Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 721 - 750 of 5570

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

ค่าจ้างขั้นต่ำและอาชญากรรมในประเทศไทย, เกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์ Jan 2022

ค่าจ้างขั้นต่ำและอาชญากรรมในประเทศไทย, เกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อาชญากรรมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศ พบว่าการตอบสนองของการเกิดอาชญากรรมจะส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และประเภทของอาชญากรรม การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลายด้าน การมีนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยจะส่งผลต่อการเกิดอาชญากรรมไปในทิศทางใด งานวิจัยในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2562 การศึกษาครั้งนี้จะวิเคราะห์โดยใช้สมการถดถอยด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบ Fixed Effects ในข้อมูลแบบช่วงยาว (Panel Data) รายจังหวัด และจำแนกประเภทอาชญากรรมออกเป็น 5 ประเภท โดยใช้แบบจำลองอุปทานของอาชญากรรม (Supply of Crime Model) ผลการศึกษาพบว่า การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้ช่วยลดการเกิดอาชญากรรมในทุกประเภท แต่กลับพบว่าการมีจำนวนแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานเพิ่มมากขึ้นนั้นจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน อาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติด และอาชญากรรมรวมได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ว่างงานแล้วต่อมาได้ทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนนี้จึงอาจจะส่งผลให้พฤติกรรมของแรงงานนั้นเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวยังสามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน


ผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่มีต่อมูลค่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, พชรพล ศุขอร่าม Jan 2022

ผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่มีต่อมูลค่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, พชรพล ศุขอร่าม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่มีต่อมูลค่าบริษัท อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทในดัชนี SET 100 ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562 รวมจำนวนทั้งสิ้น 240 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยชุดข้อมูลของ 48 บริษัทจำนวน 5 ปี ใช้การวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบให้มูลค่าบริษัทและอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมมีค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่เพิ่มขึ้น ทั้งภาพรวมและแต่ละองค์ประกอบยังส่งผลกระทบให้ต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของบริษัทลดลง ดังนั้นผลการศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลมากขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลมักถูกมองว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่บริษัทและดึงดดูนักลงทุนได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดเผยข้อมูลยังส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่ลดลง มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีขึ้นส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง อีกนัยหนึ่งคือมีมูลค่าบริษัทที่เพิ่มขึ้น


ผลของการเลือกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและผลตอบแทนในตลาดแรงงานของชาวมุสลิม: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี, ฟาเดีย สาและ Jan 2022

ผลของการเลือกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและผลตอบแทนในตลาดแรงงานของชาวมุสลิม: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี, ฟาเดีย สาและ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเลือกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผลตอบแทนในตลาดแรงงาน และทุนทางสังคมของชาวมุสลิมจังหวัดปัตตานี ดำเนินการวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลปฐมภูมิแบบ Quota/Convenience sampling โดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นจากวรรณกรรมปริทัศน์ เกณฑ์การคัดเข้า ได้แก่ เป็นคนไทยมุสลิม อายุ 25-49 ปี และจบระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเท่ากับ 483 ตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้แบบจำลองสมการถดถอย โดยพิจารณาปัญหา Endogeneity งานวิจัยนี้แบ่งประเภทของโรงเรียนออกเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันศึกษาปอเนาะ ผลการศึกษา พบว่า (1) เพศหญิง การสื่อสารภาษาไทยในบ้าน คุณลักษณะของพ่อแม่ และการอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมีผลต่อการเลือกโรงเรียน (2) ก่อนการพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่า ประเภทโรงเรียนมีผลต่อการเรียนต่อหลังจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและรายได้ต่อเดือน และ (3) เมื่อพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่า ประเภทโรงเรียนส่งผลต่อการเรียนต่อหลังในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ส่งผลทางตรงต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงาน ทว่าการจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่งผลทางบวกต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงาน (4) ในด้านทุนทางสังคม พบว่า ก่อนการพิจารณาปัญหา Endogeneity สถาบันศึกษาปอเนาะส่งผลทางลบต่อการได้รับสนับสนุนทางทรัพยากรและทางอารมณ์ แต่ภายหลังพิจารณาปัญหา Endogeneity พบว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันศึกษาปอเนาะกลับส่งผลทางบวกต่อการได้รับสนับสนุนทางทรัพยากรและทางอารมณ์ ทั้งนี้ ตัวแปรการจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่งผลทางบวกต่อทุนทางสังคมเสมอ ผลการศึกษาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าประเภทโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะไม่ได้ส่งผลทางตรงต่อผลตอบแทนในตลาดแรงงานและส่งผลอย่างไม่ชัดเจนต่อทุนทางสังคม แต่ประเภทโรงเรียนกลับส่งผลทางอ้อมต่อทั้งผลตอบแทนในตลาดแรงงานและทุนทางสังคม ผ่านการสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา


บทบาทของทักษะทางการเงินที่มีต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย, ศักดิ์ศิริ เสาโกมุท Jan 2022

บทบาทของทักษะทางการเงินที่มีต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย, ศักดิ์ศิริ เสาโกมุท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษานี้ต้องการศึกษาอิทธิพลของทักษะทางการเงินต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจระดับความรู้ทางการเงินและการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนปี พ.ศ. 2561 จำนวน 11,129 ตัวอย่าง สร้างเป็นตัวแปรทักษะทางการเงิน และการเข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งมีลักษณะเป็นตัวแปรเชิงปริมาณ ตามลำดับ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยแบบจำลองการถดถอยแบบสองชั้น (2-Stage Least Squares : 2-SLS) โดยใช้ระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยของจังหวัดที่กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ และทักษะทางคณิตศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นตัวแปรเครื่องมือ (Instrumental Variable : IV) เพื่อแก้ปัญหาตัวแปรภายใน (Endogeneity) ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวแปรการเข้าถึงบริการทางการเงินและตัวแปรทักษะทางการเงิน ผลการศึกษาพบว่าระดับทักษะทางการเงินไม่เพียงแต่จะมีความสัมพันธ์กับระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินในภาพรวมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การทดสอบยืนยันผลการศึกษาด้วยการแบ่งกลุ่มลักษณะประชากรตามลักษณะรายได้ และลักษณะการกระจายตัวของระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน ยังคงแสดงให้เห็นว่าทักษะทางการเงินมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย


"คนดี" และ "ความดี" ในทางการเมืองไทย: การต่อสู้ทางความหมายทางการเมืองระหว่าง 2549 - 2557, กาญจนาพร เชยอักษร Jan 2022

