาลจากการดำเนินงานให้กับภาครัฐ แม้จะมีการเก็บค่าบริการได้ต่ำ การสร้างความสามารถขององค์การให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ แต่ก็ยังสามารถยึดหลักการให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีวัตถุประสงค์ในการ ศึกษาสภาพแวดล้อมองค์การของที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวขององค์การและถอดบทเรียนจากวิธีการในการปรับตัวของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นองค์การประเภทรัฐวิสาหกิจให้สามารถ อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและทันต่อสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปเป็นแนวทางต่อยอดในการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจประเภทอื่นต่อไป โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสารในเบื้องต้นแล้ว ผู้วิจัยจะเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) เพื่อให้เสริมข้อมูลให้มีความรอบด้านและครอบคลุม จากการศึกษาพบว่าสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินงานขององค์การ ได้แก่ ปัจจัยภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบทั่วไปและเฉพาะงาน และปัจจัยภายในองค์การ จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้องค์การต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์การเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยการเปลี่ยนแปลงองค์การนั้นจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นเป็นตอน โดยต้องปฏิบัติแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จ ก่อนที่จะเดินหน้าไปยังขั้นตอนต่อไป โดยไม่สามารถลัดขั้นตอนได้ จนสิ้นสุดกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงที่องค์การตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งการที่จะทำให้แต่ละขั้นตอนสำเร็จได้นั้น จะประกอบไปด้วยปัจจัยความสำเร็จที่แตกต่างกัน ได้แก่ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ปัจจัยในด้านความพร้อมของทรัพยากร ที่องค์การปรับใช้ให้กลายเป็นโอกาสและเป็นจุดแข็งในการสนับสนุนการปรับตัวขององค์การ ปัจจัยทางด้านการบริหารที่ส่งผลให้องค์การสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จได้แก่ ภาวะความเป็นผู้นำ การจูงใจ ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ ทักษะในการวางแผนและการกำหนดตัวชี้วัด และการสื่อสารในองค์การที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการเปลี่ยนแปลงองค์การและกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์การ


การพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านระบบ E-Service : กรณีศึกษาสำนักงานประกันสังคม, กมลวรรณ สัมพันธกุล Jan 2020

การพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านระบบ E-Service : กรณีศึกษาสำนักงานประกันสังคม, กมลวรรณ สัมพันธกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และเก็บข้อมูลจากหนังสือ วารสารวิชาการ และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา พบว่า การพัฒนาระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน มีความสำเร็จในการให้บริการนายจ้างในการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน การนำส่งข้อมูลเงินสมทบ และการชำระเงินสมทบผ่านระบบ e-Payment ส่วนในส่วนผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ยังไม่สามารถพัฒนาในส่วนของการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วยหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การมีนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจัยรองลงมา ได้แก่ ภาวะผู้นำ งบประมาณ ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก และการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในสำนักงานประกันสังคม โดยการพัฒนาระบบอยู่จะบนพื้นฐานของการใช้งานง่าย การเข้าถึงง่าย มีความเสถียร มีความน่าเชื่อถือ และมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ ความต่อเนื่องของผู้บริหารงานด้านดิจิทัล การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก และการยอมรับจากผู้ใช้บริการ ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ ผู้รับบริการของสำนักงานประกันทุกคน ในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องงานประกันสังคม สิทธิประโยชน์ของตนเอง แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้รับบริการต้องการจะรับรู้ ต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องของผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็น


การรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในประเทศไทย, สิทธิพงษ์ ธรรมราช Jan 2020

การรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในประเทศไทย, สิทธิพงษ์ ธรรมราช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาความแตกต่างของปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสาร และปัจจัยด้านการรับรู้บทบาทที่มีผลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนกรุงเทพมหานครต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย กลุ่มประชากรในการศึกษา คือ คนกรุงเทพมหานครที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 400 คน ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 4 คน การวิเคราะห์ผลเชิงปริมาณใช้สถิติแบบพรรณา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปรด้วย Independent Samples t-test และ One-Way ANOVA/ F-test การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Multiple Linear Regression Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คนกรุงเทพมหานครมีการรับรู้บทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีระดับการรับรู้บทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากที่สุด (Mean =3.16, S.D.=0.81). มีทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยทัศนคติที่มีค่าสูงสุด คือ องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ(Mean=3.45, S.D.=1.00) และทัศนคติที่มีค่าต่ำสุด คือ บทบาทขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยในการพัฒนาและควบคุมอุตสาหกรรม (Mean=2.94 ,S.D.=1.07) ส่วนการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าระดับการศึกษา สถานที่กำลังศึกษาหรือจบหลักสูตร และอาชีพมีผลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารจากแหล่งข่าวสารที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และปัจจัยด้านการรับรู้บทบาทขององค์การสหประชาชาติในด้านการเผยแพร่การพัฒนาที่ยั่งยืนและด้านการผดุงกฏหมายระหว่างประเทศมีอิทธิพลส่งผลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


การรับรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ : การถอดบทเรียนจากผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมกำลังพลทหารบก, ณัฐธิดา ยืนยง Jan 2020

การรับรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ : การถอดบทเรียนจากผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมกำลังพลทหารบก, ณัฐธิดา ยืนยง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้กรมกำลังพลทหารบกได้ผลการประเมินการจัดการความรู้อยู่ในระดับดี ศึกษาการรับรู้และทัศนคติเกี่ยวกับ การกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และสังเคราะห์แนวทางการประยุกต์ใช้ผลการประเมินการจัดการความรู้ของกรมกำลังพลทหารบกเพื่อนำไปสู่การกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการแจกแบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กับข้าราชการทหาร สังกัดกรมกำลังพลทหารบก ผลการศึกษาพบว่า ทุกปัจจัยมีระดับการปรากฎในองค์การอยู่ในระดับมาก และมีผลทำให้กรมกำลังพลทหารบกได้รับผลการประเมินการจัดการความรู้อยู่ในระดับดี สำหรับการรับรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาและฝ่ายผู้บังคับบัญชาต่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กรมกำลังพลทหารบกมีการส่งเสริมการเรียนรู้ของกำลังพลทุกระดับภายในหน่วยงาน และมีกลยุทธ์ที่ใช้ในการกระตุ้นกำลังพลให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อค้นพบดังกล่าวงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะ คือ กรมกำลังพลทหารบกควรมีการส่งเสริมให้กำลังพลภายในหน่วยงานจัดทำความรู้ที่สำคัญในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต ควรสร้างรูปแบบการวัดและประเมินผลภายในหน่วยงานให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยให้กำลังพลทุกระดับมีส่วนร่วมในการจัดทำแบบประเมินผล นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาองค์การภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่นๆ ที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางของกรมกำลังพลทหารบกต่อไป


การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นผู้นำของตัวละครดอน วิโต้ คอร์ลีโอเน ในบริบทขององค์การอาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1945-1955) ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “เดอะก็อตฟาเธอร์”, เดชาพล อ้วนภักดี Jan 2020

การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นผู้นำของตัวละครดอน วิโต้ คอร์ลีโอเน ในบริบทขององค์การอาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1945-1955) ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “เดอะก็อตฟาเธอร์”, เดชาพล อ้วนภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ.1945-1955 ในภาพยนตร์เรื่องเดอะ ก็อตฟาเธอร์และ 2) เพื่อวิเคราะห์ความเป็นผู้นำของดอน วิโต้ คอร์ลีโอเนในบริบทขององค์การอาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ.1945-1955 จากภาพยนตร์เรื่องเดอะ ก็อตฟาเธอร์ การศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิจัยผ่านสื่อร่วมสมัยโดยการวิเคราะห์ภาพยนตร์ การศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ผลการวิจัยพบว่า สภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ.1945-1955 โดย“สภาพทางการเมือง” สมัยนั้นเน้นการให้ความเสมอภาคและเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนแก่ทั้งคนผิวขาวและผิวดำ การสืบทอดอุดมการณ์ การตรากฎหมายว่าด้วยสิทธิของพลมือง (สิทธิมนุษยชน) การยกเลิกรัฐบัญญัติแรงงานทั้งนี้สภาพการเมืองขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองของผู้หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมาต่อระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาโดยมีพรรคที่สำคัญ 2 พรรคคือ พรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ส่วน “สภาพทางเศรษฐกิจ” คือ การเร่งจัดงบประมาณการเงินให้สมดุล การยกเลิกกฎหมายการควบคุมค่าเช่า ค่าจ้างและราคาสินค้า ปรับปรุงแบบแผนการทำงานของรัฐบาลกลางให้ประหยัด ยกเลิกธุรกิจของรัฐที่ต้องแข่งขันกับเอกชน การลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและที่สำคัญคือ การลดภาษีรายได้ให้ประชาชนและ “สภาพสังคมและวัฒนธรรม” สืบเนื่องจากมาจากระบบเศรษฐกิจที่ดีทำให้สหรัฐอเมริกาในในสมัยนั้นได้สมยานามที่ว่า “สังคมที่มั่งคั่งจนเหลือกินเหลือใช้ (The Affluent Society)” และความเป็นผู้นำของดอนวิโต้ คอร์ลีโอเน ในบริบทขององค์การอาชญากรรมในภาพยนตร์เรื่องเดอะ ก็อตฟาเธอร์ พบว่า ความเป็นผู้นำของ ดอน วิโต้ คอร์ลีโอเน มีภาวะความเป็นผู้นำหลากหลายด้านประกอบด้วย ความกล้าหาญ ความเด็ดขาดและความรอบคอบในการตัดสินใจ วิสัยทัศน์ในเชิงธุรกิจ วิธีการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาคำพูดและการบริหารคน


การศึกษาเรื่อง“วงจรชีวิตองค์การ และ ภาวะผู้นำ ที่ส่งผลต่อการคงอยู่ขององค์การกรณีศึกษา ซีรี่ส์เกาหลี "Start-Up”, กฤษฎา เกรียงไกรกุล Jan 2020

การศึกษาเรื่อง“วงจรชีวิตองค์การ และ ภาวะผู้นำ ที่ส่งผลต่อการคงอยู่ขององค์การกรณีศึกษา ซีรี่ส์เกาหลี "Start-Up”, กฤษฎา เกรียงไกรกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องวงจรชีวิตองค์การ และ ภาวะผู้นำ จากการวิเคราะห์ซีรี่ส์เกาหลี “Start-Up” ว่าแนวคิดหรือทฤษฎีต่าง ๆ จะยังคงสามารถอธิบายปรากฎการณ์ในปัจจุบันได้ วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 1.การวิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมของตัวละครจากซีรี่ส์ “Start-Up” 2.การสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนข้อมูลกับแอดมิน Facebook Page และ 3.การสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าของธุรกิจ Startup หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ Startup เป็นหลัก โดยผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ผลการวิจัยพบว่า วงจรชีวิตองค์การในซีรี่ส์เกาหลี “Start-Up” โดยใช้แนวคิดวงจรชีวิตองค์การ ซึ่งแบ่งวงจรชีวิตองค์การออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ 1.การเป็นผู้ประกอบการ 2.การรวมกําลัง 3.การจัดระบบเป็นทางการและการควบคุม และ 4.โครงสร้างที่เบ่งบานขยายตัว พบว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถอธิบายวงจรชีวิตของธุรกิจ Startup ได้ และ การวิเคราะห์ภาวะผู้นำจากตัวละครหลักทั้ง 4 คน ในซีรี่ส์เกาหลี “Start-Up” ได้แก่ 1.ซอดัลมี 2.นัมโดซาน 3.ฮันจีพยอง และ 4.วอนอินแจ โดยใช้แนวคิดภาวะผู้นำนักแลกเปลี่ยน และ ภาวะผู้นำนักเปลี่ยนแปลงของ พบว่าแนวคิดทั้งสองสามารถสะท้อนภาวะผู้นำของตัวละครหลักทั้ง 4 ได้ อีกทั้งการสัมภาษณ์กับเจ้าของธุรกิจ Startup หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ Startup ยังสามารถยืนยันได้ว่าภาวะผู้นำที่เห็นจากการแสดงออกของตัวละครหลัก เป็นภาวะผู้นำที่สามารถพบได้จริงในโลกธุรกิจ


ความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงต่อการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ชัยทัตน์ พุทธเดช Jan 2020

ความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงต่อการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ชัยทัตน์ พุทธเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงต่อการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีวัตถุประสงค์สามประการ นั่นคือ ประการแรก คือ เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย ประการที่สอง คือ เพื่อสรุปประเด็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่าควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป และประการสุดท้าย คือ เพื่อวิเคราะห์ระดับความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงชาวไทยต่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจำนวน 403 คน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงประชาชนไทยที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นกรอบกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในระดับเห็นด้วยมาก และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ในระดับเห็นด้วยน้อย โดยประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผู้ยากจน และผู้ด้อยโอกาส และประเด็นเรื่องการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ เป็นประเด็นที่กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงมีความคิดเห็นว่าควรได้รับการปรับปรุงมากที่สุด จากการทดสอบอิทธิพลของปัจจัยด้านภูมิหลังทางประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อระดับความเชื่อมั่นพบว่า ปัจจัยด้านอายุมีผลโดยตรงต่อระดับความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากการทดสอบอิทธิพลของความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมความพอใจการทำงานของรัฐที่มีต่อระดับความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียง พบว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมความพอใจการทำงานของรัฐมีผลโดยตรงต่อระดับความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


ความคุ้มค่าของการจ้างงานผู้สูงอายุในองค์กรรัฐวิสาหกิจ: ศึกษากรณีโครงการนำร่องการจัดจ้างผู้สูงอายุช่วยปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Senior Ambassador - Asa), กล่าวขวัญ อดทน Jan 2020

