Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 571 - 600 of 5570

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย, จุฑามณี สมบูรณ์สุทธิ์ Jan 2022

จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย, จุฑามณี สมบูรณ์สุทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง "จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการคิดย้อนสะท้อนกลับของนักดำน้ำอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ 2) ศึกษาสาเหตุ ปฏิบัติการการคิดย้อนสะท้อนกลับและการตอบโต้ของนักดำน้ำต่อสถานการณ์สังคมเสี่ยงวิกฤตทะเลไทย และ 3) ศึกษาสังคมเสี่ยงของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำและการคิดย้อนสะท้อนกลับ ปรับตัว วิธีการวิจัยใช้การสัมภาษณ์ระดับลึกควบคู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานเป็นนักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัครและเข้าฝึกเพื่อเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ในค่ายทหาร พื้นที่หลักในการศึกษา ประกอบด้วย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะพระ จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 53 คน ผลการวิจัยพบว่า การนำเสนอข่าวสังคมความเสี่ยงของสื่อส่งผลให้เกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำน้ำให้เป็นนักดำน้ำอาสาสมัครในบริบทต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้นักดำน้ำเกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและผันตัวเป็นอาสาสมัครใต้ทะเล ประกอบด้วย ประสบการณ์ตรงจากการลงไปสัมผัสโลกใต้ทะเล ความขัดแย้งทางทะเลและการเข้าร่วมอบรมด้านการอนุรักษ์ นักดำน้ำใช้วิธีจัดการปัญหาสังคมเสี่ยงและโต้ตอบผ่านสื่อด้วยการทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารพลเมืองใต้ทะเล โดยใช้กล้องถ่ายรูปใต้น้ำควบคู่กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ วิธีปรับตัวของนักดำน้ำภายใต้สังคมเสี่ยงแบบทุนนิยม คือการพัฒนาทักษะความรู้ สร้างจุดเด่น สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและนำความรู้มาใช้ในงานอาสาสมัครเพื่อเคลื่อนไหวสังคม


การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์ Jan 2022

การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำที่เกิดขึ้นโดย ผู้ป่วยนิติจิตเวช อันได้แก่ สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการกระทำผิดซ้ำ ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคของการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเชิง คุณภาพจากทางเอกสารและมีการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรวิชาชีพทางสายสุขภาพจิตสังกัดกรมสุขภาพจิต และบุคลากรวิชาชีพทางสาย สุขภาพจิตสังกัดกรมราชทัณฑ์รวมทั้งสิ้น 7 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยจิตเวชมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ความเครียด ความกดดัน และความขับข้องใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย2) การขาดยา เพราะขาดคนช่วยดูแล ตลอดจนคนรอบข้างอย่างครอบครัวหรือชุมชนขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย จิตเวช 3) การตีตราของผู้คนในชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดที่พึ่งและถูกกีดกันออกจากสังคมขณะที่ อุปสรรคในการป้องกันอยู่ด้วยกันดังนี้1) ปัญหาด้านยาเสพติด เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ ยาเสพติดที่มีราคาถูกและหาง่าย 2) ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน และ 3) ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง เพราะการขาดกำลังคนและรอยต่อของระบบการส่งต่อ ระหว่างสถานพยาบาลกับเรือนจำ สำหรับข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) การพัฒนาสถานพยาบาลที่มีความเฉพาะด้าน เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและครอบคลุมไปถึงการลงโทษตามแนวทางทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูตลอดจนเป็นการลดรอยต่อของระบบการส่งต่อผู้ป่วยนิติจิตเวช สถานพยาบาลกับทางเรือนจำ 2) การพัฒนากำลังคน เพื่อช่วยลดภาระงานบางส่วน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยหรือผู้เคยต้องขังที่เคยกระทำความผิดต้องกลับสู่ชุมชน ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านนี้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง


แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ Jan 2022

แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค 2) ศึกษาโครงสร้างการกำกับดูแล การขับเคลื่อนการบังคับใช้นโยบายและมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างความตระหนักและเฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 3) ศึกษาแนวทางการเตรียมแผนการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคต การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาจากเอกสารและการวิจัยภาคสนามโดยการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 22 คน เพื่ออธิบายถึงลักษณะภัยคุกคามทางไซเบอร์ตลอดจนการกำกับดูแลและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ขององค์กร ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาล การไฟฟ้า และการประปา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยและการให้บริการด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึงภาคการเงินการธนาคารและหน่วยงานด้านยุติธรรม 2) หลายหน่วยงานมีความตระหนักรู้ในการริเริ่มจัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติและจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ 3) หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน เพื่อลดแรงเสียดทานและความเสี่ยงต่างๆให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรให้ความสำคัญและควรปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์ให้มีการบังคับใช้และบทลงโทษที่ชัดเจน ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอาจไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารในกระบวนการธรรมรัฐไทย


ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์ Jan 2022

ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลเหตุ จูงใจ บทบาท และกระบวนการในการที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ผลจากการวิจัยพบว่า มูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายของผู้หญิงสามารถแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่เป็นปัจจัยดึงดูด อันเป็นปัจจัยจากฝั่งกลุ่มก่อการร้าย ได้แก่ กระบวนการชักชวนและจัดหาที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับความมีบารมีและความดึงดูดของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายและส่วนที่เป็นปัจจัยผลักดัน อันเป็นปัจจัยที่มาจากแรงกระตุ้นของฝั่งผู้หญิงเอง ได้แก่ อารมณ์ส่วนตัว ศาสนา และการเมือง จนนำไปสู่การเข้าสู่กระบวนการโดยสมัครใจเพื่อไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย โดยในต่างประเทศผู้หญิงมีทั้งบทบาทหลักในการก่อเหตุ และบทบาทสนับสนุน อาทิ การทำหน้าที่เป็นแม่ ภรรยา และจัดหาสมาชิก เป็นต้น ซึ่งมักถูกชักจูงผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ขณะที่บางส่วนที่ไม่สมัครใจก็จะตกเป็นเหยื่อเพื่อแสวงประโยชน์ของกลุ่มก่อการร้าย ในส่วนของประเทศไทยนั้น การก่อการร้ายถูกชี้นำไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ อาทิ การทำหน้าที่ปฐมพยาบาล และการหารายได้ เป็นต้น โดยถูกชักจูงจากคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว ประกอบกับการซึมซับข้อมูลและเรื่องเล่าต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์จากการอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน และเนื่องจากผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายในบทบาทต่าง ๆ อันเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประชาคมระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในภาพรวมและในมิติของผู้หญิงในการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ยังพบว่าหลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายจวบจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาหลายทศวรรษ ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบาย การเพิ่มมาตรการป้องกันในระดับปฏิบัติ ตลอดจนการนำทฤษฎีทางอาชญาวิทยาและแนวทางการป้องกันจากต่างประเทศที่ได้ศึกษาไว้ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางในการป้องกันและแก้ไขทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของไทย


การจำลองการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลางด้วยแบบจำลอง Hec-Ras, ปัญชิกา มูลรังษี Jan 2022

การจำลองการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลางด้วยแบบจำลอง Hec-Ras, ปัญชิกา มูลรังษี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ประยุกต์ใช้แบบจำลองชลศาสตร์ HEC-RAS เพื่อการจำลองและคาดการณ์การเกิดน้ำท่วม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จนกระทั่งถึง อ.เมือง จ.อ่างทอง โดยทำการจำลองการไหลในลำน้ำแบบหนึ่งมิติ (1D) และการหลากของน้ำล้นตลิ่งในลักษณะสองมิติ (2D) ในการจำลองการไหลแบบหนึ่งมิติ ผู้วิจัยทำการเทียบมาตรฐานแบบจำลอง โดยใช้ข้อมูลอัตราการไหล ในลำน้ำที่สถานีตรวจวัด C.13 และระดับน้ำที่ C.7A พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดค่าสัมประสิทธิ์ความขรุขระแมนนิ่ง (Manning’s n) ของพื้นท้องน้ำที่เหมาะสมในการจำลองการไหลแบบไม่คงที่ในลำน้ำ สำหรับการจำลองการไหลแบบ 2 มิติ ทำการเทียบมาตรฐานแบบจำลองกับขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียมรายวัน และระดับน้ำท่วมจากจุดสำรวจ 4 ตำแหน่ง เพื่อปรับค่าการระบายน้ำออกจากพื้นที่ศึกษาด้วยค่าสัมประสิทธิ์ปรับแก้การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำและการกักเก็บปริมาณน้ำท่วมส่วนเกิน จากนั้นจึงทดสอบความสมเหตุสมผลของแบบจำลอง โดยใช้ข้อมูลอัตราการไหลในลำน้ำและขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2552 รวมถึงระดับน้ำท่วมจากจุดสำรวจ 3 ตำแหน่งในพื้นที่ศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ค่า Nash Sutcliffe Efficiency (NSE) ของอัตราการไหลในลำน้ำอยู่ระหว่าง 0.95-0.99 และค่า root-mean-squared error (RMSE) ของความลึกน้ำท่วม 3 ตำแหน่ง อยู่ระหว่าง 0.67-0.68 เมตร เมื่อเพิ่มโครงสร้างบรรเทาการเกิดอุทกภัยในแบบจำลอง สามารถลดพื้นที่น้ำท่วม พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550 ได้ 41.27 และ 51.49 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ โดยการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงสามารถบรรเทาอุทกภัยได้มากที่สุด ในขณะที่การเพิ่มความสูงคันกั้นน้ำและการขุดลอกลำน้ำ ไม่สามารถลดพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังได้มากนัก ในนอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มโครงสร้างบรรเทาน้ำท่วมทั้ง 3 ประเภท ทำให้พื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง มีระดับความลึกน้ำท่วมลดลง 0.1-0.15 เซนติเมตร


ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสัทสัมพันธ์ของคำประสมภาษาไทยกับการกลายเป็นศัพท์, ลีนา มะลูลีม Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสัทสัมพันธ์ของคำประสมภาษาไทยกับการกลายเป็นศัพท์, ลีนา มะลูลีม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสัทสัมพันธ์กับระดับการกลายเป็นศัพท์ของคำประสมภาษาไทย งานวิจัยเก็บข้อมูลจากอัตราส่วนค่าระยะเวลาพยางค์ซึ่งเป็นค่าทางกลสัทศาสตร์ที่บ่งชี้การเน้นคำและโครงสร้างสัทสัมพันธ์ระดับคำของคำประสมภาษาไทย ร่วมกับค่าบ่งชี้การกลายเป็นศัพท์ในเชิงปริมาณ ซึ่งแสดงถึงระดับการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ ของกระบวนการกลายเป็นศัพท์ทั้งสิ้นสามค่า ได้แก่ 1) ระดับความหมายเชิงประกอบซึ่งบ่งชี้ระดับการเปลี่ยนแปลงความหมาย เก็บข้อมูลจากการทดลองตัดสินคำศัพท์ 2) ค่าระยะเวลาตอบสนองซึ่งบ่งชี้ระดับการเปลี่ยนแปลงหน่วยคำวากยสัมพันธ์ เก็บข้อมูลจากการตัดสินของผู้พูดโดยใช้แบบสอบถามระดับความหมายเชิงประกอบ และ 3) ความถี่การปรากฏซึ่งบ่งชี้ระดับการเปลี่ยนแปลงในเชิงการใช้ เก็บข้อมูลจากค่าความถี่ในคลังข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าโครงสร้างสัทสัมพันธ์ของคำประสมสัมพันธ์กับระดับการกลายเป็นศัพท์ตามสมมติฐาน โดยคำประสมที่มีระดับการกลายเป็นศัพท์สูงนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับคำเดี่ยวคือประกอบด้วยคำสัทสัมพันธ์หนึ่งคำและมีรูปแบบการเน้นแบบ เน้นรอง-เน้นหลัก ในขณะที่คำประสมที่มีระดับการกลายเป็นศัพท์ต่ำนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับวลีสองพยางค์คือ ประกอบด้วยคำสัทสัมพันธ์สองคำ แสดงผ่านรูปแบบการเน้นแบบ เน้นหลัก-เน้นหลัก ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคำประสมผ่านกระบวนการกลายเป็นศัพท์ โครงสร้างสัทสัมพันธ์มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างที่มีหลายคำสัทสัมพันธ์ควบรวมกลายเป็นคำสัทสัมพันธ์เดียว โดยมีการลดลงของอัตราส่วนค่าระยะเวลาควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสัทสัมพันธ์ด้วย


ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในระดับพื้นที่ กรณีศึกษาจังหวัดนครสวรรค์, จุฑารัตน์ ยกถาวร Jan 2022

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในระดับพื้นที่ กรณีศึกษาจังหวัดนครสวรรค์, จุฑารัตน์ ยกถาวร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในจังหวัดนครสวรรค์ และเพื่อนำเสนอแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการในจังหวัดนครสวรรค์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิจัยเชิงเอกสาร และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโครงการในจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร คณะทำงานตลอดจนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 29 ท่าน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระบบบำนาญที่ยังไม่ครอบคลุมสำหรับแรงงานในทุกระบบ แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติผ่านโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยเพื่อระดมหาจำนวนสมาชิกใหม่เข้าสู่กองทุน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าการดำเนินงานในจังหวัดนครสวรรค์มีสัดส่วนสมาชิกเมื่อเทียบกับจำนวนเป้าหมายมากที่สุดในประเทศไทย แต่ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเพียงความสำเร็จหนึ่งในสองของวัตถุประสงค์โครงการเท่านั้น กล่าวคือการดำเนินงานในจังหวัดนครสวรรค์มีแนวคิดริเริ่มซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ยังขาดการส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่องของสมาชิก ทั้งนี้ยังพบปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการดำเนินการในแต่ละส่วน ได้แก่ ขาดการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกอย่างทั่วถึงรวมไปถึงผลตอบแทนยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจได้เท่าที่ควร เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของผู้ปฏิบัติในระดับพื้นที่เนื่องจากวิธีการการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติใช้หลักการแบ่งบทบาท นอกจากนี้พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านความชัดเจนของนโยบาย 2) ปัจจัยด้านภาวะผู้นำของผู้บริหาร 3) ปัจจัยด้านสมรรถนะขององค์กร และ 4) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปปฏิบัติผ่านโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติในจังหวัดนครสวรรค์ ควรตระหนักถึงความสำคัญและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการนำนโยบาย รวมไปถึงข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสุขภาพจิต, กรวิชญ์ พยัคฆวรรณ Jan 2022