"คนดี" และ "ความดี" ในทางการเมืองไทย: การต่อสู้ทางความหมายทางการเมืองระหว่าง 2549 - 2557, กาญจนาพร เชยอักษร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเผชิญกับความถดถอยของประชาธิปไตยพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำไปสู่การเมืองของมวลชน โดยมีปรากฏการณ์ที่มวลชนคู่ขัดแย้งสองฝ่ายต่างยึดถือความชอบธรรมคนละชุดและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งต่อต้านประชาธิปไตยยึดหลักความชอบธรรมแบบการปกครองตามจารีตประเพณีที่ดำเนินการตามอุดมการณ์หลักอย่าง “ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยยึดหลักความชอบธรรมความถูกต้องตามกฎหมาย มีวาทกรรมจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหว แต่คำที่ถูกผลิตซ้ำและมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยคือคำว่า “คนดี”และ “ความดี” ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือมวลชนที่ให้คุณค่ากับวาทกรรม“คนดี”และ “ความดี” มีแต่ในขบวนการต่อต้านทักษิณเท่านั้น วิทยานิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาความหมายของคำว่า “คนดี”และ “ความดี”ของแต่ละกลุ่มภายใต้ขบวนการต่อต้านทักษิณ สาเหตุที่ขบวนการต่อต้านทักษิณใช้วาทกรรม“คนดี”และ “ความดี”มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมและท้ายที่สุดวาทกรรมดังกล่าวส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไรในปัจจุบัน โดยใช้วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis: CDA) มาเป็นเครื่องมือในการศึกษาเพื่อให้สามารถสะท้อนหลักคิดเบื้องหลังวาทกรรมที่ขบวนการเคลื่อนไหวยึดมั่นและนำมาใช้เป็นความชอบธรรมในการชุมนุม ผลการศึกษาพบว่าภายใต้ขบวนการต่อต้านทักษิณมีการให้ความหมาย “คนดี”และ “ความดี” อย่างหลากหลายโดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธผสมผสานกับลัทธิขงจื่อ ขบวนการฯใช้หลักการทางศาสนาเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหวและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ข้อเสนอของขบวนการต่อต้านทักษิณไม่เพียงแต่ขับไล่รัฐบาลเท่านั้น แต่พวกเขายังมีความพยายามเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะให้ความสำคัญกับหลักคุณธรรมมากกว่าวิถีทางตามหลักประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2562 อย่างมีนัยสำคัญ


พรรคพลังประชารัฐและการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก, จันจิรา ดิษเจริญ Jan 2022

พรรคพลังประชารัฐและการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก, จันจิรา ดิษเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาปฏิบัติการกลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกโดยพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งภายใต้บริบทการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คำถามในการศึกษาคือ พรรคพลังประชารัฐดึงนักการเมืองฝ่ายตรงเข้ามาเป็นพวกเพื่อรักษาและสืบทอดระบอบอำนาจนิยม ด้วยกลยุทธ์แบบใด? ใช้เครื่องมือใด? และปฏิบัติการอย่างไร? งานศึกษานี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลโดย 1) การสัมภาษณ์เชิงลึกและ 2) การศึกษาเอกสาร และวิเคราะห์ผ่านแนวคิดกลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกของ Maria Josua ข้อค้นพบในการศึกษาคือ บริบทการเมืองที่รัฐบาล คสช. ควบคุมสถาบันรัฐธรรมนูญและกติกาการเมือง สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กีดกั้นผู้เห็นต่างและทำให้เป็นผู้แพ้ ใช้ทรัพยากรรัฐเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมในการเลือกตั้ง ปูทางให้พรรคพลังประชารัฐรักษาระบอบอำนาจนิยม ด้วยปฏิบัติการดึงเข้ามาเป็นพวกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ ดังนี้ 1) เครือข่ายทางการเมือง 2) ตำแหน่งทางการเมือง 3) เงิน 4) นโยบายและงบประมาณ และ 5) ปัดเป่า/ยัดคดีความ และลงโทษในการเลือกตั้ง กลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกทั้ง 5 ด้าน ทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และหวนคืนสถานะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ


พลวัตทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นภายใต้ระบอบอำนาจนิยม: ศึกษากรณีจังหวัดชลบุรี, อัฟนาน จรัลศาส์น Jan 2022

พลวัตทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นภายใต้ระบอบอำนาจนิยม: ศึกษากรณีจังหวัดชลบุรี, อัฟนาน จรัลศาส์น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของอำนาจทางการเมืองและศึกษารูปแบบและวิธีการรักษาอำนาจทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 จนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2564 เก็บข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก 15 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา ผลการศึกษา พบว่า ตระกูลคุณปลื้มปรับตัวภายใต้ปกครองระบอบอำนาจนิยมโดยการไม่แสดงการต่อต้านการปกครองโดยคณะรัฐประหาร และตัดสินใจเข้าร่วมพรรคการเมืองฝั่งทหารเพื่อการฟื้นฟูอำนาจของตน แต่ผลกระทบทางอ้อม คือ ก่อให้เกิดกลุ่มท้าทายอำนาจสองกลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มการเมืองในเครือข่ายพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามที่ชูนโยบายต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร 2) กลุ่มการเมืองของนายสุชาติ ชมกลิ่น ที่แยกตัวออกจากบ้านใหญ่ชลบุรีหลังจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ไม่ลงตัวในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งสองกลุ่มกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญในจังหวัดชลบุรี โดยกลุ่มแรกดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับตระกูลคุณปลื้ม ส่วนกลุ่มที่สองดึงนักการเมืองบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับแนวทางการบริหารเครือข่ายบ้านใหญ่ที่เน้นการอุปถัมภ์ช่วยเหลือผ่านอำนาจในระบบราชการมากกว่าการให้เงินส่วนตัวแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ตระกูลคุณปลื้มยังคงรักษาโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบขั้วเดียวในจังหวัดชลบุรีได้ผ่านวิธีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมฝั่งรัฐบาลในการเมืองระดับชาติ วิธีการจัดสรรผลประโยชน์ภายในเครือข่ายบ้านใหญ่ชลบุรีและสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์เชื่อมโยงตระกูลคุณปลื้มกับประชาชนในการเมืองระดับท้องถิ่น


“ขอเป็นเด็กเลวในประวัติศาสตร์ไทย”: การร่วมเวลาและการรื้อถอนเขตแดนเวลาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยมผ่านแคมเปญของเครือข่ายกลุ่ม “นักเรียนเลว”, กันต์ นาเมืองรักษ์ Jan 2022

“ขอเป็นเด็กเลวในประวัติศาสตร์ไทย”: การร่วมเวลาและการรื้อถอนเขตแดนเวลาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยมผ่านแคมเปญของเครือข่ายกลุ่ม “นักเรียนเลว”, กันต์ นาเมืองรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงเวลาที่กลุ่มนักเรียนเลวได้สร้างขึ้นในสังคมไทยผ่านแคมเปญและกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้มโนทัศน์ “การร่วมเวลา” และ “เขตแดนเวลา” ที่เกิดจากการบรรจบกันของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายใต้พลวัตของ "ความเป็นสังคม” แบบสมัยใหม่ที่แยก “ความเป็นประวัติศาสตร์” และ “ความเป็นประวัติการณ์” ออกจากกัน และใช้ชาติพันธุ์วรรณนาเชิงสถาบันที่ใช้จุดยืนทางสังคมของผู้ถูกศึกษาอย่างกลุ่มนักเรียนเลวและแนวร่วมเป็นวิธีวิทยาหลักในการสืบเสาะกระบวนการทางสังคมและเล่าผ่านการเขียนวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ จากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระดับต่างๆ ของกลุ่มเครือข่ายนักเรียนเลวและแนวร่วม ผู้วิจัยได้ทำการเล่าออกมาเป็น 3 บท โดยการใช้การข้องเกี่ยวทางสังคมเชิงเวลา 3 แบบเป็นแกนในการเล่า ได้แก่ ความทรงจำของการเป็นนักเรียน การต่อสู้สิทธิเสรีภาพเหนือเรือนร่างของนักเรียน และสถานะของนักเรียนในฐานะเยาวชนในการเมืองระดับชาติ อันสะท้อนถึงการร่วมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสมัย ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวได้ใช้กลวิธีและทรัพยากรต่างๆ ในการเคลื่อนไหวได้อย่างโดดเด่น จนทลาย "พรมแดนเวลา" ของการเติบโตทางความคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้เยาว์แบบอนุรักษ์จารีตนิยมในวัฒนธรรมไทยได้สำเร็จ ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าทางสังคม แต่ก็ทำให้เห็นถึงการแบ่งขั้วทางเวลาที่เข้มข้นขึ้นในสังคมไทยไปด้วย ส่งผลให้ความเป็นผู้เยาว์กลายเป็นวาระทางการเมืองในสังคมไทยไปโดยสมบูรณ์


เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง Jan 2022

เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต ปัจจัยเสี่ยง แนวทางป้องกันและแก้ไขการกระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบเล่าเรื่องและใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลผ่านผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา จำนวน 3 ราย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา 6 ราย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง จำนวน 15 ราย จากนั้นจึงใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นสาระจากเรื่องเล่าโดยใช้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ATLAS.ti version 22 ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. วิถีชีวิตของผู้กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรามีลักษณะที่เป็นปัจเจก และผ่านเหตุการณ์ในแต่ละช่วงวัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางทางบุคลิกภาพ ได้แก่ การเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก การหลุดออกจากระบบการศึกษา ข้อจำกัดด้านทางเลือกในการประกอบอาชีพ ปัญหาการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม และผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมจนเกิดพฤติกรรมการข่มขืนต่อเนื่อง 2. ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่พฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ปัจจัยภายใน (แรงกดดันที่นำไปสู่การข่มขืนกระทำชำเรา การขาดความผูกพันทางสังคม ความคิดที่ส่งเสริมการข่มขืนกระทำชำเรา การพัฒนาวิถีชีวิตแบบต่อต้านสังคม ความสนใจทางเพศที่ผิดปกติ และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ) และปัจจัยภายนอก (โอกาสที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา การดื่มสุราและเสพสารเสพติด การคบค้าสมาคมที่แตกต่างและพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเรา สื่อลามกและสื่อที่มีเนื้อหากระตุ้นเรื่องเพศ ค่านิยมที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา) 3. การป้องกันพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องจำเป็นต้องเริ่มจากการลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว การสร้างและทำให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาที่ปลอดภัย การสร้างระบบป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและความผิดปกติทางบุคลิกภาพ การให้ความสำคัญกับกระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างความตระหนักทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดและการตกเป็นเหยื่อ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ส่วนแนวทางการแก้ไขพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง ประกอบด้วย การปรับกระบวนทัศน์ที่เน้นการฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนาระบบจำแนกประเภทผู้กระทำผิด การพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนากระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างกลไกการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เหยื่ออาชญากรรมทางเพศ


ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ Jan 2022

ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน: กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบและกลไกดำเนินงานของระบบเจ้าโคตรที่เป็นงานยุติธรรมเชิงจารีต ประเภทคดีหรือลักษณะข้อพิพาทที่ใช้ยุติปัญหา รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ระบบเจ้าโคตร สภาพการดำรงอยู่ภายในชุมชนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบเจ้าโคตรเมื่อมีการนำงานยุติธรรมชุมชนรูปแบบอื่น ๆ ของภาครัฐเข้ามาใช้ปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้และมุมมองต่อการใช้ระบบเจ้าโคตรของหน่วยงานภาครัฐ และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการศึกษาเชิงเอกสาร วิธีการสนทนาแบบกลุ่ม และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 1) ระบบเจ้าโคตรมีผู้อาวุโสที่คู่กรณีและชุมชนเคารพนับถือ เชื่อใจ และยอมรับในความประพฤติและการพูดจาให้เหตุผลเมื่อตัดสินความขัดแย้งให้เข้ามาทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยกระบวนการระงับข้อพิพาทจะเป็นแบบเรียบง่ายที่คนกลางพูดคุยซักถามเรื่องราวและเหตุผลจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้วตัดสินความ แล้วจึงให้คู่กรณีตกลงเรื่องการชดใช้เยียวยากันโดยตรงต่อหน้าคนกลางและเริ่มต้นไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ และร่วมกันการสร้างข้อตกลงจากการระงับข้อพิพาทที่คำนึงถึงความต้องการของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย หมู่บ้านเสียวจะใช้ระบบเจ้าโคตรกับความผิดที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำ การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ความผิดที่กระทำต่อกันโดยประมาท ความผิดอาญาต่อส่วนตัวซึ่งรวมถึงคดีอนาจาร และความผิดลหุโทษ ระบบเจ้าโคตรมีข้อดี คือ ช่วยรักษาสภาพจิตใจคู่กรณีและดำรงสัมพันธภาพร่วมกันเอาไว้ ช่วยลดภาระของทางราชการและลดความขัดแย้งในสังคม ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายประชาชนไปพร้อมกับลดปัญหาการดำเนินงานซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังประสบอยู่โดยระงับไม่ให้ข้อพิพาทเล็กน้อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทว่ามีข้อจำกัด ได้แก่ การยึดโยงอยู่กับศรัทธาต่อตัวบุคคลทำให้ระบบขาดเสถียรภาพ อาจมีความเหมาะสมที่จะใช้ในสังคมขนาดเล็ก และไม่มีกฎหมายรองรับผลของการไกล่เกลี่ยหากเจ้าโคตรไม่ใช่ผู้ผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน 2) ระบบเจ้าโคตรดำรงอยู่อย่างมีสัมพันธภาพกับงานยุติธรรมชุมชนแบบอื่นๆของภาครัฐ โดยการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขการดำเนินงานยุติธรรมชุมชนของภาครัฐ ได้แก่ การมีคนกลางมากกว่าหนึ่งคน และการให้จัดทำเอกสารลายลักษณ์อักษรในกระบวนการระงับข้อพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงตามกฎหมาย 3) ภาครัฐมีการรับรู้ระบบเจ้าโคตรที่ใช้จัดการความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างจำกัด แม้ว่าจะมีมุมมองว่าระบบเจ้าโคตรมีศักยภาพต่อการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นแต่ยังมีท่าทีแบ่งรบแบ่งสู้หากจะต้องส่งเสริมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ 4) ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยต่อการเชื่อมโยงระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมคือ ควรส่งเสริมให้ชุมชนนำระบบเจ้าโคตรซึ่งเป็นยุติธรรมเชิงจารีตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในหมู่บ้านอย่างจริงจัง และควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็น และสนับสนุนให้ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกเครือข่ายศูนย์ยุติธรรมชุมชน และเจ้าโคตรรุ่นปัจจุบันอีกจำนวน 2 คนได้รับการอบรมในหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนตามกฎหมาย


การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต Jan 2022

การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้:กรณีศึกษาเกม VALORANT เป็นการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเกมออนไลน์ แสวงหาสาเหตุของการกลั่นแกล้ง และวิธีการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์ เพื่อนำมาเผื่อแพร่และให้ความรู้กับผู้ที่มีความสนใจที่จะเข้าสู่โลกของสังคมเกมออนไลน์รับทราบถึงสาเหตุ รูปแบบ และวิธีการรับมือการกลั่นแกล้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเกมออนไลน์ การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรูปแบบกึ่งโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12 คน ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุของการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคือ 1) ปัจจัยด้านทักษะผู้เล่น 2) ปัจจัยเรื่องเพศของผู้เล่น 3) ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้แกล้ง โดยรูปแบบของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นภายในเกมออนไลน์จะเป็นรูปแบบของ 1) การใช้ Text Chat ที่เป็นการพิมพ์ข้อความเพื่อสื่อสาร 2) การใช้ Voice Chat ที่เป็นการใช้ระบบของเกมในการสื่อสารระหว่างผู้เล่นทางเสียง 3) การใช้ระบบการเล่นภายในเกมเพื่อขัดขวางหรือรบกวนการเล่นของผู้เล่น ในส่วนของการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์จะประกอบไปด้วยการรับมือโดย 1) การประณีประณอมกับการกลั่นแกล้ง 2) การปิดช่องทางการสื่อสาร และ 3) การชักชวนเพื่อนหรือคนรู้จักมาร่วมเล่นเกมออนไลน์


การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ Jan 2022

การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เรียนรู้ปัจจัยและกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสถียรภาพและสันติภาพ 2) พิจารณาอุปสรรคในการรักษาระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ 3) เพื่อเป็นการทำความเข้าใจปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดของนานาอารยะประเทศ 4) ส่งเสริมการศึกษานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีน ในบริบทการแข่งขันอิทธิพลระหว่างชาติมหาอำนาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยทางเอกสาร โดยผู้วิจัยทำการศึกษาด้วยเอกสารชั้นต้นของจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกสารชั้นรอง ทำการศึกษาวิเคราะห์ด้วยการอธิบายเชิงพรรณนาเพื่อทำการสรุปความเป็นมาของเรื่อง การวิเคราะห์การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจัยพิจารณาสำคัญของการถอนตัวจากสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการแข่งขันทางอำนาจระหว่างชาติสหรัฐอเมริกา จีนกับรัสเซีย การผูกพันตนเองในสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประสบกับสภาวะอสมมาตรด้านขีดความสามารถการป้องกันประเทศ


การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์ Jan 2022

การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การรับรู้ของหน่วยงานและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องในไทยเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนที่เผยแพร่ผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัล ความเข้าใจของตัวกระทำการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลต่อมุมมองของประเทศไทยเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ ปัจจุบันงานศึกษาจำนวนมากให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาความมั่นคงไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิจัยอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับกลยุทธ์เส้นทางสายไหมดิจิทัลและมิติด้านความมั่นคงไซเบอร์ แต่การศึกษาการมีส่วนร่วมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับปทัสถานไซเบอร์ของจีนยังคงมีจำกัด ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงกำหนดขอบเขตภายในกรอบการศึกษาผู้ประกอบการเชิงปทัสถาน โดยเน้นที่ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแพร่กระจายปทัสถานทางไซเบอร์ของจีน เพื่อตรวจสอบบทบาทของตัวแสดงทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยในฐานะผู้ประกอบการเชิงปทัสถานที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่และอิทธิพลของปทัสถานไซเบอร์ของจีน การศึกษาชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลมีอิทธิพลต่อมุมมองด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีและปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของจีนหลายประการเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อำนาจอธิปไตยทางไซเบอร์" กลายเป็นประเด็นสำคัญของการถกเถียงเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนในเวทีโลก


พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง Jan 2022

พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงของโลก หากแต่ญี่ปุ่นพึ่งพิงทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งสร้างปัญหาความแตกต่างทางรายได้ในโลก ญี่ปุ่นจึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ตามข้อตกลงของประชาคมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ทว่าการให้ความช่วยเหลือไม่ใช่การให้เปล่าโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแต่แท้จริงแล้วคาดหวังสิ่งแลกเปลี่ยนบางประการ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงถูกประชาคมนานาชาติกล่าวหาว่าญี่ปุ่นอาศัยการให้ ODA ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งนี้องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ส่งเสริมบรรทัดฐานสากลผ่านการประกาศเป้าหมายการพัฒนาให้ประชาคมนานาชาตินำไปปรับใช้เป็นแกนหลักนโยบาย ญี่ปุ่นจึงต้องโอบรับบรรทัดฐานสากลนั้นมาปรับให้เข้ากับหลักการท้องถิ่นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ อันนำมาสู่คำถามวิจัยที่ว่า ปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการบัญญัติกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา โดยอาศัยกระบวนการผสมผสานบรรทัดฐานสากลให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานท้องถิ่น ในกรอบแนวคิดประดิษฐกรรมทางสังคมเพื่อศึกษาบรรทัดฐานซึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกที่หนึ่งได้เพราะผู้นำของรัฐเห็นผลประโยชน์บางประการจึงเกิดเป็นกระบวนการโอบรับบรรทัดฐานใหม่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้กำหนดขอบเขตของเวลาโดยเริ่มต้นที่การบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับแรกในทศวรรษ 1990 ถึงการบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับล่าสุดในต้นทศวรรษ 2020 เพื่อศึกษาพลวัตที่มีอิทธิพลต่อกฎบัตร ODA ของญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา


อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง Jan 2022

อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาการแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านแนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร (Resource Imperialism) และอำนาจนำเหนือน้ำ (Hydro-Hegemony) ของจีนในลุ่มน้ำโขง ผ่านการสำรวจพัฒนาการของลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร และอำนาจนำเหนือน้ำ พร้อมกับบริบทเชิงอำนาจที่สนับสนุนอำนาจนำทางนำ้และกลยุทธ์การครอบงำของจีน การศึกษารวมถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในฐานะเครื่องมือควบคุมทรัพยากรน้ำของจีนในลาวและผลกระทบ งานวิจัยยังศึกษากลยุทธ์การต่อต้านของประชาสังคมข้ามชาติ ตรวจสอบบทบาท, แรงจูงใจ, กลยุทธ์ และปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของภาคประชาสังคมข้ามชาติในฐานะองค์กรที่มีบทบาทต่อต้านการขยายอำนาจของจีน การค้นพบที่สำคัญในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย สถานะการครองอำนาจนำทางนำ้ของจีน, ผลลัพธ์ของการต่อต้านการสร้างเขื่อนจากภาคประชาสังคม และนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การเพิ่มความโปร่งใส ท้ายสุดคือการแสวงหาทางออกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค


กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ Jan 2022

กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศในประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ สถานพยาบาลและบริษัทนายหน้าเพื่อการแปลงเพศ และกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศไทยและต่างชาติ รวมถึงศึกษาผลกระทบของการเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศกับการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ อาศัยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ (State) ตลาด (Market) และสังคม (Society) ผลการวิจัยพบว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศมาจากผลพวงของอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศในอดีตและอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ อันนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดแปลงเพศที่ตอบสนองต่อความต้องการการแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศเพื่อการประกอบอาชีพการค้าบริการทางเพศและสถานบันเทิงทางเพศ อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ของสถานพยาบาลเพื่อการแปลงเพศ และนำมาซึ่งการรับรู้โดยทั่วกันของผู้คนทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศ อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยฉบับนี้ คือ การที่นายหน้ามีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศ อย่างไรก็ดี การเป็นปลายทางของการศัลยกรรมแปลงเพศดังกล่าวก็บดบังความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยยังมิได้มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควรในเรื่องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ และการเข้าถึงการศัลยกรรมแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศชาวไทยบางส่วนยังเกิดขึ้นอย่างจำกัด


ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี, เมธาวี สารกอง Jan 2022

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี, เมธาวี สารกอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้แก่ เพศสภาพ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบหลีกเลี่ยงความไม่เชี่ยวชาญ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบมุ่งเน้นการแสดงความสามารถ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบหลีกเลี่ยงการแสดงความด้อยความสามารถ การอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาแบบห่วงใย การอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาแบบปกป้องมากเกินไป การรับรู้คุณค่าในตนเอง การรับรู้ความสามารถของตนเอง และลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบ โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่าปัจจัยที่สัมพันธ์ทั้งหมดดังกล่าวสามารถร่วมกันทำนายความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 5 อันดับแรกของประเทศไทย ทุกชั้นปี อายุตั้งแต่ 18-25 ปี ที่สามารถอ่านทำความเข้าใจภาษาไทยได้ จำนวน 309 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา โดยใช้ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงอนุมาน โดยใช้ค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณแบบนำตัวแปรเข้าทุกตัวแปร ผลการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณพบว่าตัวแปรทำนายทั้งหมดสามารถร่วมกันทำนายความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ร้อยละ 41.60 โดยคะแนนลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสามารถทำนายได้มากที่สุด (β = .493, p < .01) รองลงมาคือ การรับรู้คุณค่าในตนเอง (β = -.195, p < .01) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (β = -.161, p < .01) ตามลำดับ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้นักศึกษาที่นับว่าเรียนเก่งจนสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถได้มาก เนื่องจากมีลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสูง มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำ และมีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำ


การจัดบุคลิกภาพแบบหลากหลายและการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อเจตคติระหว่างกลุ่มพุทธและมุสลิม : การศึกษาอิทธิพลส่งผ่านของความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคมและอิทธิพลกำกับของค่านิยมส่วนบุคคลในพื้นที่ความไม่สงบภาคใต้ของไทย, เพ็ญประภา ปริญญาพล Jan 2022

การจัดบุคลิกภาพแบบหลากหลายและการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อเจตคติระหว่างกลุ่มพุทธและมุสลิม : การศึกษาอิทธิพลส่งผ่านของความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคมและอิทธิพลกำกับของค่านิยมส่วนบุคคลในพื้นที่ความไม่สงบภาคใต้ของไทย, เพ็ญประภา ปริญญาพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มี 3 การศึกษา การศึกษาที่ 1 สำรวจการรับรู้การจัดบุคลิกภาพหลากหลายของกลุ่มพุทธและมุสลิม (n =382) ในสามจังหวัดชายแดนใต้ การศึกษาที่ 2 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดบุคลิกภาพแบบหลากหลายต่อเจตคติระหว่างกลุ่ม โดยมีความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่านและค่านิยมส่วนบุคคลเป็นตัวแปรกำกับ (n =150) การศึกษาที่ 3 ศึกษาผลการอ่านเรื่องราวการรับรู้บุคลิกภาพแบบหลากหลายและการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติที่มีต่อเจตคติระหว่างกลุ่มและความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคม (n =105) ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ผลพบว่า 1) คะแนนการจัดบุคลิกภาพแบบหลากหลายระหว่างพุทธและมุสลิมมีความแตกต่างกัน 2) ค่านิยมส่วนบุคคลตัวแปรกำกับมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการจัดบุคลิกภาพแบบหลากหลายและเจตคติระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคมไม่เป็นตัวส่งผ่านอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ทั้งสอง 3) ไม่พบความแตกต่างของคะแนนเจตคติระหว่างกลุ่มและความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการทดลองทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม


ความสัมพันธ์ในช่วงต้นของชีวิตของผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเพศ, กวิน ก้อนทอง Jan 2022

ความสัมพันธ์ในช่วงต้นของชีวิตของผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเพศ, กวิน ก้อนทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเพื่อศึกษาแก่นสาระของประสบการณ์ความสัมพันธ์ในช่วงต้นของชีวิตของผู้กระทำความผิดคดีเกี่ยวกับเพศ ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นผู้กระทำความผิดคดีเกี่ยวกับเพศ จำนวน 6 คน มีอายุระหว่าง 21- 51 ปี ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบแก่นสาระของประสบการณ์ความสัมพันธ์ในช่วงต้นของชีวิตของผู้กระทำความผิดคดีเกี่ยวกับเพศ 3 ประเด็นหลัก 11 ประเด็นย่อย ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 เติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมี 5 ประเด็นย่อย คือ มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ซับซ้อน ขาดการดูแลจากผู้เลี้ยงดู ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและวาจา คุ้นเคยกับยาเสพติดหรืออาชญากรรมตั้งแต่เด็ก และไม่มีแบบอย่างในการใช้ชีวิต ประเด็นหลักที่ 2 มุมมองด้านรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งมี 3 ประเด็นย่อย คือ รู้สึกสบายใจมากกว่ากับสมาชิกครอบครัวเพศหญิง มุมมองว่าผู้ชายใช้ความรุนแรงหรือสารเสพติดเป็นเรื่องธรรมดา และโทษตนเองเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ประเด็นหลักที่ 3 การหลีกหนีความรู้สึกโกรธและความอับอาย (เชื่อว่าตนทำอะไรกับความโกรธและความอับอายไม่ได้) ซึ่งมี 3 ประเด็นย่อย คือ เก็บกดความรู้สึกลบเอาไว้ ใช้ความรุนแรงเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึก และ ใช้สารเสพติดเพื่อลืมความรู้สึก


ความสัมพันธ์ของการกำหนดตนเอง การคลั่งไคล้ศิลปิน และ การฟื้นคืนพลัง ในผู้ใหญ่วัยเริ่มที่เข้าร่วมกลุ่มชื่นชอบศิลปิน, จุฑามาศ มงคลอำนาจ Jan 2022

ความสัมพันธ์ของการกำหนดตนเอง การคลั่งไคล้ศิลปิน และ การฟื้นคืนพลัง ในผู้ใหญ่วัยเริ่มที่เข้าร่วมกลุ่มชื่นชอบศิลปิน, จุฑามาศ มงคลอำนาจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ของการกำหนดตนเอง (Self-determination) โดยประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ความต้องการความสามารถ (Competence) ความต้องการมีอิสระ (Autonomy) และความต้องการความสัมพันธ์ในสังคม (Relatedness) รวมถึงการคลั่งไคล้ศิลปิน (Celebrity worship) ที่อาจร่วมกันอธิบายการฟื้นคืนพลัง (Resilience) ในกลุ่มผู้ชื่นชอบศิลปินวัยผู้ใหญ่วัยเริ่ม อายุ 18-29 ปี จำนวน 134 คน จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การกำหนดตนเองด้านความต้องการ 3 ด้าน (ความสามารถ การมีอิสระ และความสัมพันธ์ในสังคม) และการคลั่งไคล้ศิลปิน ร่วมกันอธิบายการฟื้นคืนพลัง (Resilience) ได้ร้อยละ 20.1 โดยการกำหนดตนเองด้านความต้องการความสามารถอธิบายการฟื้นคืนพลังได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น ในการส่งเสริมการฟื้นคืนพลังในผู้ใหญ่วัยเริ่ม อาจเน้นเสริมทักษะความสามารถที่จำเป็นต่อการทำตามเป้าหมายของบุคคล กระบวนการพัฒนาทักษะอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการฟื้นคืนพลังข้ามผ่านอุปสรรคไปสู่เป้าหมายได้ แม้ว่าความต้องการความสัมพันธ์และด้านความต้องการมีอิสระรวมถึงการคลั่งไคล้ศิลปินจะไม่สามารถอธิบายการฟื้นคืนพลังได้ แต่หากส่งเสริมทางด้านความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การมีอิสระในทางเลือกของตนเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการติดตามศิลปินอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นกำลังใจในการข้ามผ่านอุปสรรคร่วมด้วย ก็อาจจะช่วยส่งเสริมการฟื้นคืนพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่มที่ชื่นชอบศิลปินได้


ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ โดยมีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์เป็นตัวแปรกำกับ, ชีรนุช สมบูรณ์กุลวุฒิ Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ โดยมีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์เป็นตัวแปรกำกับ, ชีรนุช สมบูรณ์กุลวุฒิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์โดยมีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์เป็นตัวแปรกำกับ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์นี้โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในประเทศไทยจำนวน 226 คน ผลการวิจัยพบว่า ความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์ทางลบกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ (r = –.21, p < .01) ความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์มีอิทธิพลกำกับในความสัมพันธ์ของความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ (b = –.78, p < .05) ในบุคคลที่มีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์ระดับต่ำ ยิ่งมีความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์สูงจะยิ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูง (b = .66, p < .05) แต่ในบุคคลที่มีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์ระดับปานกลาง (b = .22, p = .37) และสูง (b = –.23, p = .43) ความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าในบุคคลที่มีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์ในระดับต่ำ การมีความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์สูงแต่ไม่สูงจนเกินไปจะเป็นแรงผลักดันให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูงขึ้น และการมีความเชื่อแบบเติบโตในความสามารถทางคณิตศาสตร์ระดับปานกลางและสูง น่าจะส่งผลให้ความวิตกกังวลในคณิตศาสตร์ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์


ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนจากพ่อแม่และการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของวัยรุ่นตอนต้น : อิทธิพลกำกับของความอบอุ่นทางอารมณ์จากพ่อแม่, ฐิติรัตน์ ลีละวินิจกุล Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนจากพ่อแม่และการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของวัยรุ่นตอนต้น : อิทธิพลกำกับของความอบอุ่นทางอารมณ์จากพ่อแม่, ฐิติรัตน์ ลีละวินิจกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนจากพ่อแม่และการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของวัยรุ่นชายและหญิงตอนต้น รวมไปถึงศึกษาอิทธิพลกำกับของความอบอุ่นทางอารมณ์จากพ่อแม่ที่มีต่อความสัมพันธ์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยคือวัยรุ่นชายและหญิงตอนต้น อายุ 12-15 ปี จำนวนทั้งสิ้น 273 คน แบ่งเป็นวัยรุ่นชายจำนวน 125 คน และวัยรุ่นหญิงจำนวน 148 คน ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) มาตรวัดการรับรู้การล้อเลียน 3) มาตรวัดการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ และ 4) มาตรวัดความอบอุ่นทางอารมณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์อิทธิพลกำกับ ผลการวิจัยพบว่า 1) ในวัยรุ่นชายตอนต้น ทั้งการล้อเลียนจากพ่อและการล้อเลียนจากแม่ไม่มีความสัมพันธ์กับการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ นอกจากนี้ยังไม่พบอิทธิพลกำกับของความอบอุ่นทางอารมณ์จากพ่อแม่ในความสัมพันธ์ทั้งระหว่างการล้อเลียนจากพ่อและการล้อเลียนจากแม่กับการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ 2) ในขณะที่ในวัยรุ่นหญิงตอนต้น พบความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างการล้อเลียนจากพ่อกับการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนจากแม่และการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ และไม่พบอิทธิพลกำกับของความอบอุ่นทางอารมณ์จากพ่อแม่ในความสัมพันธ์ทั้งระหว่างการล้อเลียนจากพ่อและการล้อเลียนจากแม่กับการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการล้อเลียนจากพ่อแม่เป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในครอบครัวไทย โดยการลดการล้อเลียนจากพ่อในวัยรุ่นหญิงตอนต้นอาจจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยลดการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของวัยรุ่นหญิงตอนต้นให้น้อยลงได้


ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ประสบการณ์เชิงบวก และสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแล : การวิเคราะห์โมเดลทวิสัมพันธ์, กุลนิษฐ์ ดำรงค์สกุล Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ประสบการณ์เชิงบวก และสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแล : การวิเคราะห์โมเดลทวิสัมพันธ์, กุลนิษฐ์ ดำรงค์สกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนื้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมและสุขภาวะทางใจในผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแล โดยมีการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกเป็นตัวแปรส่งผ่าน (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมและการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกที่มีต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแลผู้ป่วยในเชิงทวิสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแล 120 คู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม มาตรวัดการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวก และ มาตรวัดสุขภาวะทางใจ ซึ่งมีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง 0.82 ถึง 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรม LISREL 10.2 ผลการวิจัย พบว่า (1) การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุ โดยมีการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบสมบูรณ์ (2) การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุ โดยมีการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบบางส่วน (3) การรับรู้การสนับสนุนทางสังคมส่งผลต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแลในทางตรงเท่านั้น (only actor effect) โดยส่งผลต่อญาติผู้ดูแลได้มากกว่าผู้ป่วย และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมของทั้งคู่ ไม่มีผลต่อระดับสุขภาวะทางใจของอีกฝ่าย นอกจากนี้ ยังพบว่าการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันมากกว่าสุขภาวะทางใจ และ (4) การรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกส่งผลต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงอายุและญาติผู้ดูแลในลักษณะอิทธิพลคู่เหมือน (couple pattern) โดยส่งผลทางตรงต่อญาติผู้ดูแลได้มากกว่าผู้ป่วยเล็กน้อย และมีเพียงการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกของญาติผู้ดูแลเท่านั้นที่ส่งผลทางไขว้ต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังพบว่าการรับรู้ประสบการณ์เชิงบวกของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันมากกว่าสุขภาวะทางใจด้วย


การพัฒนาและตรวจสอบแบบประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน, ณัฐวุฒิ เกษมสวัสดิ์ Jan 2022

การพัฒนาและตรวจสอบแบบประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน, ณัฐวุฒิ เกษมสวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกสำหรับเด็กที่มีภาวะสมองพิการ กลุ่มตัวอย่างได้แก่กลุ่มเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน อายุ 7-12 ปี จำนวน 35 คน แบ่งเป็นชาย 21 คน หญิง 14 คน และกลุ่มเด็กปกติ อายุ 7-12 ปี จำนวน 35 คน แบ่งเป็นชาย 18 คน หญิง 17 คน ผู้วิจัยนำข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์ข้อมูลผ่านสถิติพรรณาและตรวจสอบค่าความเที่ยงด้วยวิธีการทดสอบแบบคู่ขนาน (Parallel Form Method) เพื่อตรวจสอบค่าสัมประสิทธิ์ของความสมมูล (Coefficient of Equivalence) และความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมิน (Inter-rater) ด้วยสัมประสิทธิ์แคปปา (Kappa coefficient) และตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาด้วยค่าดัชนีความสอดคล้องของแบบประเมินกับจุดประสงค์ (Index of Item-Objective Congruence หรือ IOC) และตรวจสอบความตรงเชิงสภาพด้วยวิธีการใช้กลุ่มที่แตกต่างกัน (Known-Group Technique) ผลการวิจัยพบว่าจากการทดสอบสมมติฐานด้วยวิธีกลุ่มที่แตกต่างกัน เด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อนมีคะแนนน้อยกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (Mean = 3.16, 1.48 t = 3.964 p < .001 ในการทดสอบครั้งที่ 1 และ Mean = 3.33, 1.30 t = 4.260 p < .001 ในการทดสอบครั้งที่ 2) ส่วนการประเมินความตรง แบบประเมินมีค่าดัชนีความสอดคคล้องกับจุดประสงค์อยู่ที่ 1.0 มีความตรงเชิงเนื้อหา ความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมินด้วยสัมประสิทธิ์แคปปาในการทดสอบแต่ละครั้งอยู่ที่ระดับ 0.912 และ 0.941 ในเด็กที่มีภาวะสมองพิการ 0.823 และ 0.911 ในเด็กปกติ อย่างไรก็ตามจากการวิจัยค้นพบว่าการเรียนรู้และปัญหาด้านความใส่ใจของกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อคะแนนของการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในแต่ละครั้งในการทดสอบแบบคู่ขนาน ส่งผลให้ค่าความเที่ยงในการทดสอบในเด็กที่มีภาวะสมองพิการอยู่ที่ระดับ 0.85 และเด็กปกติอยู่ที่ระดับ 0.71 สามารถสรุปได้ว่าแบบประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกมีความสอดคล้องกันระหว่างผู้ประเมิน มีความตรงเพียงพอที่จะใช้ในการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน แต่ยังพบข้อจำกัดด้านการเรียนรู้และความใส่ใจซึ่งส่งผลต่อการทดสอบ ทั้งนี้การวิจัยในอนาคตควรจะมีการทดสอบหาอำนาจจำแนกของคะแนน เกณฑ์คะแนนผ่านของเด็กที่มีภาวะสมองพิการและเปรียบเทียบกับเด็กปกติ


ความสามารถในการฟื้นพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่ม: การวิเคราะห์จัดกลุ่มความเมตตากรุณาต่อตนเอง ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การให้การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม, ดลนภัส ชลวาสิน Jan 2022

ความสามารถในการฟื้นพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่ม: การวิเคราะห์จัดกลุ่มความเมตตากรุณาต่อตนเอง ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การให้การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม, ดลนภัส ชลวาสิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกลุ่มปัจจัยระดับบุคคล ได้แก่ ความเมตตากรุณาต่อตนเอง และปัจจัยระดับสังคม ได้แก่ ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม การให้การสนับสนุนทางสังคม และเปรียบเทียบความแตกต่างของความสามารถในการฟื้นพลังระหว่างกลุ่มดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่ม จำนวน 310 คน ที่เป็นนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์จัดกลุ่มเพื่อจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยโดยมีพื้นฐานอยู่บนตัวแปรระดับบุคคลและตัวแปรระดับสังคม จากนั้นใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังระหว่างกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า สามารถแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ “ใจดีต่อตนเองและผู้อื่นสูง” “ใจดีต่อตนเองปานกลางแต่ใจดีต่อผู้อื่นน้อย” “ใจดีต่อตนเองและผู้อื่นน้อย” และ “ใจดีต่อตนเองน้อยแต่ใจดีต่อผู้อื่นปานกลาง” และพบว่า มีความแตกต่างของคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F(3, 306) = 18.75, p < 0.001, η2 = 0.155) โดยกลุ่มที่มีคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังสูงที่สุด (M = 3.25) คือ “ใจดีต่อตนเองและผู้อื่นสูง” ที่คะแนนตัวแปรระดับบุคคลและตัวแปรระดับสังคมอยู่ในระดับสูง ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่มีคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังต่ำที่สุด (M = 2.59) คือ “ใจดีต่อตนเองน้อยแต่ใจดีต่อผู้อื่นปานกลาง” ซึ่งคะแนนตัวแปรระดับบุคคลอยู่ในระดับต่ำและคะแนนตัวแปรระดับสังคมอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันแสดงถึงความสามารถในการฟื้นพลังในระดับที่แตกต่างกัน


ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิง, ตะวันนา โกเมนธรรมโสภณ Jan 2022

ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิง, ตะวันนา โกเมนธรรมโสภณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิงแต่งงานแล้ว ผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นผู้หญิง จำนวน 160 คน ที่มีอายุ 40–60 ปี มีสถานะแต่งงานแล้วหรือมีการใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยาเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ซึ่งประเมินการมีลูก รูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวล รูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนี บทบาททางเพศ ความใกล้ชิดทางอารมณ์ ระยะเวลาในการใช้ชีวิตสมรส ประเภทของครอบครัว การรับรู้การตอบสนองของคู่สัมพันธ์ และความพึงพอใจในชีวิตสมรส จากผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ พบว่า ร้อยละ 39.10 (R2 = 0.391) ของความพึงพอใจในชีวิตสมรสสามารถอธิบายได้ด้วย การรับรู้การตอบสนองของคู่สัมพันธ์ (B = 2.179) และรูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนี (B = -1.095) จากการศึกษา สามารถอธิบายได้ว่า ความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการรับรู้ของผู้หญิงที่มีต่อการตอบสนองของคู่สัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และมีความสัมพันธ์เชิงลบกับรูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนีของผู้หญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001


ความสัมพันธ์ระหว่างการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกกับความไว้วางใจ โดยมีการเล่นพรรคเล่นพวกของหัวหน้างานเป็นตัวแปรกำกับ, ธนานุตม์ จุลกระเศียร Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกกับความไว้วางใจ โดยมีการเล่นพรรคเล่นพวกของหัวหน้างานเป็นตัวแปรกำกับ, ธนานุตม์ จุลกระเศียร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกต่อความไว้วางใจ 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นพรรคเล่นพวกของหัวหน้างานต่อความไว้วางใจ และ 3) เพื่อศึกษาอิทธิพลกำกับการเล่นพรรคเล่นพวกของหัวหน้างานต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกกับความไว้วางใจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นพนักงานที่มีหัวหน้างาน ที่มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ปฏิบัติงานกับหัวหน้างานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในบริษัทเอกชนในประเทศไทย โดยไม่ได้มีการระบุอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง จำนวนทั้งสิ้น 200 คน โดยสามารถสรุปผลการวิจัย พบว่า การรับรู้การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความไว้วางใจด้านความรู้ความเข้าใจที่ขนาด (β = .57, p < .01) และทางด้านอารมณ์ (β = .76, p < .01) การรับรู้การเล่นพรรคเล่นของหัวหน้างานมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความไว้วางใจด้านความรู้ความเข้าใจที่อิทธิพลขนาดเล็ก (β = .27, p < .01) ในขณะที่การรับรู้การเล่นพรรคเล่นของหัวหน้างานไม่มีความสัมพันธ์ต่อความไว้วางใจด้านอารมณ์ อีกทั้งการรับรู้การเล่นพรรคเล่นพวกของหัวหน้างานไม่ได้เป็นตัวแปรกำกับต่อความสัมพันธ์ระหว่างการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกกับความไว้วางใจด้านความรู้ความเข้าใจและทางด้านอารมณ์ ดังนั้น การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกควรตระหนักในเรื่องของคุณภาพการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้อยู่ในลักษณะของการเปิดกว้าง สนับสนุนให้สมาชิกใช้ประโยชน์จากคุณภาพของการแลกเปลี่ยนอย่างเกิดประโยชน์และนำไปสู่ความไว้วางใจที่มีต่อหัวหน้างาน