ความคุ้มค่าของการจ้างงานผู้สูงอายุในองค์กรรัฐวิสาหกิจ: ศึกษากรณีโครงการนำร่องการจัดจ้างผู้สูงอายุช่วยปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Senior Ambassador - Asa), กล่าวขวัญ อดทน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาความคุ้มค่าของโครงการจ้างงานผู้สูงอายุในองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยใช้โครงการนำร่องการจัดจ้างผู้สูงอายุช่วยปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Senior Ambassador - ASA) ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นกรณีศึกษา งานวิจัยเสนอว่า ผู้ที่สนใจประเด็นความคุ้มค่าของโครงการจ้างงานผู้สูงอายุแบ่งการศึกษาเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ความคุ้มค่าต่อองค์กรและความคุ้มค่าต่อผู้สูงอายุ โดยผู้วิจัยใช้แนวคิดมูลค่าเพิ่ม (value added) และความคุ้มค่าด้านงบประมาณ ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าต่อองค์กร และแนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าต่อผู้สูงอายุ งานวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานร่วมกับผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ การจ้างงานผู้สูงอายุในด้านองค์กรนั้นมีความคุ้มค่าเนื่องจากสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานบริการจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้สูงอายุ แต่ก็มีความไม่คุ้มค่าต่อองค์กรด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ด้านการเรียนรู้ และด้านความอาวุโส ซึ่งความไม่คุ้มค่าเหล่านี้อาจบรรเทาได้ด้วยการวางคนให้เหมาะสมกับประเภทของงาน ในด้านของความคุ้มค่าของผู้สูงอายุ พบว่าการปฏิบัติงานของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการสร้างความคุ้มค่าทางด้านจิตใจจากการใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม และยังได้รับค่าตอบแทนเป็นรายได้และสวัสดิการ แต่อย่างไรก็ดีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ได้รับอาจไม่ถือได้ว่ามีความคุ้มค่าต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเท่าที่ควร ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการจ้างงานผู้สูงอายุควรจัดสรรหน้าที่ให้เหมาะสมความสามารถและสมรรถภาพของผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กรและผู้สูงอายุ และเพื่อพัฒนาการจ้างงานผู้สูงอายุในระยะยาวองค์กรควรมีการพัฒนาระบบการจ้างงานและจัดสรรสวัสดิการให้เหมาะสมเพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้นในปัจจุบัน


ความพึงพอใจของพนักงานภายในองค์การต่อนโยบายขององค์การสายการบินในช่วงประสบปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) กรณีศึกษา บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด, อุไรพรรณ สถานานนท์ Jan 2020

ความพึงพอใจของพนักงานภายในองค์การต่อนโยบายขององค์การสายการบินในช่วงประสบปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) กรณีศึกษา บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด, อุไรพรรณ สถานานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษานโยบายขององค์การในช่วงประสบปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทราบถึงความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อนโยบายขององค์การในช่วงประสบปัญหาโควิด-19 และศึกษาแนวทางการพัฒนานโยบายขององค์การสายการบิน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพนักงานภายใน บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด จำนวน 300 คน ผลการวิจัยพบว่า พนักงานมีความพึงพอใจต่อนโยบายขององค์การในช่วงประสบปัญหาโควิด-19 โดยรวมอยู่ในระดับมาก พบว่าด้านลักษณะงาน มีความพึงพอใจต่อการมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานในช่วงประสบปัญหาโควิด-19 ด้านนโยบาย มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ของผู้บังคับบัญชาอยู่ในระดับมาก แต่ความพึงพอใจต่อนโยบายการลดค่าตอบแทน/ค่าเบี้ยขยันรายเดือนอยู่ในระดับน้อย ด้านค่าจ้างและสวัสดิการ มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ด้านสภาพแวดล้อม มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ในการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงาน การใช้เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยและถุงมือ กับการจัดสภาพแวดล้อมของหน่วยงานที่เอื้อต่อการทํางาน การส่งเสริมอาชีวอนามัยสุขภาพและความปลอดภัย อาทิ การเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัส การอบฆ่าเชื้อห้องโดยสาร ด้านความมั่นคงและความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน มีความพึงพอใจต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานอยู่ในระดับมาก รวมถึงความพึงพอใจที่มีต่อการสนับสนุนให้บุคลากรได้นำความรู้มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพงานที่รับผิดชอบ การทำกิจกรรมกลุ่มประจำสัปดาห์ การใช้ทักษะในการทำงานใหม่ๆอยู่เสมอ และด้านพฤติกรรมในการทำงาน มีความพึงพอใจทุกข้ออยู่ในระดับมาก


ความยั่งยืนของมาตรการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือนกรณีศึกษาการติดธงแดงจาก International Civil Aviation Organization (Icao), เดชดิลก อัครพงษ์ภาคภูมิ Jan 2020

ความยั่งยืนของมาตรการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือนกรณีศึกษาการติดธงแดงจาก International Civil Aviation Organization (Icao), เดชดิลก อัครพงษ์ภาคภูมิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่อง ความยั่งยืนของมาตรการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือน กรณีศึกษาการติดธงแดงจาก International Civil Aviation Organization (ICAO) ชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามว่า การแก้ไขปัญหาด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของไทยที่สืบเนื่องจากการถูกติดธงแดงในปี พ.ศ. 2558 เป็นไปอย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยใช้แนวคิดความล้มเหลวภาครัฐ ธรรมาภิบาลภาครัฐ และหลักนิรภัยการบิน ในการวิเคราะห์ข้อมูล การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวม 9 คน งานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อค้นพบ คือ 1. ปัญหาหลักที่นำไปสู่การติดธงแดงโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คือการที่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หรือกรมการบินพลเรือนในขณะนั้น ไม่แยกออกจากการเป็นผู้ให้บริการ (Operator) อย่างชัดเจน รวมทั้งกระบวนการออกใบอนุญาตยังประสบกับปัญหาความล้มเหลวภาครัฐและปัญหาธรรมาภิบาล เช่น การแสวงหาค่าเช่า (Rent-seeking) และความล่าช้าจากระบบราชการ (Red tape) 2. การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการบินพลเรือนมีทิศทางที่เป็นไปอย่างยั่งยืนเนื่องจากเกิดการปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแลในระดับโครงสร้างองค์กร ทำให้ประเทศไทยมีหน่วยกำกับดูแลที่แยกเป็นอิสระจากหน่วยให้บริการ การปรับโครงสร้างดังกล่าวได้นำไปสู่กระบวนการออกใบอนุญาตที่รวดเร็วและตรวจสอบได้มากขึ้น และมีการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบและอยู่ในรูปดิจิทัล อย่างไรก็ดี งานวิจัยพบว่า การปฏิรูประบบการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อนิรภัยการบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ในตลาดการบินพลเรือนนอกเหนือจากระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในด้านการจัดการด้านข้อมูล (Data) ในอนาคตที่จะมีจำนวนมากและที่ผ่านมามีการโจมตีจากภายนอกอยู่บ่อยครั้งจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ อาจจะต้องมีการป้องกันและสำรองข้อมูลให้เหมาะสม และปัญหาการแสวงหาค่าเช่า (Rent-seeking) เนื่องจาก บุคลากรของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีจำนวนมากจึงอาจจะเกิดช่องว่างในการแสวงหาค่าเช่าได้


ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ 1กรณีศึกษา : ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบ้านปงและชุมชนบ้านปง 3 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, เกรียงไกร เตชะวรางกุล Jan 2020