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสุขภาพจิต, กรวิชญ์ พยัคฆวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาระต่อระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น โดยวรรณกรรมทางเศรษฐศาสตร์ได้ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อาจเป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ หากแต่ทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และปัญหาสุขภาพจิตยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักในการทำความเข้าใจทิศทางและกลไกของความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสุขภาพจิต การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลพาเนลในระดับประเทศ จากแหล่งข้อมูล 3 แหล่งหลัก ได้แก่ World Development Indicators, Global Burden of Disease และ World Values Survey และกำหนดสมมติฐานว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในด้านผลกระทบทางอ้อม ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลกระทบผ่านตัวแปรคั่นกลาง 3 ตัวแปร ได้แก่ ความมั่งคั่ง สุขภาพกาย และการมีส่วนร่วมทางสังคม ระเบียบวิธีวิจัย คือ การวิเคราะห์ผ่านตัวกลาง (mediation analysis) โดยใช้แบบจำลอง seemingly unrelated regression ผลการศึกษาพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในภาพรวม ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ปัจจัยคั่นกลางทั้งหมดส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยสุขภาพกายมีความสำคัญมากที่สุด ตามด้วยความมั่งคั่ง และการมีส่วนร่วมทางสังคม ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของแต่ละพื้นที่และส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยที่อาจพัฒนาต่อได้ในการศึกษาครั้งต่อไป


เสถียรภาพของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงภายใต้ความเสี่ยงด้านต่ำและด้านสูงของราคาบ้าน, พงศ์ภัค ศรีสิงหสงคราม Jan 2022

เสถียรภาพของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงภายใต้ความเสี่ยงด้านต่ำและด้านสูงของราคาบ้าน, พงศ์ภัค ศรีสิงหสงคราม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบและปัจจัยสำคัญทางด้านภาคเศรษฐกิจจริงและปัจจัยทางด้านภาคการเงินต่อราคาบ้านเมื่อเกิดสภาวะความเสี่ยงด้านสูงและความเสี่ยงด้านต่ำสำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในการศึกษานี้ได้มีการแบ่งกลุ่มของข้อมูลเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มปัจจัยในภาพรวม และกลุ่มปัจจัยย่อย ทั้งนี้เพื่อตอบวัตถุประสงค์ผู้วิจัยได้มีการนำเทคนิค Feature Importance ด้วยการใช้อัลกอริทึม Random Forest และเสริมด้วยแบบจำลอง Semi-parametric Quantile Regression ซึ่งจะช่วยให้แบบจำลองเหมาะสมกับการวิเคราะห์การแจกแจงการกระจายข้อมูลที่ไม่ปกติ ผลการศึกษาแบ่งตามลักษณะกลุ่มประเทศดังนี้ สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพบว่าปัจจัยทางด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในการกำหนดราคาบ้านทั้งในช่วงความเสี่ยงด้านสูงและด้านต่ำอีกทั้งเมื่อปัจจัยดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อราคาบ้านให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับทุกควอนไทล์ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะในปัจจัยย่อยของกลุ่มตัวแปรต่างๆ ที่มีความสำคัญที่สุดและส่งผลต่อราคาบ้านในแต่ละกลุ่มจะพบว่าปัจจัยที่ควรสังเกตุและมีความสำคัญมากเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาบ้านได้แก่ ปัจจัยด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล, ปัจจัยด้านดัชนีราคาด้านสินค้าและบริการเบ็ดเตล็ด, ปัจจัยด้านดัชนีราคาด้านการนันทนาการและวัฒนธรรม, ปัจจัยด้านการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอผ่านตราสารทุน, ปัจจัยด้านสัดส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือนเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และปัจจัยด้านดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง เป็นต้น สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่พบว่าตัวแปรทางด้านดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและสัดส่วนสินเชื่อต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีสัดส่วนสูงที่สุดรวมกันอยู่ที่ประมาณสัดส่วนร้อยละ 60 ถึง 70 ของตัวแปรทั้งหมดในแบบจำลองในการกำหนดราคาบ้าน ทั้งนี้สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงเมื่อเกิดการแข็งค่าขึ้นจะส่งผลต่อราคาบ้านในทิศทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับทุกควอไทล์ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะในปัจจัยย่อยของกลุ่มตัวแปรต่างๆ ที่มีความสำคัญที่สุดและส่งผลต่อราคาบ้านในแต่ละกลุ่มจะพบว่าปัจจัยที่ควรสังเกตุและมีความสำคัญมากเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาบ้านได้แก่ ปัจจัยด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน, ปัจจัยด้านการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น, ปัจจัยด้านดัชนีราคาด้านสินค้าและบริการเบ็ดเตล็ด, ปัจจัยด้านการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอผ่านตราสารหนี้, ปัจจัยด้านสัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ, ปัจจัยด้านเครื่องมือ Loan-to-Value และ ปัจจัยด้านปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เป็นต้น ดังนั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจึงนั้น ผู้ออกนโยบายควรที่จะมุ่งไปที่ปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลต่อราคาบ้านให้เหมาะสมกับลักษณะของกลุ่มประเทศและพิจารณาการกับกำดูแลผ่านนโยบายเสถียรภาพด้านราคาบ้านตามสถานการณ์ให้เหมาะสม


บริษัทพัฒนาเมือง: รูปแบบองค์กรเอกชนกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ, ภูมิสันต์ เลิศรัตนนันท์ Jan 2022

บริษัทพัฒนาเมือง: รูปแบบองค์กรเอกชนกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ, ภูมิสันต์ เลิศรัตนนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษา “บริษัทพัฒนาเมือง” ในฐานะองค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมา และเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของเมือง มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาแนวคิดและบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะของกลุ่มทุนในรูปแบบบริษัทพัฒนาเมือง และปฏิสัมพันธ์และกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของกลุ่มทุนในรูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองในจังหวัดอุดรธานี โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนบริษัทพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ ผลการศึกษาพบว่า บริษัทพัฒนาเมืองใช้แนวคิดเมืองเติบโตอย่างชาญฉลาด และแนวคิดเมืองอัจฉริยะ โดยมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด และเครือข่ายกิจการพัฒนาเมือง ที่ดำเนินการโดยกลุ่มทุนในท้องถิ่น สร้างอำนาจต่อรองเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น รวมถึงสอดรับกับนโยบายของรัฐส่วนกลาง โดยใช้กระบวนการสานเสวนา เพื่อให้เกิดอุปสงค์ของนโยบายจากภาคประชาชน และกลุ่มผลประโยชน์ในเมือง ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ภายในเมือง ก่อให้เกิดงานที่เป็นผลประโยชน์หลักของเมือง เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มทุนเมื่อมีการพัฒนาในเชิงพื้นที่ และเกิดผลประโยชน์ต่อบุคคลในฐานะผู้นำบริษัทพัฒนาเมืองที่เสริมสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการต่อรอง การจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง จึงเป็นการสร้างสถาบันขึ้นมาปฏิบัติการจัดสรรผลประโยชน์ในเชิงพื้นที่ บริษัทพัฒนาเมืองและเครือข่าย ใช้วิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นนำทางอำนาจ เครือข่ายวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงสมาชิกระดับรัฐสภา เพื่อสร้างโอกาสและหาช่องทางปลดล็อคเมืองให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้ กล่าวคือผลักดันนโยบายผ่านชนชั้นนำทางอำนาจทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ ร่วมมือกับภาควิชาการใช้ข้อมูลจากการวิจัยมาสร้างน้ำหนักและเหตุผลของนโยบายสาธารณะ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในการเผยแพร่ปฏิบัติการของบริษัทพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาการร่วมศูนย์อำนาจอยู่ในระดับชาติ การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติการในท้องถิ่น ยังเกิดข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของกฎระเบียบและอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรที่กระจุกตัว