ความเหงาและความพึงพอใจในชีวิตของผู้ใหญ่ตอนต้นที่เล่นเกมออนไลน์ประเภท Mmorpg, พินิตา พร้อมเทพ Jan 2022

ความเหงาและความพึงพอใจในชีวิตของผู้ใหญ่ตอนต้นที่เล่นเกมออนไลน์ประเภท Mmorpg, พินิตา พร้อมเทพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกลุ่มผู้ที่เล่นเกมออนไลน์ประเภท MMORPG ด้วยคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านสังคมในชีวิตจริง การรับรู้ความสามารถของตนเองด้านสังคมในเกม และคะแนนคุณภาพของกิลด์ และเปรียบเทียบความแตกต่างในความเหงาและความพึงพอใจในชีวิตระหว่างกลุ่ม โดยมีผู้เข้าร่วมงานวิจัยคือผู้ใหญ่ตอนต้นอายุระหว่าง 18-35 ปีที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 710 คน ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการวิเคราะห์จัดกลุ่ม และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สามารถจัดกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสูง กลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงสูง กลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงต่ำ และกลุ่มต่ำ ในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของความเหงา พบว่า กลุ่มสูงเป็นกลุ่มที่มีคะแนนความเหงาต่ำที่สุด และกลุ่มต่ำเป็นกลุ่มที่มีคะแนนความเหงาสูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงต่ำมีคะแนนความเหงาสูงกว่ากลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงสูง สำหรับความพึงพอใจในชีวิต กลุ่มสูงเป็นกลุ่มที่มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงที่สุด ในขณะที่กลุ่มต่ำเป็นกลุ่มที่มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตต่ำที่สุด และกลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงสูงมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่ากลุ่มการรับรู้สังคมในชีวิตจริงต่ำ เป็นไปได้ว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านสังคมทั้งในเกมและในชีวิตจริงเป็นปัจจัยหลักในการช่วยลดความเหงาและช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิต กล่าวคือบุคคลที่มีการรับรู้ทักษะด้านสังคมของตนเองสูงอาจจะมีความกล้าที่จะเริ่มต้นทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิต ในขณะเดียวกันคะแนนคุณภาพของกิลด์มีส่วนช่วยลดความเหงาและเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตในกลุ่มบุคคลที่มีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านสังคมทั้งในเกมและในชีวิตจริงต่ำ เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกิลด์ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์และพัฒนาทักษะทางสังคม และความพึงพอใจจากการเข้าร่วมกิลด์ช่วยให้บุคคลรับรู้ความสามารถของตนเองด้านสังคมในเกมมากขึ้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคม และได้รับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งช่วยลดระดับความเหงาและเพิ่มระดับความพึงพอใจในชีวิตได้


การชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมในบุคคลที่มีลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุมที่แตกต่างกันเพื่อลดพฤติกรรมการอู้งานในกลุ่ม, ภรัณยู โรจนสโรช Jan 2022

การชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมในบุคคลที่มีลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุมที่แตกต่างกันเพื่อลดพฤติกรรมการอู้งานในกลุ่ม, ภรัณยู โรจนสโรช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมในบุคคลที่มีลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุมที่แตกต่างกันเพื่อลดพฤติกรรมการอู้งานในการทำงานเป็นกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตปริญญาตรีอายุ 18 – 24 ปี จำนวน 171 คน การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ Factorial 2X2 (ลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุม X การชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมภายใน) ในลักษณะของการศึกษาแบบกึ่งการทดลองผ่านออนไลน์ โดยมีพฤติกรรมการอู้งานเป็นตัวแปรตาม งานวิจัยมีการเก็บข้อมูลแบ่งเป็นสองช่วงตอนการศึกษา โดยช่วงตอนแรกจะเป็นการทำแบบสอบถามผ่าน Google Form เป็นมาตรวัดลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุม (เพื่อแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยออกเป็นกลุ่มที่มีลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุมภายใน และภายนอก) จากนั้นจะมีการนัดหมายผู้เข้าร่วมการวิจัยมาเข้าร่วมในช่วงตอนที่สองผ่าน Zoom Meeting เพื่อสุ่มเข้าเงื่อนไขจัดกระทำเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง (เงื่อนไขชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมภายใน หรือเงื่อนไขควบคุม) จากนั้นทำการวัดพฤติกรรมการอู้งานโดยให้ผู้เข้าร่วมทำงานระดมความคิดออนไลน์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วผู้วิจัยทำการอธิบายจุดประสงค์ที่แท้จริงให้แก่ผู้เข้าร่วมการวิจัยฟัง ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะการอ้างอิงแหล่งควบคุมและการชี้นำการอ้างอิงแหล่งควบคุมไม่มีปฏิสัมพันธ์กันต่อพฤติกรรมการอู้งาน อีกทั้ง 2 ตัวแปรดังกล่าวยังไม่มีอิทธิพลหลักต่อพฤติกรรมการอู้งานอย่างมีระดับนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามผู้วิจัยกลับพบว่าตัวแปรเพศมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการอู้งานในงานวิจัยนี้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมการวิจัยเพศชายมีแนวโมที่จะมีแรงจูงใจในการทำงานระดมความคิดออนไลน์ (คิดการใช้งานของมีด) มากกว่าเพศหญิง เป็นข้อค้นพบว่าตัวแปรเพศนั้นสามารถมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการอู้งานได้เช่นกัน หากงานดังกล่าวเป็นประเภทงานที่ผู้ชายกับผู้หญิงมีแรงจูงใจในการทำต่างกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบกึ่งการทดลองในลักษณะทำผ่านออนไลน์ อาจทำให้มีข้อจำกัด จึงต้องการการศึกษาต่อยอดในอนาคตต่อไป


ประสบการณ์การผสมผสานอัตลักษณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษามืออาชีพ, วรัทธน์ ปัญญาทิยกุล Jan 2022

ประสบการณ์การผสมผสานอัตลักษณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษามืออาชีพ, วรัทธน์ ปัญญาทิยกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวปรากฏการณ์วิทยา​ เพื่อศึกษาประสบการณ์ผสมผสานอัตลักษณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษามืออาชีพ โดยทําการเก็บรวบรวม ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์นักจิตวิทยาการปรึกษามืออาชีพที่มีประสบการณ์ทํางานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี จํานวนทั้งสิ้น 7 คน ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและนําข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดของการทําวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบ Theme analysis ผลจากการวิจัยทําให้เห็นว่า​ประสบการณ์ผสมผสานอัตลักษณ์ของนักจิตวิทยาการ ปรึกษามืออาชีพสามารถสรุปออกมาได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.​ แนวทางในการพัฒนาอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นการสรุปถึงวิธีการหรือแนวทางต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยาการปรึกษาใช้ในการพัฒนาอัตลักษณ์ และ 2.​ อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งเป็นการสรุปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้งอัตลักษณ์ทางวิชาชีพและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของนักจิตวิทยาการปรึกษา​ โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ข้างต้นนั้นช่วยให้เราเห็นพลวัตที่เกิดขึ้นกับอัตลักษณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษา เห็นถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอัตลักษณ์ รวมถึงทําให้เราเห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างพัฒนาการทางวิชาชีพและพัฒนาการของอัตลักษณ์ในนักจิตวิทยาการปรึกษา ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ต่อพัฒนาการของอัตลักษณ์ในนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ลึกซึ้งมากขึ้น