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ 1กรณีศึกษา : ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบ้านปงและชุมชนบ้านปง 3 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, เกรียงไกร เตชะวรางกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบ้านปงและชุมชนบ้านปง 3 ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ 1 2) เพื่อศึกษารูปแบบ การก่อตัวและกระบวนการของความร่วมมือระหว่าง รพ.สต.และชุมชน 3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือ ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความร่วมมือ ได้แก่ ปัจจัยการรับรู้ปัญหาร่วมกัน ปัจจัยศักยภาพองค์การ ปัจจัยการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์การ ปัจจัยผู้นำชุมชน และปัจจัยความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิม 2) การก่อตัวของความร่วมมือเกิดจากการรับรู้ปัญหาร่วมกันว่าโรคโควิด-19 เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ศักยภาพของ รพ.สต.และชุมชนไม่เพียงพอจึงต้องร่วมมือกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีที่มีมานาน นอกจากนี้ยังพบว่าความไว้วางใจและความสัมพันธ์แบบเครือญาติยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความร่วมมือ 3) กระบวนการความร่วมมือ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (1) การเจรจา (2) การสร้างข้อตกลง (3) การดำเนินการ (4) การประเมินผล และ (5) การเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่การศึกษานี้ได้ค้นพบ 4) รูปแบบความร่วมมือ เป็นความร่วมมือแบบภาครัฐและประชาชนร่วมกันดำเนินการ 5) ปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือ ได้แก่ ขาดแคลนทรัพยากรในการป้องกันโรค สมาชิกชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคทำให้เกิดความตื่นตระหนก และผู้นำชุมชนขาดอำนาจตามกฎหมายในการรับมือกับโรคระบาด


ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในที่ทำงานกับความผูกพันต่อองค์กร:กรณีศึกษาข้าราชการตำรวจสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ, ณัฐณิชา ขยายแย้ม Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในที่ทำงานกับความผูกพันต่อองค์กร:กรณีศึกษาข้าราชการตำรวจสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ, ณัฐณิชา ขยายแย้ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระดับความเครียด และระดับความผูกพันต่อองค์กร รวมถึงเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความเครียดในที่ทำงานและความผูกพันธ์ต่อองค์กรของข้าราชการตำรวจสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างข้าราชการตำรวจสังกัด สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 108 นาย สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยดำเนินการสัมภาษณ์โดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 5 นาย จาก 5 กองกำกับการ ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุ 18 – 30 ปี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ระยะเวลาในการทำงานที่สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติต่ำกว่า 5 ปี สถานภาพโสด รายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 10,001 - 20,000 บาท 2) ข้าราชการตำรวจมีความเห็นเกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงานด้านลักษณะงานอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก รวมถึงมีความเห็นเกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงานอีก 4 ด้านได้แก่ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กร ด้านโครงสร้างและบรรยากาศองค์กร ด้านความก้าวหน้าในวิชาชีพ และด้านบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ในระดับความเห็นด้วยน้อย 3) ข้าราชการตำรวจมีความเห็นเกี่ยวกับความผูกพันต่อองค์กรในด้านการคงไว้ซึ่งสมาชิกภาพอยู่ในระดับเห็นด้วยน้อย ในส่วนของความเห็นเกี่ยวกับความผูกพันต่อองค์กรอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการทำงานเพื่อองค์กร และด้านการยอมรับเป้าหมายองค์กร มีระดับความเห็นด้วยมาก 4) ปัจจัยด้านเพศ อายุ ระยะเวลาในการทำงานที่สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ และรายได้ต่อเดือนที่แตกต่างกัน มีอิทธิพลต่อความผูกพันองค์กรที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าความคิดเห็นเกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงานในด้านลักษณะงาน และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กร มีอิทธิพลต่อระดับความผูกพันองค์กร


The Relationship Between Foreign Exchange Rates (Usd/Thb) And Financial Market Variables, Chitchanok Lertmongkol Jan 2020

The Relationship Between Foreign Exchange Rates (Usd/Thb) And Financial Market Variables, Chitchanok Lertmongkol

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research was conducted to study the relationship between the USD/THB exchange rate and financial market variables. Which such variables are Thai Stock Exchange Index (SET), Dow Jones Industrial Index (DJI), Gold Spot Price and the central bank of the United States balance sheet (Federal Balance Sheet) using time series secondary data. From January 2009 to December 2019, the Ordinary Least Square (OLS) method was studied and the long-term equilibrium relationship was studied. (Cointegration) and short-term adaptation model (Error Correction Model: ECM). The results of the study showed that when using the least squares method to find the correlation of …


ที่มาและพลวัตของนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545, อนุวัตร จินตกสิกรรม Jan 2020

ที่มาและพลวัตของนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545, อนุวัตร จินตกสิกรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เรื่องนี้มุ่งตอบคำถามที่ว่านโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 มีกระบวนการก่อตัวและพัฒนาการของการดำเนินนโยบายในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร โดยใช้แนวคิดทฤษฎีการระบุปัญหาและการก่อตัวของนโยบาย และแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นแนวคิดหลักในการตอบคำถามวิจัยครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วยการเก็บข้อมูลจาก 2 ส่วน ได้แก่ การศึกษาวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย จำนวน 11 คน ผลการศึกษา พบว่า ที่มาของนโยบายเกิดขึ้นมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานทหารกับประชาชนในพื้นที่สงวนหวงห้ามของทหารจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2532 ที่นำไปสู่การชูประเด็นปัญหาการบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของรัฐเหนือปัญหาสิทธิในที่ดินของประชาชน และปัญหาการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้การเกิดขึ้นของกลไก กบร. ยังเป็นการดึงอำนาจการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของประชาชนจากกลไกรัฐอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม มาอยู่ภายใต้กลไกของส่วนกลางที่ กบร. กำหนดขึ้น ในส่วนพลวัตของนโยบาย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของนโยบายมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับรายละเอียดของเนื้อหาและขั้นตอนการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ของนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการพิสูจน์สิทธิในที่ดินซึ่งเป็นกลไกหลักของการแก้ไขปัญหา และเป็นกระบวนการที่มีปัญหาจำนวนมากในระดับปฏิบัติ ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ คือ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควรใช้โอกาสในการโอนย้ายหน่วยงานไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ทบทวนกระบวนทัศน์ในการดำเนินนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ไม่ควรจำกัดอยู่แค่เพียงกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินเท่านั้น รวมถึงควรปรับปรุงแก้ไขมาตรการและแนวทางในการดำเนินงานที่ยังมีปัญหาอุปสรรคและความล่าช้าอยู่ในปัจจุบัน ให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น


The Relationship Between Social Media Influencers And Travel Intention Of Thai People During Covid-19, Teeraporn Rotjanasiripong Jan 2020

The Relationship Between Social Media Influencers And Travel Intention Of Thai People During Covid-19, Teeraporn Rotjanasiripong

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The coronavirus pandemic has decreased the number of traveler of Thai people. As a part of marketing to help tourism industry, social media influencers become an important marketing tools on tourism segment to raise brand awareness and increase the number of people to travel. This research would like to study the relationship on social media influencers and other variable that relate to the travel intention of Thai people during the Covid-19 The survey collects 322 respondents from four generations of Thai people who intend to travel within Thailand. The method of research uses quantitative research collecting primary data by using …