พลวัตการประท้วง : ศึกษากรณีขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, วรรธนพร ภัทรธรรมกุล Jan 2022

พลวัตการประท้วง : ศึกษากรณีขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, วรรธนพร ภัทรธรรมกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา การเกิดขึ้นและพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสถานการณ์และแนวโน้มของขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผ่านกรอบแนวคิดทฤษฎีการระดมทรัพยากร (Resources Mobilization Theory) ผลการศึกษาพบว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เกิดขึ้นในปี 2559 ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ในการก่อกำเนิดและดำเนินโครงการ จึงนำมาสู่การกำเนิดขึ้นของ “ขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” โดยมีข้อเรียกร้องคือให้ยุติหรือชะลอโครงการดังกล่าว ทั้งนี้การเคลื่อนไหวอยู่ภายบริบททางการเมืองที่แบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ อำนาจนิยมเต็มรูปแบบ ในปี 2559 – 2561 และอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งปัจจัยโครงสร้างโอกาสทางการเมืองมีผลอย่างมากต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวและทิศทางการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในยุคอำนาจนิยมที่มีการจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลังการเลือกตั้งทำให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่รัฐยังคงรวมศูนย์การตัดสินใจจนได้ดำเนินโครงการจนหวนกลับไม่ได้แล้ว ดังนั้น จึงนำมาสู่การลดทอนข้อเรียกร้องของขบวนการ จนในที่สุดขบวนการได้รับความสำเร็จจากการสร้างผลสะเทือนต่อรัฐ จนเกิดการเร่งทบทวนผังเมืองใหม่ 30 อำเภอ โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น อย่างไรก็ตาม หลังจากการเคลื่อนไหวในปี 2563 การเคลื่อนไหวก็คลายตัวลงแต่การเคลื่อนไหวยังไม่สิ้นสุดเพราะแต่ละพื้นที่ยังคงแยกกันเคลื่อนไหวตามผลกระทบที่ได้รับซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ได้รับความสำเร็จ/ล้มเหลวแตกต่างกันไป


การสื่อสารทางการเมืองผ่าน Tiktok เพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกออนไลน์ ช่วงปี 2563 - 2564, นภัสวรรณ รักษาใจ Jan 2022

การสื่อสารทางการเมืองผ่าน Tiktok เพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกออนไลน์ ช่วงปี 2563 - 2564, นภัสวรรณ รักษาใจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกอินเทอร์เน็ตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ TikTok ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น โดยศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพด้วยแนวทางการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) และการวิจัยเอกสาร เพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้ ประการแรก ประเด็นปัญหาและรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่เครือข่ายผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลใช้ในการสื่อสารทางการเมืองผ่าน TikTok รวมถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้สื่อสังคมออนไลน์ TikTok ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองเพื่อการต่อต้านรัฐบาล ประการที่สอง อุดมการณ์และวาทกรรมที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในเครือข่ายผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม TikTok และประการสุดท้าย กระบวนการที่ฝ่ายรัฐใช้ในการจัดการกับการต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบัน TikTok เป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้สำหรับการประท้วงทางการเมืองในประเทศไทย โดย TikTok ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึง TikTok ยังมีบทบาทในการท้าทายอุดมการณ์ใหญ่ของรัฐด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำมาใช้สำหรับเสียดสีล้อเลียนรัฐและผู้มีอำนาจในสังคม นอกเหนือจากนี้ TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกควบคุมจากรัฐต่ำกว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น ๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามในการรับมือกับการเมืองบนอินเทอร์เน็ตด้วยการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาและการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ก็ตาม วิทยานิพนธ์นี้จึงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของความสัมพันธ์ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับสถาบันการเมืองและระบอบประชาธิปไตย


ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช Jan 2022

ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักรภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนำแนวคิดโกลบอลบริเตน (Global Britain) ที่ปรากฏขึ้นมาในรัฐบาลของเทเรซา เมย์ และบอริส จอห์นสัน ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาผ่านกรอบการศึกษาแนวคิดสัจนิยมคลาสสิคใหม่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การรับรู้ของชนชั้นนำของสหราชอาณาจักร จากการศึกษาได้บ่งชี้ว่า ยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อเหตุการณ์การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิท (Brexit) ในปี ค.ศ. 2016 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่พยายามแสวงหาคำตอบในการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรอันหยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่การล่มสลายของอำนาจบริติช (The collapse of British power) ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดเจนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า "สหราชอาณาจักรมีบทบาทอย่างไรในโลก" โดยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า “สหราชอาณาจักรยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อโลกนี้” ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพยายามของลอนดอนในการแสวงหาความมั่นคงท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ที่ชนชั้นนำในลอนดอนเผชิญ นอกจากนี้การศึกษาได้ชี้อีกว่า การผลักดันยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนเป็นวิธีการเอาตัวรอดของรัฐบาลและพรรคอนุรักษ์นิยมจากการขาดเตรียมความพร้อมจากเหตุการณ์เบร็กซิท


จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา Jan 2022

จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนหลังเกิดการรัฐประหาร 2006 และ 2014 เพราะเป็นระยะเวลาที่กองทัพไทยเข้ามาแทรกแซงและหยั่งรากลึกบทบาททหารในทางการเมือง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนชัดขึ้น ผู้วิจัยจึงทบทวนวรรณกรรมและตีความมุมมองที่อาจเกิดขึ้นได้ในทัศนะของไทยมีต่อจีนออกมาได้ 4 มุมมองคือ 1) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยหลังการรัฐประหาร 2549 2) มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคาม 3) มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียน และ 4) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนเท่านั้นซึ่งศึกษาภาพสะท้อนผ่านเอกสารวิจัยส่วนบุคคลของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ตั้งแต่รุ่นที่ 50 – 61 ทั้งหมด 16 เล่มล้วนเป็นชนชั้นนำทางทหารและอาจส่งมุมมองข้างต้นเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายไทยที่มีต่อจีนได้ จากการศึกษา เนื้อหาเอกสารวิจัยส่วนบุคลของนักศึกษาวปอ. สามารถจัดกลุ่มและจำแนกให้เข้ากับมุมมองที่ไทยมีต่อจีนในทั้ง 4 มุมมองข้างต้นได้ เห็นว่ามุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยมีทั้งหมด 2 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 11, มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคามมีทั้งหมด 1 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 6, มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียนมีทั้งหมด 6 เล่มซึ่ง คิดเป็นร้อยละ 33 และมุมมองมีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนมีทั้งหมด 9 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 50 ดังนั้น ภาพสะท้อนของชนชั้นนำทหารไทยที่มีต่อจีนนั้นมีแนวโน้มที่ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนต่อไปซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย-จีนและดึงอาเซียนให้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นลำดับต่อมา


ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ ต่อความเหงา ความสามารถในการกำกับอารมณ์ และการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเอง ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี, ณัฐพร ตรีเจริญวิวัฒน์ Jan 2022

ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ ต่อความเหงา ความสามารถในการกำกับอารมณ์ และการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเอง ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี, ณัฐพร ตรีเจริญวิวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยกึ่งทดลองในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ ต่อความเหงา ความสามารถในการกำกับอารมณ์และการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเองในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีความสมัครใจเข้าร่วมการวิจัยและมีระดับความเหงาสูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 จำนวน 39 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง 19 คน กลุ่มควบคุม 20 คน โดยกลุ่มทดลองจะเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ทั้งหมด 8 ครั้ง คิดเป็นเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง กลุ่มตัวอย่างทุกคนจะได้ตอบแบบสอบถามที่ประกอบไปด้วยมาตรวัดความเหงา มาตรวัดความสามารถในการกำกับอารมณ์ และมาตรวัดการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเอง ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบวัดซ้ำ (Repeated Measures MANOVA) และความแปรปรวนพหุนามแบบระหว่างกลุ่ม (Between Groups MANOVA) โดยมีผลวิจัยดังนี้ 1. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ และในระยะติดตามผล กลุ่มทดลองมีระดับคะแนนความเหงาต่ำกว่าก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ กลุ่มทดลองมีระดับคะแนนความเหงาต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ และในระยะติดตามผล ไม่พบว่ากลุ่มทดลองมีระดับคะแนนความสามารถในการกำกับอารมณ์แตกต่างกับก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ ไม่พบว่ากลุ่มทดลองมีระดับคะแนนความสามารถในการกำกับอารมณ์แตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ และในระยะติดตามผล กลุ่มทดลองมีระดับคะแนนการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเองสูงกว่าก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 6. หลังการเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมแบบออนไลน์ ไม่พบว่ากลุ่มทดลองมีระดับคะแนนการรับรู้ความสามารถในการเข้าสังคมของตนเองแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


โมเดลเชิงสาเหตุของความตั้งใจในการออกกำลังกายของผู้ใหญ่วัยกลางคนตามทฤษฎีการกำหนดด้วยตนเอง, สมศักดิ์ วสุวิทิตกุล Jan 2022

โมเดลเชิงสาเหตุของความตั้งใจในการออกกำลังกายของผู้ใหญ่วัยกลางคนตามทฤษฎีการกำหนดด้วยตนเอง, สมศักดิ์ วสุวิทิตกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่ออธิบายความตั้งใจในการออกกำลังกาย โดยเสนอโมเดลที่ประกอบด้วยตัวแปรจากทฤษฎีการกำหนดด้วยตนเองและการรับรู้การตีตราน้ำหนัก โดยผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน มีอายุระหว่าง 30- 64 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 636 คน และตอบแบบสอบถามออนไลน์ ทำการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์ที่ทดสอบตัวแปรส่งผ่านหลายตัวแปร(path analysis) โดยแบ่งเป็น 3โมเดลกลุ่มน้ำหนักได้แก่ กลุ่มน้ำหนักปกติ(BMI=18-22.9 กก./ม2,N=253)กลุ่มน้ำหนักเกิน(BMI=23-29.9 กก./ม2,N=206)และกลุ่มอ้วน (BMI≥30 กก./ม2,N=177)ผลการวิจัยพบว่า 1)โมเดลเชิงสาเหตุของความตั้งใจในการออกกำลังกายทั้ง 3 โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์(กลุ่มน้ำหนักปกติ;Χ2=11.124,df=6,p=0.085,CFI=0.990,RMSEA =0.058,SRMR=0.029,กลุ่มน้ำหนักเกิน;Χ2=11.065, df=6,p=0.086,CFI=0.990,RMSEA=0.064,SRMR=0.029, กลุ่มอ้วน;Χ2=8.351,df=6,p=0.214,CFI=0.992,RMSEA=0.047,SRMR=0.032) 2)การรับรู้การตีตราน้ำหนักส่งอิทธิพลเชิงลบต่อแรงจูงใจที่มีอิสระในการออกกำลังกายในทุกกลุ่มน้ำหนัก3)แรงจูงใจที่มีอิสระส่งอิทธิ พลเชิงบวกต่อความตั้งใจในการออกกำลังกายในทุกกลุ่มน้ำหนัก4)ความต้องการมีความสามารถเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างการรับรู้การสนับสนุนความมีอิสระและความตั้งใจในการออกกำลังกายในทุกกลุ่มน้ำหนัก5)ความต้องการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นและความต้องการมีความสามารถส่งอิทธิพลเชิงบวกต่อแรงจูงใจที่มีอิสระในกลุ่มน้ำหนักเกิน6)ความต้องการเป็นอิสระในตนเองส่งอิทธิพลเชิงบวกต่อแรงจูงใจที่มีอิสระในกลุ่มน้ำหนักปกติและกลุ่มอ้วน 7) โมเดลเชิงสาเหตุของของความตั้งใจในการออกกำลังกายของกลุ่มน้ำหนักปกติ กลุ่มน้ำหนักเกินและกลุ่มอ้วน สามารถอธิบายความตั้งใจในการออกกำลังกายได้ ร้อยละ 47 50 และ 41 ตามลำดับ ผลการวิจัยสามารถนำไปปรับใช้ในการสร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกาย โดยการสนับสนุนความมีอิสระในการออกกำลังกาย ลดการรับรู้การตีตราน้ำหนักของบุคคล และควรประเมินความต้องการเป็นอิสระในตนเอง ความต้องการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น และความต้องการมีความสามารถในการออกกำลังกายของผู้เข้าร่วมโปรแกรมออกกำลังกาย


ประสบการณ์ทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนดูแลผู้ป่วยวัยรุ่นโรคซึมเศร้า, อธิชญา สุขธรรมรัตน์ Jan 2022