ปัจจัยที่พัฒนาเกษตรเชิงนวัตกรรม: กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรในจังหวัดราชบุรี, สโรชินี เตียวธนโชติ Jan 2020

ปัจจัยที่พัฒนาเกษตรเชิงนวัตกรรม: กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรในจังหวัดราชบุรี, สโรชินี เตียวธนโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่พัฒนาการเกษตรเชิงนวัตกรรม: กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรในจังหวัดราชบุรี การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยสองประเด็น ประเด็นแรกเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรเชิงนวัตกรรมประเด็นที่สองเพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรเชิงนวัตกรรม ผลการศึกษาพบว่า คือ กลุ่มเกษตรกรได้รับรางวัลการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี มีความเห็นว่าปัจจัยการตลาดเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดและในยุคปัจจุบันเทคโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับการเกษตรถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจัยรองลงมาคือปัจจัยเรื่องการบริหารงานส่งเสริมการเกษตรให้ภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีการบูรณาการร่วมกันในการส่งสริม ปัจจัยที่มีผลน้อยที่สุดคือปัจจัยส่วยบุคคล กลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับรางวัลการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี แต่ได้รางวัลรับรองมาตราฐานอื่นๆนั้นมีมุมมองความคิดที่ต่างจากกลุ่มเกษตรกรได้รับรางวัลการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีโดยให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารงานส่งเสริมของภาครัฐมากกว่าเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จังหวัดราชบุรี มองว่าภาคการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการและช่วยกันการส่งเสริมพัฒนาโดยต้องช่วยเกษตรกรในเรื่องการตลาดและเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเกษตรกรได้มากในการพัฒนาการเกษตรเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ข้อเสนอแนะจากการวิจัย การบริหารงานส่งเสริมการเกษตรให้เกิดการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรเชิงนวัตกรรมนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาดมากขึ้นเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกษตรกรให้ความสำคัญและยังมองว่าปัจจุบันยังคงเป็นปัญหา


ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ กรณีศึกษา งานสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร, สโรชา สาตร์บำรุง Jan 2020

ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ กรณีศึกษา งานสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร, สโรชา สาตร์บำรุง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ซี่งกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณคือผู้ใช้งานระบบ จำนวน 567 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและวิเคราะห์ด้วยสถิติหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ T-Test สถิติ One-Way ANOVA และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพคือผู้ใช้งานระบบ จำนวน 8 คน ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและแปรผลโดยการวิเคราะห์จากเนื้อหา จากนั้นจะนำผลของทั้งสองวิธีมาเปรียบเทียบกัน ผลการวิจัยพบว่า 1) ระดับการยอมรับของผู้ใช้งานอยู่ในระดับมาก 2) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การใช้ระบบ ที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้งานมีระดับการยอมรับระบบที่แตกต่างกัน แต่สำหรับสถานภาพในการทำงาน ในการวิจัยเชิงปริมาณพบว่าไม่มีผล แต่การวิจัยเชิงคุณภาพพบว่ามีผล 3) ปัจจัยหลัก ได้แก่ การรับรู้ความง่ายในการใช้งาน ความน่าเชื่อถือของระบบ และการสนับสนุนจากองค์กร เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับของผู้ใช้งาน ส่วนการรับรู้ประโยชน์ของการใช้งาน ในเชิงปริมาณพบว่าไม่มีผล แต่ในเชิงคุณภาพพบว่ามีผล 4) ในการพัฒนาระบบ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ให้ข้อมูลวิธีใช้งานอย่างง่ายและข้อมูลด้านความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของระบบ ตลอดจนผลักดันให้องค์กรของผู้ใช้สนับสนุนระบบ


ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันธ์ในองค์การของบุคลากร: กรณีศึกษาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, คนธรัตน์ อ้นขวัญเมือง Jan 2020

ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันธ์ในองค์การของบุคลากร: กรณีศึกษาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, คนธรัตน์ อ้นขวัญเมือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันในองค์การของบุคลากร กรณีศึกษา : สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษาถึงระดับความผูกพันที่มีต่อองค์การของบุคลากร ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผูกพันที่มีต่อองค์การของบุคลากร และปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันที่มีต่อองค์การของบุคลากร โดยกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ พนักงานสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในสายงานด้านความปลอดภัยทางการบินพลเรือน ด้านการรักษาความปลอดภัย การกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน จำนวน 157 คน และใช้เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถาม เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีความเป็นอิสระต่อกัน (Independent Sample T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) การวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และช่วงอายุอยู่ส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มคนช่วงอายุ 31 – 40 ปี สถานภาพส่วนใหญ่แล้วมีสถานภาพสมรส ระดับการศึกษาปริญญาตรี และมีอายุงานส่วนใหญ่อยู่ที่ 3 ปี ในส่วนของการวิเคราะห์ระดับความผูกพันต่อองค์การของบุคลากร สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่ามีระดับความผูกพันต่อองค์การอยู่ในระดับมาก และการพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้บุคลากรมีความรู้สึกผูกพันต่อองค์การ ได้แก่ ปัจจัยด้านภาวะผู้นำ เป็นปัจจัยที่บุคลากรให้ความสำคัญมาก ในส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์การที่มีความสัมพันธ์กับผลของความผูกพันต่อองค์การของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้แก่ ได้แก่ ปัจจัยวัฒนธรรมหรือจุดมุ่งหมายขององค์การ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ค่าตอบแทน และคุณภาพชีวิต


ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ กรณีศึกษา กัญชง ภายใต้การบริหารงานของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.), ปานธิดา วัชระคิรินทร์ Jan 2020

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ กรณีศึกษา กัญชง ภายใต้การบริหารงานของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.), ปานธิดา วัชระคิรินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ กรณีศึกษา กัญชง วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ และสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ การวิจัยใช้แนวทางเชิงคุณภาพ ด้วยการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ นโยบายและกฎหมายด้านยาเสพติด ใช้เทคนิควิจัยการสัมภาษณ์ โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ทำงานในการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ้น 20 คน จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านทิศทางการปรับเปลี่ยนของนโยบายยาเสพติดโลก ปัจจัยด้านผู้บริหารฝ่ายการเมือง ปัจจัยด้านผู้บริหาร ป.ป.ส. ปัจจัยด้านผู้ปฏิบัติงาน ป.ป.ส. ปัจจัยด้านกลุ่มทุน ปัจจัยด้านเกษตรกร และปัจจัยด้านกฎหมาย เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ กรณีศึกษา กัญชง โดยทุกปัจจัยจะส่งผลต่อกันในลักษณะ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 กระแสปัญหา ส่งผลต่อระดับที่ 2 กระแสนโยบายและการเมืองของชนชั้นนำ และส่งผลต่อระดับที่ 3 การตอบสนองนโยบายของ สำนักงาน ป.ป.ส. ปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยในการขับเคลื่อนกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจ การขาดหน่วยงานหลักในการผลักดันกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจ และการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ คือ ควรมีแนวทางการพัฒนาด้านผู้บริหาร ควรให้การผลักดันนโยบายส่งเสริมกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ด้านผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานเชิงรุกและขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุตามเป้าหมาย ด้านกลุ่มทุน ความรู้เกี่ยวกับระเบียบ การอนุญาต การผลิต และกระบวนการผลิต ควรมีการอบรมแก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ด้านเกษตรกร ควรศึกษากฎหมายกัญชงให้ชัดเจน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หน่วยงานหลัก ควรเป็นสำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ กรณีศึกษาหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตทีม 2, วิภู อิทธิกมลกุล Jan 2020

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ กรณีศึกษาหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตทีม 2, วิภู อิทธิกมลกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษา “ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ กรณีศึกษาหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตทีม 2” มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ และเพื่อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ของหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตทีม 2 การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณด้วยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน 40 ชุด และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 8 ราย เครื่องมือที่ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์มากที่สุด คือ การสอบสวน 2) ปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ คือ วัสดุครุภัณฑ์ และ 3) สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ควรประกอบด้วยการสร้างความร่วมมือแบบเครือข่ายภาคี การลดขั้นตอน การสำรวจความพึงพอใจเพื่อความโปร่งใส


กลยุทธ์ และตัวชี้วัดประสิทธิผลการตลาดเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ของธุรกิจในประเทศไทย, ชัชวาลย์ หลิวเจริญ Jan 2020

กลยุทธ์ และตัวชี้วัดประสิทธิผลการตลาดเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ของธุรกิจในประเทศไทย, ชัชวาลย์ หลิวเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) อธิบายกระบวนการวางแผนกลยุทธ์การตลาดเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ของธุรกิจในประเทศไทย และ 2) พัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิผลการตลาดเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ของธุรกิจในประเทศไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ด้วยการสัมภาษณ์นักวิชาชีพด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัลและนักวิชาการด้านการสื่อสารการตลาดจำนวนรวม 40 คน และใช้การวิจัยเชิงสำรวจนักการตลาดดิจิทัลที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามเกณฑ์การแบ่งของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) จำนวนทั้งสิ้น 360 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory factor analysis) ผลการวิจัยพบว่า การตลาดเนื้อหาเป็นกระบวนการในการสื่อสารเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาด โดยมีกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การทำความเข้าใจธุรกิจ 2) การวิเคราะห์สถานการณ์และบริบททางการตลาด 3) การกำหนดวัตถุประสงค์ 4) การกำหนดและหาความต้องการเชิงลึกของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย 5) การกำหนดความคิดและข้อความหลักที่ต้องการจะสื่อสาร 6) การกำหนดช่องทางในการสื่อสาร 7) การวัดประสิทธิผล และ 8) การปรับปรุงประสิทธิผลให้ดีขึ้น โดยการตลาดเนื้อหาในบริบทสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะที่ต้องพิจารณาถึงนโยบายด้านเนื้อหาของตราสินค้า ความโปร่งใสของเนื้อหา และหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวที่จะส่งผลกระทบต่อตราสินค้า ตัวชี้วัดประสิทธิผลการตลาดเนื้อหาบนสื่อออนไลน์มี 37 ตัวชี้วัด สามารถจัดกลุ่มได้ 9 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างโอกาสในการขาย 2) การรับรู้ 3) ความผูกพันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 4) ยอดขาย 5) ความสนใจ 6) ค่าใช้จ่ายต่อการเกิดพฤติกรรมที่ต้องการ 7) ความผูกพันบนเว็บไซต์ 8) การเปิดรับเนื้อหา และ 9) การสนับสนุนตราสินค้า


กลศิลป์ในการเล่าเรื่องและปฏิสัมพันธ์ของผู้อ่านในชุมชนนิยายออนไลน์, รัตติยา กาญจนาภิญโญกุล Jan 2020

กลศิลป์ในการเล่าเรื่องและปฏิสัมพันธ์ของผู้อ่านในชุมชนนิยายออนไลน์, รัตติยา กาญจนาภิญโญกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง “กลศิลป์ในการเล่าเรื่องของนิยายออนไลน์ในสังคมไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลศิลป์ในการเล่าเรื่องของนิยายออนไลน์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านนิยายออนไลน์และการผลิตสร้างนิยายออนไลน์ และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกลศิลป์ในการเล่าเรื่องและปฏิสัมพันธ์ของผู้อ่านในชุมชนนิยายออนไลน์ แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเขียนและการผลิตนิยายออนไลน์ การเล่าเรื่องของนิยายรัก การอ่านนิยายออนไลน์ และปฏิสัมพันธ์บนชุมชนนิยายออนไลน์ ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เอกสาร วิเคราะห์ตัวบท การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่า กลศิลป์ในการเล่าเรื่องของนิยายออนไลน์เป็นชั้นเชิงทางภาษาและทักษะการเขียนอันแสดงถึงความเชี่ยวชาญของนักเขียนนิยายออนไลน์ในการประยุกต์ใช้อิทธิพลของ Web 2.0 และการเล่าเรื่องตามขนบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง โดยนิยายออนไลน์ในบริบทสังคมไทยได้รับอิทธิพลในประเด็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ตัวตนของผู้เขียน การใช้ภาษาแบบบทสนทนา การประยุกต์จังหวะความเร็วบนอินเทอร์เน็ต สื่อประสม ทางเชื่อมข้อมูลต่างๆ ให้เข้ากับการเล่าเรื่องของนิยายออนไลน์รายตอน รวมถึงการยินยอมให้ปฏิสัมพันธ์บนชุมชนนิยายออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสร้างนิยายออนไลน์ ดังนั้น บันเทิงคดีออนไลน์จึงมีเนื้อหากระชับ อ่านเข้าใจง่าย โครงเรื่องไม่ซับซ้อน ยังคงขนบการเล่าเรื่องของนิยายรัก บอกเล่าเรื่องราวของสังคมไทยร่วมสมัย สะท้อนถึงความสามัญธรรมดาของปุถุชน และเป็นความบันเทิงที่มวลชนสามารถเข้าถึง นอกจากนี้ ชุมชนนิยายออนไลน์ในสังคมไทยส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมการสร้างสรรค์วรรณกรรมระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ประกอบด้วย กิจกรรมการขัดเกลาต้นฉบับร่วมกัน การสนับสนุนซึ่งกันและกัน การแสดงออกถึงความรักชอบในนิยายออนไลน์ร่วมกัน รวมถึงการตั้งข้อสังเกตและอภิปรายร่วมกัน ทั้งนี้ ปฏิสัมพันธ์ของผู้อ่านส่งผลต่อการผลิตสร้างนิยายออนไลน์ทางอ้อม โดยผู้เขียนจะยินยอมรับอิทธิพลจากผู้อ่านในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังวางเค้าโครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง และการเขียนภาคต่อหรือเรื่องใหม่ ในบางกรณี ผู้เขียนอาจจะสร้างกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วรรณกรรมร่วมกัน ผู้วิจัยสร้างโมเดลทฤษฎีเกี่ยวกับกลศิลป์ในการเล่าเรื่องและปฏิสัมพันธ์ของผู้อ่านในชุมชนนิยายออนไลน์โดยคำนึงถึงกระบวนการต่อรองระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านในการสร้างนิยายออนไลน์ ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นจากขั้นตอนการผลิตสร้างนิยายออนไลน์ ขั้นตอนการสื่อสารเพื่อการต่อรอง และปฏิบัติการทางวรรณกรรมบนชุมชนนิยายออนไลน์ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิตนิยายออนไลน์