ประสบการณ์ทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนดูแลผู้ป่วยวัยรุ่นโรคซึมเศร้า, อธิชญา สุขธรรมรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนดูแลผู้ป่วยวัยรุ่นโรคซึมเศร้า โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ และเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้คำถามที่มีลักษณะกึ่งโครงสร้างกับผู้เข้าร่วมวิจัย คือ ผู้ดูแลในครอบครัว จำนวน 6 คน ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการดูแลหรือกำลังให้การดูแลวัยรุ่นช่วงอายุ 13-19 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยให้การสนับสนุนดูแลในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นให้กับวัยรุ่นในครอบครัว เช่น ด้านความเป็นอยู่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านการรักษา หรือด้านการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 เดือน ผลการศึกษา พบประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการสนับสนุนดูแลวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างให้การดูแล 3. แนวทางการปรับตัวในบทบาทของผู้ดูแล และ 4. การตกผลึกทางความคิดจากประสบการณ์ในการดูแล สรุปผลการวิจัยแสดงให้เห็นประสบการณ์ทางจิตใจของบุคคลที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนดูแลวัยรุ่นในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า ทั้งลักษณะแนวทางในการดูแลรับมือ มุมมองความคิด อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างให้การดูแล การปรับตัวและสิ่งที่ผู้ดูแลได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคปัญหาในการดูแลวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงผู้ที่มีความสนใจในงานให้บริการทางด้านสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแลในครอบครัวให้กับวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า ตลอดจนนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านจิตใจต่อไป


การจัดการการสื่อสารของเครือข่ายกลุ่มแฟนดอมชาวไทยเพื่อสนับสนุนศิลปินไทยในประเทศจีน, ชวัลอร โภวาที Jan 2022

การจัดการการสื่อสารของเครือข่ายกลุ่มแฟนดอมชาวไทยเพื่อสนับสนุนศิลปินไทยในประเทศจีน, ชวัลอร โภวาที

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลยุทธ์การจัดการเครือข่าย กลวิธีการสื่อสารภายในกลุ่ม ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการการสื่อสารของกลุ่มแฟนดอมชาวไทยเพื่อสนับสนุนศิลปินไทยในประเทศจีน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์เนื้อหาของแต่ละกลุ่ม ร่วมกับสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากแฟนคลับ 2 กลุ่ม ผู้นำกลุ่มและแอดมินบ้านแฟนเบสของกลุ่ม 2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 16 คน ผลการวิจัยพบว่า แฟนดอมมีการจัดการเครือข่ายผ่านพื้นที่สื่อออนไลน์ในการสร้างกิจกรรม เพื่อสนับสนุน สร้างชื่อเสียงของศิลปิน และสร้างความสัมพันธ์แฟนดอมผ่านรูปแบบเครือข่ายการสื่อสารแบบทุกช่องทาง ที่ทำให้สมาชิกทั้งหมดในแฟนดอมสามารถทำการสื่อสารได้อย่างอิสระผ่านสื่อออนไลน์ สร้างความสัมพันธ์ในเครือข่ายให้ดียิ่งขึ้น แฟนดอมจะมีการจัดการปัญหาและอุปสรรคอยู่เสมอ เพื่อรักษาเครือข่าย ชื่อเสียงศิลปิน เพิ่มความสัมพันธ์ของสมาชิกของแฟนดอมให้เหนี่ยวแน่นยิ่งขึ้น และช่วยให้แฟนดอมสามารถธำรงต่อไปได้ยาวนาน


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค, ธาณุพรรณ ณ สงขลา Jan 2022

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค, ธาณุพรรณ ณ สงขลา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณด้วยวิธีการสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่ออธิบายความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บรรทัดฐานกลุ่ม การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม การรับรู้คุณค่า และความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค 2) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต่อ ทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บรรทัดฐานกลุ่ม การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม และการรับรู้คุณค่าของผู้บริโภค 3) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บรรทัดฐานกลุ่ม การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม และการรับรู้คุณค่า ที่มีต่อความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริโภคชาวไทยเจเนอเรชันเอกซ์ (Generation X) และผู้บริโภคเจเนอเรชันวาย (Generation Y) จำนวนทั้งสิ้น 500 คน ซึ่งต้องมีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 27 - 58 ปี ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า และต้องเคยได้ยินหรือรู้จักเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดย ผลวิจัยพบว่า ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อ การรับรู้คุณค่า การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และบรรทัดฐานกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า การรับรู้คุณค่า บรรทัดฐานกลุ่ม และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า


การเปิดรับ ทัศนคติ และความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อโฆษณาในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกของผลิตภัณฑ์ความงาม, นวียา แดงบุหงา Jan 2022

การเปิดรับ ทัศนคติ และความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อโฆษณาในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกของผลิตภัณฑ์ความงาม, นวียา แดงบุหงา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากร การเปิดรับ ทัศนคติ และความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อโฆษณาในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกของผลิตภัณฑ์ความงาม รวมถึงเพื่ออธิบายอิทธิพลของการเปิดรับและทัศนคติของผู้บริโภคต่อความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ ด้วยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเคยเห็นโฆษณาแบบวิดีโอสั้นของผลิตภัณฑ์ความงามบนติ๊กต๊อก จำนวนทั้งสิ้น 400 คน ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้บริโภคที่มีอาชีพแตกต่างกัน มีการเปิดรับโฆษณาในรูปแบบวิดีโอสั้นของผลิตภัณฑ์ความงามบนติ๊กต๊อกแตกต่างกัน 2) ผู้บริโภคที่มีเพศและอาชีพแตกต่างกัน มีทัศนคติต่อโฆษณาในรูปแบบวิดีโอสั้นของผลิตภัณฑ์ความงามบนติ๊กต๊อกแตกต่างกัน 3) ผู้บริโภคที่มีเพศและอาชีพแตกต่างกัน มีความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ความงามแตกต่างกัน 4) ปัจจัยด้านการเปิดรับและทัศนคติมีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001


กลวิธีการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงของผู้ประพันธ์ในวรรณกรรมโรคซึมเศร้า, นันทพร ตงสาลี Jan 2022

กลวิธีการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงของผู้ประพันธ์ในวรรณกรรมโรคซึมเศร้า, นันทพร ตงสาลี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องของหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและความคิดเห็นของผู้รับสาร โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาเนื้อหาจากวรรณกรรมร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเขียนและผู้รับสาร ผลการวิจัยพบว่า 1) หนังสือที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวไทยทุกเรื่องเล่าถึงบรรยากาศภายในบ้านและปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเล่าของผู้ประพันธ์ชาวไทยผูกติดกับปัญหาครอบครัว และสถานที่ที่พบการเล่าถึงรองลงมาคือโรงพยาบาลที่ผู้ประพันธ์เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า 2) หนังสือฉบับแปลที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวเกาหลีใต้เล่าถึงบรรยากาศภายในบ้านและปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเช่นเดียวกับที่พบในเรื่องเล่าที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวไทย อาจสันนิษฐานได้ว่าด้วยค่านิยมการเลี้ยงดูของครอบครัวชาวเอเชียที่ใกล้เคียงกันจึงทำให้เกิดลักษณะร่วมนี้ขึ้น ในขณะที่เรื่องที่เขียนโดยชาวตะวันตก ไม่ได้เล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวเท่าใดนัก เน้นไปที่การเล่าถึงสภาพสังคมที่ให้ค่ากับวัตถุจนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมและนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ แก่นความคิดหลักที่พบในทุกเรื่องที่นำมาศึกษาคือการมีความหวังที่ผู้ป่วยจะสามารถรักษาโรคซึมเศร้าให้หายหรือมีอาการดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่ได้กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่เพียงลำพัง อย่างน้อยยังมีผู้ประพันธ์ที่กำลังเผชิญและต่อสู้กับโรคนี้อยู่ด้วยเช่นกัน หนังสือประเภทนี้จึงเป็นเหมือนเพื่อนที่เข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่และคอยเป็นกำลังใจให้ และ 3) ผู้รับสารคิดว่าหนังสือประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน แต่ที่ควรอ่านเป็นพิเศษคือครอบครัวและคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อที่จะได้เข้าใจและระวังไม่กระทำการใดๆ ที่อาจเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ขณะเดียวกันผู้ที่ต้องระวังความเหมาะสมของเนื้อหาและสภาพจิตใจของตนเองเป็นพิเศษก่อนอ่านคือผู้อ่านที่เป็นผู้ป่วยและสภาพจิตใจยังไม่มั่นคงนัก เนื่องจากเนื้อหาของบางเรื่องอาจกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้


อิทธิพลของคุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภค, ปภัสราภา ศิริสุนทร Jan 2022

อิทธิพลของคุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภค, ปภัสราภา ศิริสุนทร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงสำรวจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา: 1) คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ (ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ ความเชี่ยวชาญ ความน่าไว้วางใจ ความน่าดึงดูดใจ ความชื่นชอบ ความเหมือนกับกลุ่มเป้าหมาย และความคุ้นเคย) ทัศนคติ (ได้แก่ ทัศนคติต่อผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ และทัศนคติต่อตราสินค้า) และพฤติกรรมของผู้บริโภค (ได้แก่ ความตั้งใจซื้อ และการสื่อสารแบบบอกต่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) และ 2) อิทธิพลของคุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ ต่อทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถาม เก็บข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ จาก 1) กลุ่มตัวอย่างที่ติดตามคุณเบเบ้ (ธันย์ชนก ฤทธินาคา) ที่มีอายุระหว่าง 24 - 30 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่รับชมคลิปวิดีโอจำนวนอย่างน้อย 3 ครั้งใน 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 292 คน และ 2) กลุ่มตัวอย่างที่ติดตามคุณดาว (วิภา อาทิตย์อุไร) และรับชมคลิปวิดีโอจำนวน 3 ครั้งใน 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 298 คน รวมทั้งหมด 590 คน ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ ทัศนคติ และพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้น คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ ด้านความน่าไว้วางใจ และด้านความน่าดึงดูดใจมีอิทธิพลต่อทัศนคติมากที่สุด ในขณะที่ด้านความเหมือนกับกลุ่มเป้าหมายมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมากที่สุด และสุดท้ายทัศนคติยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกด้วย


อิทธิพลของการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ผ่านภาพประกอบ ความต้องการทางปัญญา และความน่าเชื่อถือของสารโน้มน้าวใจต่อเจตคติต่อการใช้กระบอกน้ำพกพา, รัตนกร แก้ววานิช Jan 2022

อิทธิพลของการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ผ่านภาพประกอบ ความต้องการทางปัญญา และความน่าเชื่อถือของสารโน้มน้าวใจต่อเจตคติต่อการใช้กระบอกน้ำพกพา, รัตนกร แก้ววานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ ความต้องการทางปัญญา และความน่าเชื่อถือของสารโน้มน้าวใจที่มีต่อเจตคติต่อการใช้กระบอกน้ำพกพาเมื่อนักศึกษาอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมการทดลองในงานวิจัยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 222 คน ซึ่งตอบมาตรวัดความต้องการทางปัญญา แล้วจึงอ่านข้อความโน้มน้าวใจที่ถูกจัดกระทำให้มีคุณภาพของข้อโต้แย้งสูงหรือต่ำ และมีภาพประกอบที่มีความเหมือนมนุษย์หรือไม่มีความเหมือนมนุษย์ แล้วตอบมาตรวัดเจตคติต่อการใช้กระบอกน้ำพกพาในบริเวณมหาวิทยาลัย และเขียนรายงานความคิดที่เกิดขึ้นขณะที่กำลังอ่านสารโน้มน้าวใจ ผลการวิเคราะห์พบการปฏิสัมพันธ์ 3 ทางระหว่างตัวแปรต่อเจตคติต่อการใช้กระบอกน้ำพกพาอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจอิทธิพลของการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ในการเปลี่ยนเจตคติต่อพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม


Folk Beliefs, Religions And Cultural Tourism In Modern Vietnamese Society: A Case Study Of Perfume Temple Festival, Xuan Wang Jan 2022

Folk Beliefs, Religions And Cultural Tourism In Modern Vietnamese Society: A Case Study Of Perfume Temple Festival, Xuan Wang

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This thesis presents an analysis of the folk beliefs and cultural tourism in modern Vietnam through a case study of the Perfume Temple Festival. It is presumed that folk beliefs and traditional folklore have always constituted the spiritual foundation of Vietnamese people in present day society. It is found that the introduction of religions from outside Vietnam does not affect traditional folk beliefs. These religious beliefs have been integrated into Vietnamese beliefs and traditional culture. This integration contributes to the stability and harmony of modern Vietnamese society. The Perfume Temple Festival, as one of the biggest national temple festivals, embodies …


Digital Nomadism In Southeast Asia: Its Cultural Identities And The New Labor Model, Wenjue Zhong Jan 2022

Digital Nomadism In Southeast Asia: Its Cultural Identities And The New Labor Model, Wenjue Zhong

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This thesis examines the cultural identity of digital nomads in Southeast Asia and its impact on their evolving labor model. Employing qualitative interviews and document research, the study investigates the lifestyles of these contemporary nomads. The research reveals a finding: despite roaming abroad, digital nomads maintain a strong connection to their national identity. This intriguing phenomenon demonstrates the persistence of cultural heritage in shaping their self-identity. Unlike traditional global nomads, digital nomads display a more utility-oriented approach, where their nomadic lifestyle is deeply interwoven with their work status. Consequently, digital nomadism emerges as a unique labor model, reflecting the transformative …


Brand Communication With Transmedia Storytelling Of Riot Games: Transmedia Engagement, Brand Attitudes, And Brand Experience., Hao-When Tsai Jan 2022

Brand Communication With Transmedia Storytelling Of Riot Games: Transmedia Engagement, Brand Attitudes, And Brand Experience., Hao-When Tsai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This study seeks to understand how brands communicate through the application of transmedia storytelling from the message and to the receivers. While existing studies mainly aim at conceptualizing the term ‘transmedia storytelling’, this study explores the term from a game-centric narrative perspective. Using Riot Games as a case study due to its global success and popularity, this research applies a qualitative mixed-method approach of documentary research (qual) and in-depth interview (QUAL). The investigation places special emphasis on undercovering consumer attitude and experience upon engagement with brand transmedia stories. To do so, Jenkins’ (2003) concept of transmedia storytelling was adopted as …


ผลลัพธ์ด้านความเสมอภาคของนโยบาย Thai Select (พ.ศ. 2561 - 2566), ชลิดา เดชมนต์ Jan 2022

ผลลัพธ์ด้านความเสมอภาคของนโยบาย Thai Select (พ.ศ. 2561 - 2566), ชลิดา เดชมนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามว่านโยบาย Thai SELECT (พ.ศ. 2561 - 2566) ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรและผลลัพธ์ของนโยบายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมหรือไม่ โดยใช้แนวคิดวงจรนโยบายในเรื่องการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมทั้งแนวคิดของความเสมอภาคมาเป็นแนวทางในการทำวิจัย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ซึ่งข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้คือ นโยบาย Thai SELECT ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ได้แก่ ร้านอาหารที่ประกอบอาหารไทยแบบดั้งเดิม ร้านอาหารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และร้านอาหารต้นทุนสูงที่พร้อมเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์มีสิทธิได้รับการคัดเลือกมากกว่า เกณฑ์การคัดเลือกของโครงการมีความไม่แน่นอนส่งผลให้มีร้านอาหารถูกตัดสิทธิออกจากโครงการ ร้านอาหารที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจในกระทรวงพาณิชย์ชื่นชอบจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นกรณีพิเศษ และร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองจะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการมากกว่า ดังนั้น ผลลัพธ์ของนโยบาย Thai SELECT จึงเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม แต่เนื่องจากนโยบายดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์และไม่มีประสิทธิผลมากนักจึงทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไม่มากและทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดขึ้นไม่มากเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ หากผู้กำหนดนโยบายต้องการให้นโยบายบรรลุผลควรประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เข้มแข็ง พัฒนาตราสัญลักษณ์ที่มีอยู่เดิมให้บรรลุวัตถุประสงค์ก่อนที่จะขยายขอบเขตไปช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มอื่น และควรสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคและราคาวัตถุดิบจึงจะทำให้นโยบาย Thai SELECT สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารได้มากขึ้น


ภาวะผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย: กรณีศึกษา การดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา, ณัชฐานันท์ รูปขจร Jan 2022

ภาวะผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย: กรณีศึกษา การดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา, ณัชฐานันท์ รูปขจร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องภาวะผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย กรณีศึกษา : การดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ได้แก่ (1) เพื่อศึกษาภูมิหลังและชีวประวัติของศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย (2) เพื่อศึกษาความเป็นผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ในการดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา และ (3) เพื่อศึกษาประเมินความเป็นผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ในการดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ทำการศึกษาจากเอกสาร (Documentary Study) และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (In – depth Interview) 5 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกวุฒิสภา (2) กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายการเมือง (3) กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายข้าราชการประจำ (4) บุคคลผู้เห็นต่างในการทำหน้าที่ของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย และ (5) ทำการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชรวิชิตชลชัย เป็นหน่วยการศึกษาหลัก ในการทำหน้าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานวุฒิสภา ผลการศึกษาพบว่า (1) ภูมิหลังและชีวประวัติของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย (socialization) สามารถอธิบายพื้นฐานความเป็นมาของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร ฯ ที่มีผลต่อรูปแบบลักษณะเชิงพฤติกรรมในการทำหน้าที่ทางการเมือง จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาปริญญาตรีจบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโทกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาล ก.พ. ตำแหน่งในการรับราชการที่สำคัญตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ฯลฯ เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในหลายวิทยาลัย จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เป็น “ศาสตราจารย์พิเศษ” คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2556 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินปี 2557 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2562 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภา ผ่านการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.11) ซึ่งภูมิหลังถือหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่ช่วยขัดเกลาความเป็นผู้นำของศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร ฯ ในกรอบของชนชั้นนำและมุมมองความคิดที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลักอย่างเข้มแข็ง ในส่วนของการหล่อหลอมจากครอบครัว ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร ฯ เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง สมาชิกในครอบครัวรับราชการ …


การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อเวียดนามตั้งเเต่ยุคโอบามาจนถึงต้นยุค โจ ไบเดน, ณัฐนันท์ โพลงพันธ์ Jan 2022

การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อเวียดนามตั้งเเต่ยุคโอบามาจนถึงต้นยุค โจ ไบเดน, ณัฐนันท์ โพลงพันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตั้งแต่ยุคบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา จนถึงยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงให้ความสำคัญกับเวียดนาม โดยมุ่งตอบคำถามว่าแต่ละยุคสมัยนั้นการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อเวียดนามมีความต่อเนื่องและต่างกันอย่างไร โดยใช้แนวคิด partnership – alliance เป็นกรอบการวิเคราะห์ เพื่อเสนอจุดยืนว่า ทั้งสามนโยบาย Pivot to Asia, Free and Open Indo-Pacific และ Indo-Pacific Strategy ของสามยุคสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โอบามา ทรัมป์ และโจ ไบเดน มีวัตถุประสงค์หลักที่ต่อเนื่องกันคือการคานการผงาดขึ้นมาของจีนที่เป็นมหาอำนาจใหม่ที่กำลังท้าทายสถานภาพของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคงไว้สถานะมหาอำนาจของสหรัฐฯ โดยเน้นส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและ ความมั่นคง แต่แตกต่างกันตรงที่วิธีการดำเนินนโยบายต่อเวียดนามจะปรับตามแนวคิดของแต่ละยุคประธานาธิบดี


การศึกษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกรณีศึกษา : กระบวนการออกแบบก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพ, ตวงพร ปัญญาธรรม Jan 2022

การศึกษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกรณีศึกษา : กระบวนการออกแบบก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพ, ตวงพร ปัญญาธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการออกแบบก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพ และ 2) ศึกษาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในกระบวนการดังกล่าว ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึก ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเอกสาร แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า 1) ด้านปริมาณงาน ตัวเลขปริมาณงานที่ผู้รับบริการร้องขอความอนุเคราะห์ออกแบบในแต่ละปีงบประมาณมีจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานไม่สามารถตอบสนองต่อผู้รับบริการได้ทั้งหมด เนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับปริมาณงานที่ได้รับมอบหมาย 2) ด้านคุณภาพ ในภาพรวมความพึงพอใจของผู้รับบริการ ที่มีต่อกระบวนการออกแบบก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพ ของกองแบบแผน ในช่วง 3 ปีงบประมาณ อยู่ในระดับมาก โดยผู้รับบริการมีความพึงพอใจในด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ในประเด็นของการมีความรู้ความสามารถในการให้บริการมากที่สุด 3) ด้านเวลา ภาพรวมการออกแบบแล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาคิดเป็นร้อยละ 81.48 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนแบบเป้าหมายของหน่วยงานที่กำหนด กับจำนวนแบบที่ดำเนินการแล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลา 4) ด้านค่าใช้จ่าย พบว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการออกแบบก่อสร้างโดยกองแบบแผนเมื่อเทียบกับการจ้างเอกชนออกแบบ จะมีส่วนต่างค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 48.95 แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน หน่วยงานควรมีการทบทวนการจัดโครงสร้างของหน่วยงาน และวางอัตรากำลังบุคลากรให้เหมาะสมกับปริมาณงาน รวมถึงการพิจารณากำหนดค่าเป้าหมายของแบบที่จะดำเนินการในแต่ละปีของหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกับจำนวนปริมาณงาน เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้รับบริการได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการออกแบบและจัดทำแบบก่อสร้างเพื่อลดขั้นตอน และประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น