กลวิธีทางวาทศาสตร์ของผู้นำเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดสดที่มีประสิทธิผล บนแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย, ธนพล คันทรง Jan 2020

กลวิธีทางวาทศาสตร์ของผู้นำเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดสดที่มีประสิทธิผล บนแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย, ธนพล คันทรง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา กลวิธีทางวาทศาสตร์ในการสร้าง 1) ความน่าเชื่อถือของผู้ส่งสาร (Ethos) 2) ตรรกะ (Logos) และ 3) การมีส่วนร่วม (Pathos/Engagement) ที่ผู้นำเสนอขายใช้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดสด (Live streaming) ที่มีประสิทธิผลบนแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยใช้กรอบแนวคิดการสร้างสรรค์เชิงวาทศาสตร์บนสื่อใหม่และวิธีวิจัยแบบวาทวิเคราะห์ (Rhetorical analysis) ในการศึกษาคลิปวิดีโอบันทึกการถ่ายทอดสดที่มีประสิทธิผลบนแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซ จำนวน 15 คลิป สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยบันทึกความถี่ที่พบในแต่ละกลวิธีร่วมด้วย ผลการวิจัยพบว่า กลวิธีที่ผู้นำเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดสดใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกในแต่ละองค์ประกอบ เป็นดังนี้ องค์ประกอบด้านการสร้างความน่าเชื่อถือ (Ethos) ได้แก่ (1) การแสดงความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (2) การแสดงความรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มที่ใช้ในการนำเสนอ และ (3) การมอบของรางวัลหรือสิทธิประโยชน์ให้กับผู้รับสาร องค์ประกอบด้านการสร้างตรรกะ (Logos) ได้แก่ (1) การอธิบายคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ประกอบการสาธิตที่สอดคล้องและเห็นภาพ (2) การสื่อสารให้เห็นถึงความคุ้มค่าทางการเงินในการซื้อสินค้า และ (3) การให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายและรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน และองค์ประกอบด้านการสร้างการมีส่วนร่วม (Pathos/Engagement) ได้แก่ (1) การมีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้สึกมีตัวตนให้กับผู้รับสาร (2) การสื่อสารเนื้อหา (Content) อื่นๆ ที่ไม่ใช่การแนะนำผลิตภัณฑ์หรือกล่าวถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว และ (3) การแสดงความเข้าใจและความเอาใจใส่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เมื่อวิเคราะห์การใช้กลวิธีทางวาทศาสตร์จำแนกตามประเภทสินค้า พบว่า ผู้นำเสนอขายใช้กลวิธีในการขายสินค้าแต่ละประเภทมากน้อยแตกต่างกัน เช่น สินค้าประเภทแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋าสตรี) จะเน้นกลวิธีในการอธิบายประกอบการสาธิตการใช้งานสินค้ามากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้นำเสนอขายส่วนใหญ่ใช้วิธีการแสดงหลักฐาน (Non-artistic proofs) เช่น การสาธิตการใช้งานสินค้า การแสดงคุณลักษณะของสินค้าอย่างชัดเจน ในขณะที่ ความสามารถในการแสดงเหตุผล (Artistic proofs) เช่น การใช้ซิลลอจิซึม (Syllogism) ซึ่งเป็นการสร้างแสดงเหตุผลโดยเชื่อมโยงข้อสรุปจากข้อเสนอ (Premise) มักใช้กับสินค้าที่สาธิตการใช้งานได้ยาก เช่น สินค้าอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์


การสำรวจปัญหาและแนวทางพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย, ณัฐนันท์ เทียมเมฆ Jan 2020

การสำรวจปัญหาและแนวทางพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย, ณัฐนันท์ เทียมเมฆ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และ 2) นำเสนอแนวทางพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การวิจัยเอกสาร ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้ผลักดันนโยบายและแรงงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ประเภททีมงานใต้เส้น เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่ององค์ประกอบคุณภาพชีวิต 4 ด้าน มาเป็นกรอบในการศึกษาปัญหา ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ผลการวิจัยพบว่า แรงงานเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้ง 4 ด้าน โดยปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดคือ ปัญหาสุขภาพและการพักผ่อน ปัญหาอุบัติเหตุในการทำงาน ปัญหาที่เกิดจากสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ เป็นต้น โดยผู้วิจัยหยิบยกปัญหาที่มีความสำคัญเหล่านี้มานำเสนอเป็นแนวทางพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ในรูปแบบข้อเสนอแนะต่อ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ประกอบไปด้วยแนวทาง ส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม ส่งเสริมการศึกษาด้านภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ สนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงาน และ พัฒนาหน่วยงานด้านภาพยนตร์ที่มีบทบาทต่อการกำกับดูแลโดยตรง ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนให้การออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจ และมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ


การสื่อสารนวัตกรรมแอปพลิเคชันกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย, วรดา สมบุญตนนท์ Jan 2020

การสื่อสารนวัตกรรมแอปพลิเคชันกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย, วรดา สมบุญตนนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึง การเปิดรับ การรับรู้คุณสมบัติ และพฤติกรรมในการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันของกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์โดยจำแนกตามลักษณะทางประชากร และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้คุณสมบัติ กับพฤติกรรมในการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคของกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวกโดยเลือกเก็บแบบสอบถามทางออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มประชากรชาวไทยกำหนดในรูปแบบการวัดผลครั้งเดียวจำนวน 400 ชุด ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากแอปพลิเคชันในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดเก็บข้อมูลในเดือนกันยายน ถึง เดือนตุลาคม 2563 ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 โดยกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ และนำผลมาวิเคราะห์ใน SPSS ในการศึกษานี้ พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีการเปิดรับด้านการใช้บริการแอปพลิเคชันอสังหาริมทรัพย์ เฉลี่ยน้อยกว่า 30 นาที ต่อวัน และมีการเปิดรับข้อมูล 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการติดตามหรือเปิดรับแอปพลิเคชันเกินกว่า 2 ปี 2) กลุ่มตัวอย่างมีระดับการรับรู้คุณสมบัติต่างๆ แอปพลิเคชันของกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเฉลี่ยคะแนนแล้วโดยรวมอยู่ในระดับการรับรู้มาก ทั้ง 3 ประเด็น 3) การรับรู้คุณสมบัติและพฤติกรรมในการใช้แอปพลิเคชันของกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมในการใช้แอปพลิเคชันของกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ และมีความสัมพันธ์ในระดับสูง


ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับชมต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่มีการสื่อสารเนื้อหาไม่เหมาะสม ด้านการคุกคามทางเพศในรายการเพื่อความบันเทิงไทย, ธาวิน แจ่มแจ้ง Jan 2020

ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับชมต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่มีการสื่อสารเนื้อหาไม่เหมาะสม ด้านการคุกคามทางเพศในรายการเพื่อความบันเทิงไทย, ธาวิน แจ่มแจ้ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การคุกคามทางเพศถือเป็นพฤติกรรมที่ส่อในเรื่องเพศอย่างไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดผลกระทบทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ถูกกระทำ ถือเป็นปัญหาสังคมที่ขาดการป้องกันและแก้ไขเท่าที่ควร แต่พฤติกรรมไม่เหมาะสมนี้กลับได้รับการสื่อสารเป็นเนื้อหาในรายการเพื่อความบันเทิงไทยจนผู้รับชมคุ้นชิน การวิจัยนี้จึงเป็นการวิจัยเชิงผสม ประกอบด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและรายละเอียดรายการเพื่อความบันเทิงที่ปรากฏรูปแบบและคู่กรณีการคุกคามทางเพศ รวมถึงสำรวจการรับรู้เนื้อหาดังกล่าว, ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับชมในฐานะผู้บริโภคสื่อต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่สื่อสารเนื้อหาดังกล่าวด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า รายการเพื่อความบันเทิงไทยปรากฏเนื้อหาการคุกคามทางเพศด้วยวัจนภาษา (Verbal Harassment) มากที่สุด, อวัจนภาษา (Non-Verbal Harassment), รูปแบบอื่นๆ และทางร่างกาย (Physical Harassment) ตามลำดับ และปรากฏคู่กรณีการคุกคามทางเพศแบบชายคุกคามหญิง (Male Harasses Female), หญิงคุกคามชาย (Female Harasses Male), รักต่างเพศคุกคามรักร่วมเพศ (Heterosexual Harasses Homosexual), รักร่วมเพศคุกคามรักต่างเพศ (Homosexual Harasses Heterosexual) และคู่กรณีอื่นๆ พบว่าเพศชายเป็นผู้กระทำการคุกคามทางเพศมากที่สุด และเพศหญิงเป็นผู้ถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด ด้วยสาเหตุ/จุดประสงค์ เพื่อสร้างความบันเทิงในการดำเนินรายการ, การแสดงทัศนคติต่อผู้ถูกคุกคาม, ความต้องการทางเพศของผู้คุกคาม และความเคยชินต่อการคุกคามทางเพศ ทั้งนี้องค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงสื่อสารเนื้อหาดังกล่าวร่วมกับการทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันผ่านเทคนิคการตัดต่อและลำดับภาพ เพื่อลดทอนความรุนแรงให้สามารถออกอากาศได้ กลุ่มตัวอย่างผู้รับชมในฐานะผู้บริโภคสื่อที่รับชมรายการเพื่อความบันเทิงเป็นประจำ 3 วันต่อสัปดาห์ อายุ 18 ขึ้นไป จำนวน 425 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 24-34 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีรายได้เฉลี่ย 10,001-20,000 บาท มีการรับรู้เนื้อหาดังกล่าวในระดับบ่อยๆ พบว่าผู้รับชมที่มีเพศแตกต่างกัน มีการรับรู้เนื้อหาดังกล่าวที่แตกต่างกัน ส่วนทัศนคติของผู้รับชมต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่สื่อสารเนื้อหาดังกล่าวอยู่ในระดับไม่เห็นด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้รับชมต่อองค์กรฯ ที่อยู่ในระดับไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การสื่อสารเนื้อหาไม่เหมาะสมด้านการคุกคามทางเพศขององค์กรธุรกิจสื่อบันเทิง สามารถส่งผลกระทบต่อการสื่อสารองค์กรในด้านความนิยม และผลกำไรที่ลดลงขององค์กรฯ ในระยะยาว


พฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บ (แกร็บฟู้ด)ในภาวะวิกฤตโควิด-19, ปิยภัสสร์ ดรจันแดง Jan 2020

พฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บ (แกร็บฟู้ด)ในภาวะวิกฤตโควิด-19, ปิยภัสสร์ ดรจันแดง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1.) การรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด ในภาวะวิกฤตโควิด-19 2.) ความแตกต่างทางลักษณะประชากรกับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด 3.) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง การรับรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด และ 4.) ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 ชุด ผลการวิจัยพบว่า 1.) กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ถึงผลประโยชน์ของแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ดในภาวะวิกฤตโควิด-19 อยู่ในระดับสูง มีทัศนคติที่มีต่อแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ดในภาวะวิกฤตโควิด-19 อยู่ในระดับทัศนคติดีมาก และมีพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ดสูงกว่าในช่วงเวลาปกติ 2.) พฤติกรรมการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ดในภาวะวิกฤตโควิด-19 แตกต่างกันในด้านลักษณะประชากร ได้แก่ เพศ ระดับการศึกษา และรายได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3.) การรับรู้ และทัศนคติที่มีต่อแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด มีความสัมพันธ์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอยู่ในระดับที่ต่ำมากกับพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด ส่วนด้านทัศนคติที่มีต่อแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกและอยู่ในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับการรับรู้ถึงผลประโยชน์ของแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด และ 4.) ปัจจัยที่อธิบายพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันแกร็บฟู้ด ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้ดีที่สุด คือ ทัศนคติด้านการตัดสินใจใช้งานแอปพลิเคชันฟู้ด


ภาพแทนและการสร้างตัวละครขันทีในสื่อบันเทิงคดีไทย, ปพิชญา วัฒนไกร Jan 2020

ภาพแทนและการสร้างตัวละครขันทีในสื่อบันเทิงคดีไทย, ปพิชญา วัฒนไกร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สื่อบันเทิงคดีไทยประเภทละครและภาพยนตร์เชิงย้อนยุคมักเล่าเรื่องราวของชนชั้นปกครองภายในราชสำนัก ตัวละครหลักมักเป็นกษัตริย์ เจ้านาย หรือทหารชั้นผู้ใหญ่ หนึ่งในตัวละครที่นานครั้งจะได้รับการกล่าวถึงคือตัวละครขันที โดยในสื่อบันเทิงคดีไทยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน (2563) มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544) ละครโทรทัศน์เรื่อง ศรีอโยธยา (2560 – 2561) และละครโทรทัศน์เรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว (2561) การวิจัยนี้แสดงการเปรียบเทียบภาพแทนของขันทีในสื่อบันเทิงคดีและขันทีในประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงวิเคราะห์การสร้างตัวละครและการเล่าเรื่อง โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาด้วยวิธีวิเคราะห์ตัวบท (Content Analysis) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าภาพแทนของขันทีในสื่อบันเทิงคดีไทยนั้นมีความแตกต่างกับขันทีที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยจะแตกต่างไปตามความตั้งใจของผู้สร้างสื่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งมีที่มาจากการตีความประวัติศาสตร์และอ้างอิงจากงานที่สร้างมาก่อนหน้า แต่จุดร่วมคือ ความเป็นอื่น (Otherness) และความเควียร์ (Queerness) ส่งผลให้ขันทีสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จำเพาะและได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นในสังคม และถึงแม้ว่าทั้งสามเรื่องจะมีเนื้อหาช่วงเวลาเดียวกัน แต่กลับมีกลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเล่าเรื่องและรูปแบบของการถ่ายทอดเรื่องราว ทั้งหมดต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการสื่อสารเพื่อสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน