Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2019

Discipline
Institution
Keyword
Publication
Publication Type
File Type

Articles 27871 - 27900 of 31920

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

รูปแบบการดำเนินชีวิต และการเปิดรับข่าวสารเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุของผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุ, ดวงหทัย สว่างภพ Jan 2019

รูปแบบการดำเนินชีวิต และการเปิดรับข่าวสารเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุของผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุ, ดวงหทัย สว่างภพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์จัดกลุ่มและอธิบายรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อสำรวจการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ การเงินและที่อยู่อาศัยของผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง อายุ 45-59 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 410 คน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) และการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุ สามารถแบ่งได้เป็น 9 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มดูดีมีระดับ 2. กลุ่มวางแผนชีวิตพิชิตเป้าหมาย 3. กลุ่มจิตใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือสังคม 4. กลุ่มกล้าคิดกล้าตัดสินใจ 5. กลุ่มทันยุคทันสมัย 6. กลุ่มสาวแกร่ง 7. กลุ่มเติบโตอย่างมั่นคง 8. กลุ่มสบาย ๆ ใส่ใจตัวเอง 9. กลุ่มอนุรักษ์นิยม การเปิดรับข่าวสารเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พบว่า ผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับมาก ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และผลิตภัณฑ์ด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ผู้หญิงก่อนวัยผู้สูงอายุมีการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และการเงินผ่านสื่อใหม่อยู่ในระดับมาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์ด้านที่อยู่อาศัยมีการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อใหม่อยู่ในระดับปานกลาง


ภาพสะท้อนความโรแมนติกของผู้ก่อการร้ายในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร, ณัฐวุฒิ นาคง Jan 2019

ภาพสะท้อนความโรแมนติกของผู้ก่อการร้ายในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร, ณัฐวุฒิ นาคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาลักษณะของผู้ก่อการร้ายที่ตัวละครวายร้ายสะท้อนในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร การสร้างความโรแมนติกให้กับตัวละครวายร้าย และ สัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อการร้ายและตัวละครวายร้าย โดยอาศัยแนวคิดการก่อการร้าย แนวคิดโรแมนติกนิยมและการสร้างตัวละคร และ แนวคิดภาพตัวแทนและการจำลอง เพื่อวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) ของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรดังต่อไปนี้ Avengers: Age of Ultron Captain America: Civil War Black Panther Avengers: Infinity War และ Endgame และ Aquaman ผลการศึกษาพบว่าตัวละครวายร้ายในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรเป็นภาพตัวแทนของผู้ก่อการร้ายที่มีความโรแมนติกและความเป็นมนุษย์มากขึ้น ขัดแย้งกับความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายที่แพร่หลาย ภาพของผู้ก่อการร้ายจึงสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้ตัวละครวายร้ายยังนำเสนอคุณค่าและปัญหาทางสังคมที่เป็นที่สนใจในสังคมสมัยใหม่ เช่น การเหยียดชาติพันธุ์ การทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ความรุนแรง ฯลฯ ตัวละครวายร้ายที่มีความโรแมนติกยังสะท้อนการถดถอยของความเชื่อมั่นที่สาธารณะมีต่อระบบและสถาบันทางการปกครองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรยังคงนำเสนอแนวคิดพัฒนาการนิยมแบบฉาบฉวยและสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้ผู้ชมนิ่งเฉยหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความย้อนแย้งระหว่างอนุรักษ์นิยมและพัฒนาการนิยมนี้อาจเป็นผลมาจากความพยายามของผู้ผลิตในการสร้างความหลากหลายให้แก่ตัวละครให้สอดคล้องสังคมปัจจุบันเพื่อขยายกลุ่มผู้ชมและผลประโยชน์ทางการเงิน อนึ่งแนวคิดและทฤษฎีทางด้านความงามเช่น ทวินิยม และ กลวิธีการเล่าเรื่องสามารถเสริมสร้างความรู้สึกสมจริงให้แก่ภาพตัวแทนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางอารมณ์ที่ผู้บริโภคมีต่อภาพตัวแทน


ผลของความน่าดึงดูดใจของนางแบบในโฆษณาและประเภทสินค้าบนอินสตาแกรมต่อการตอบสนองของผู้บริโภค, ถิรดา ถิระพร Jan 2019

ผลของความน่าดึงดูดใจของนางแบบในโฆษณาและประเภทสินค้าบนอินสตาแกรมต่อการตอบสนองของผู้บริโภค, ถิรดา ถิระพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ 3x2 แฟคเทอเรียล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบหลักและผลกระทบร่วมกันของประเภทความน่าดึงดูดใจของนางแบบในโฆษณา (ความสวยแบบน่ารัก ความสวยแบบเย้ายวน และความสวยแบบทันสมัย) และประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความน่าดึงดูดใจ (สินค้าที่ใช้เพื่อเสริมความงาม และสินค้าที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาความงาม) ที่ส่งผลต่อการตอบสนองของผู้บริโภค ได้แก่ ทัศนคติต่อนางแบบโฆษณา ทัศนคติต่องานโฆษณา ทัศนคติต่อตราสินค้า และความตั้งใจซื้อ โดยเก็บข้อมูลกับนิสิตหญิงที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 180 คน ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ผลการวิจัยพบว่า ประเภทความน่าดึงดูดใจของนางแบบในโฆษณาส่งผลกระทบหลักต่อการตอบสนองของผู้บริโภคในด้านทัศนคติต่อนางแบบโฆษณา ทัศนคติต่องานโฆษณา และความตั้งใจซื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความน่าดึงดูดใจนั้น ส่งผลกระทบหลักต่อการตอบสนองของผู้บริโภคในด้านทัศนคติต่อนางแบบโฆษณา ทัศนคติต่องานโฆษณา และทัศนคติต่อตราสินค้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งไปกว่านั้น ประเภทความน่าดึงดูดใจของนางแบบในโฆษณาและประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความน่าดึงดูดใจ ยังส่งผลกระทบร่วมกันต่อการตอบสนองของผู้บริโภคในด้านทัศนคติต่อนางแบบโฆษณา และความตั้งใจซื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย


กลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม, ภัทรสร หัวใจฉ่ำ Jan 2019

กลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม, ภัทรสร หัวใจฉ่ำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม และศึกษาทัศนะของกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานตอนต้นที่มีต่อการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงามโดยมีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 วิธี คือ วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงามจำนวน 3 ท่าน ที่มีการสื่อสารข้อมูลด้านความงามผ่านสื่อสังคมออนไลน์สามช่องทางหลัก ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และยูทูบ (YouTube) และมีผู้ติดตามทั้งสามช่องทางจำนวน 100,000-1,000,000 คน ร่วมกับการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) เกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงามทั้งสามช่องทางของทั้งสามท่านประกอบกัน และการศึกษาทัศนะของกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานตอนต้นด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยผู้ร่วมสนทนากลุ่มเป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 25-28 ปี จำนวน 11 ท่าน ผลการวิจัยพบว่าผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงามทั้งสามท่านใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้านการออกแบบเนื้อหาในสองแบบ กล่าวคือ การนำเสนอเนื้อหาที่สื่อสารเอกลักษณ์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม และการสร้างปฏิสัมพันธ์และการตอบสนองความต้องการของผู้ติดตามที่มีต่อเนื้อหา ส่วนกลวิธีการนำเสนอเนื้อหานั้น ผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงามทั้งสามท่านให้ความสำคัญกับการใช้ถ้อยคำภาษาในการสื่อสาร รวมถึงเทคนิคด้านภาพและเสียง ส่วนทัศนะของกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานตอนต้นที่มีต่อการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม พบว่าแบ่งออกเป็น 5 ทัศนะ ได้แก่ทัศนะเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหา (Content) เฉพาะตัวเฉพาะเรื่อง ที่มีจุดเด่นน่าสนใจ ทัศนะเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการออกแบบเนื้อหาที่สะท้อนเอกลักษณ์ของผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ด้านความงาม ทัศนะเกี่ยวกับการแสดงความจริงใจในการรีวิวสินค้า ทัศนะเกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอด้วยการใช้ภาษา ภาพ และเสียง และทัศนะเกี่ยวกับเหตุผลในการเลือกเสพเนื้อหาความงามผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่ต่างกัน


การสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ของไอดอลใต้ดินไทยและการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตาม, รัฐนันท์ ขจัดภัย Jan 2019

การสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ของไอดอลใต้ดินไทยและการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตาม, รัฐนันท์ ขจัดภัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ของไอดอลใต้ดินไทย และการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตาม” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ทัศนคติของผู้ติดตามไอดอลใต้ดินไทยต่อการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ของไอดอลใต้ดิน (2) พฤติกรรมการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตามไอดอลใต้ดิน (3) ความสัมพันธ์ของทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตามไอดอลใต้ดิน และ (4) ความสัมพันธ์ของทัศนคติเกี่ยวกับการสื่อสารการตลาดของไอดอลใต้ดินไทยต่อการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยแจกแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างจำนวน 418 คนที่เป็นผู้ติดตามไอดอลใต้ดินไทย ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบว่า (1) ผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย ช่วงอายุ 18 – 25 ปี เป็นนักเรียน/นักศึกษา ระดับศึกษาขั้นปริญญาตรี ที่มีรายได้ต่อเดือนมีจำนวนต่ำกว่า 10,000 บาท โดยพบว่ามีปริมาณการซื้อสินค้าไอดอลใต้ดิน 2-3 ครั้ง ต่อเดือนครั้งละ 1,001 ถึง 2,000 บาท (2) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์ในระดับมากทั้งในปัจจัย ความเชื่อใจ(Trust) ความผูกพัน(Commitment) และการสื่อสาร(Communication) และมีทัศนคติต่อกิจกรรมทางการตลาดเชิงความสัมพันธ์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก โดยมีทัศนคติต่อการสื่อสารด้านความเชื่อใจ(Trust) มากที่สุด (3) ผู้ตอบแบบสอบถามมีพฤติกรรมการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของไอดอลใต้ดินอยู่ในระดับมาก และรวมถึงมีพฤติกรรมการซื้ออยู่ในระดับมาก โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการตระหนักรู้ถึงความต้องการตราสินค้าไอดอลใต้ดินมากที่สุด และสุดท้าย (4) ผลของการทดสอบสมมติฐานที่ 1 พบว่าทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมเชิงการตลาดของผู้ติดตามไอดอลใต้ดินอยู่ในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 และมีความสัมพันธ์กันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผลการทดสอบสมมติฐานที่ 2 พบว่า ทัศนคติต่อกิจกรรมการสื่อสารการตลาดของไอดอลใต้ดินไทยมีความสัมพันธ์กับการสื่อสารการตลาดเชิงความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และมีความสัมพันธ์กันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารอัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามในสังคมไทย, ภาณุวัฒน์ บุหงาแดง Jan 2019

สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารอัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามในสังคมไทย, ภาณุวัฒน์ บุหงาแดง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1.) เพื่อศึกษารูปแบบ และวิธีการสื่อสารสื่อสารอัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามบนสื่อสังคมออนไลน์ และ 2.) เพื่อศึกษาลักษณะของอัตลักษณ์แห่งสันติภาพในอิสลามที่สื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มต่างๆตามโครงสร้างสังคมมุสลิมในประเทศไทย จากการเก็บรวบรวม และศึกษาข้อมูลด้วยระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบ และวิธีการสื่อสาร รวมถึงลักษณะของอัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามที่ปรากฏบนเฟซบุ๊กเพจ ตลอดจนการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้บริหารองค์กรหรือผู้ดูแลเพจต่างๆ ตามหมวดโครงสร้างสังคมมุสลิมในประเทศไทยทั้ง 5 กลุ่มได้แก่ 1.) กลุ่มนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง 2.) กลุ่มผู้นำศาสนา 3.) กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม 4.) กลุ่มนักธุรกิจ และ 5.) กลุ่มมุสลิมบล็อกเกอร์ ผลการศึกษาพบว่าอัตลักษณ์ปัจเจก หรือการระบุตัวตนทางสังคม และบทบาทการขับเคลื่อนสันติภาพอิสลามของแต่ละกลุ่มส่งผลให้ประเด็นของเนื้อหา รูปแบบ วิธีการสื่อสาร ตลอดจนการนิยามอัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามคุณลักษณะของอัตลักษณ์ที่ปรากฏทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าทุกกลุ่มล้วนหยิบนำคำสอนทางศาสนาจากคัมภีร์อัลกุรอาน และจริยวัตรของศาสดามาเป็นแนวทางสำคัญในการนำเสนออัตลักษณ์แห่งสันติภาพอิสลามบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหมดสรุปได้ว่าภูมิทัศน์สื่อออนไลน์นั้นมีบทบาทสำคัญในการมอบพื้นที่ซึ่งเอื้อให้เกิดการประกอบสร้างภาพของศาสนาอิสลามใหม่ในแง่มุมที่แตกต่างจากการนำเสนอของสื่อมวลชน ที่มักจะนำเสนอภาพตัวแทนในด้านลบ และภาพที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ตลอดจนการมอบความเป็นอิสระให้กลุ่มต่างๆ ได้มีบทบาทในการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ถึงตัวตนของศาสนาอิสลามที่มุ่งเน้นถึงหลักสันติภาพ อย่างเท่าเทียม และปราศจากการผูกขาดการนำเสนอเนื้อหาจากองค์กรสื่อขนาดใหญ่เหมือนที่ผ่านมา


การสื่อสารเชิงหลอกลวงเพื่อขายสินค้าศิลปินเกาหลีและพฤติกรรมการซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีบนทวิตเตอร์, วิภาดา สัจญาณนนท์ Jan 2019

การสื่อสารเชิงหลอกลวงเพื่อขายสินค้าศิลปินเกาหลีและพฤติกรรมการซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีบนทวิตเตอร์, วิภาดา สัจญาณนนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีจำนวน 19 คนที่เคยโดนโกงจากการซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีบนทวิตเตอร์มาก่อน และแบบสอบถามออนไลน์ จากผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีจำนวน 400 คนซึ่งเคยซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีบนทวิตเตอร์มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัญญาณในการสื่อสารหลอกลวงขายสินค้าศิลปินเกาหลี รวมไปถึงการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ได้แก่ การรู้เท่าทันรูปแบบสัญญาณในการสื่อสารหลอกลวง และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีในกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่มีลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกัน โดยผลการวิจัยพบว่ารูปแบบที่พบมากที่สุดจากการหลอกลวงขายสินค้าศิลปินเกาหลีคือ การผลัดผ่อนการส่งสินค้าอยู่หลายครั้ง จากนั้นทำการเปิดฟอร์มคืนเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อการคืนเงินให้ผู้ซื้อที่ไม่ต้องการรอสินค้าแล้ว และหายเงียบไป ด้านการรู้เท่าทันรูปแบบเนื้อหา สาร หรือสัญญาณในการสื่อสารหลอกลวงขายสินค้าศิลปินเกาหลี ในลักษณะทางประชากรที่ทำการศึกษาทั้งในด้านอายุ ระดับการศึกษา และรายได้ พบว่าด้านรายได้ที่แตกต่างกันนั้น ไม่ทำให้การรู้เท่าทันรูปแบบเนื้อหา สาร และสัญญาณในการสื่อสารหลอกลวงแตกต่างกันแต่อย่างใด ด้านความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์พบว่า ทั้งอายุ ระดับการศึกษา และรายได้ที่แตกต่างกันนั้นส่งผลให้ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ของแฟนคลับศิลปินเกาหลีแตกต่างกันออกไปด้วย และด้านความตั้งใจซื้อสินค้า พบว่าด้านรายได้เป็นด้านเดียวที่เมื่อมีความแตกต่างกัน จะส่งผลต่อความตั้งใจซื้อสินค้าของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการรู้เท่าทันสื่ออนไลน์ของแฟนคลับศิลปินเกาหลีมีความสัมพันธ์กับความตั้งใจซื้อสินค้าศิลปินเกาหลีอีกด้วย


การสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ประเทศไทย, ปริศญา คูหามุข Jan 2019

การสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ประเทศไทย, ปริศญา คูหามุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1)​ เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ในประเทศไทย (2)​ เพื่อศึกษาการรับรู้ของผู้ชมชาวไทยและผู้ชมชาวต่างชาติที่มีต่อการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)​ จากเทปบันทึกการถ่ายทอดสด การประกวดมิสยูนิเวิร์ส​ 2018 รอบชิงชนะเลิศ​ และใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In Depth interview)​ กับผู้จัดการประกวด และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไทย​ร่วมกับ​การวิเคราะห์เอกสาร (Documentary analysis)​ จากแหล่งข้อมูลที่เป็น​สื่อสังคมออนไลน์​ ได้แก่ เว็บไซต์ ยูทูบ และเฟซบุ๊ก​ ผลการวิจัย 1. การเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ประเทศไทยนำเสนออัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าอัตลักษณ์ทางด้านธรรมชาติ ผ่านวิธีการสื่อสาร 5 รูปแบบ คือ วีดิทัศน์ การแสดง กราฟิกแบ็กกราวนด์ วัตถุที่จับต้องได้ และบุคคล โดยการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ลักษณะอัตลักษณ์ความเป็นไทยแบบดั้งเดิม เช่น สถานที่ทางธรรมชาติ ภาษาไทย 2. ลักษณะที่ไม่ใช่อัตลักษณ์ความเป็นไทยแบบดั้งเดิม เช่น การไหว้ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย มวยไทย ประเพณีลอยโคม ช่อดอกไม้ จิตรกรรมลายกระหนกไทย สถาปัตยกรรมไทย เครื่องประดับไหล่ช่อฟ้า ทั้งนี้ความเป็นไทยที่ถูกคัดเลือกให้นำเสนอบนเวทีระดับโลกล้วนเป็นวัฒนธรรมหลวงหรือประเพณีหลวง (Great tradition) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมระดับชาติหรือเป็นที่รู้จักกันดีและแสดงความเป็นตัวตนของชาตินั้น ๆ 2. ผู้ชมชาวไทยและผู้ชมชาวต่างชาติมีการรับรู้และทัศนคติแตกต่างกัน โดยผู้ชมชาวไทยสามารถรับรู้และเข้าใจอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้มากกว่าผู้ชมชาวต่างชาติ ในภาพรวมผู้ชมทั่วโลกมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในขณะเดียวกันผู้ชมชาวไทยมีทัศนคติต่อการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ชื่นชมการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยบนเวทีระดับโลก แต่ผู้ชมชาวไทยบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ไม่ใช่ดั้งเดิมและลดทอนความเป็นไทย เช่น เครื่องประดับไหล่ “ช่อฟ้า” ในรอบชุดว่ายน้ำ และ กราฟิกแบ็กกราวนด์ลายกระหนกไทยที่ลดทอดลายละเอียดที่สื่อถึงเอกลักษณ์ไทยลงไป


ฟุตบอลแฟนเพจกับการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล, พชรพล เกตุจินากูล Jan 2019

ฟุตบอลแฟนเพจกับการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล, พชรพล เกตุจินากูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพนันในฟุตบอลแฟนเพจ และเพื่อศึกษาการรับรู้และประสบการณ์ของผู้รับสารที่ติดตามฟุตบอลแฟนเพจ ใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสม (Mixed methods research) แบ่งเป็นส่วนการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ฟุตบอลแฟนเพจที่มียอดการกดไลก์เกิน 1 ล้านไลก์ ประกอบด้วยฟุตบอลแฟนเพจ กูว่าแล้ว มันต้องยิง V2 และตุงตาข่าย เลือกโพสต์จากแต่ละแฟนเพจที่มียอดของการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด จำนวน 10 อันดับแรก รวมทั้งสิ้น 20 โพสต์ ในระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม พ.ศ. 2562 และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interviews) (1) กลุ่มที่ติดตามกีฬาฟุตบอลและฟุตบอลแฟนเพจ และเล่นพนันฟุตบอล (2) กลุ่มที่ติดตามกีฬาฟุตบอลและฟุตบอลแฟนเพจ แต่ไม่เล่นพนันฟุตบอล เจาะจงกลุ่มตัวอย่างเป็น Generation Y กลุ่มละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน (3) บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแฟนเพจที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล จำนวน 3 คน และ (4) นักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล จำนวน 3 คน ผลการวิจัยพบว่าฟุตบอลแฟนเพจกูว่าแล้ว มันต้องยิง V2 และ ตุงตาข่าย มีวิธีการและเทคนิคการนำเสนอเนื้อหา 8 ประเด็น คือ (1) ใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล (2) ใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล (3) ใช้กิจกรรมส่งเสริมการโปรโมท (4) ใช้ภาพกราฟิกประกอบโพสต์สื่อความหมายให้เข้าใจง่าย (5) นำเสนอเนื้อหาแบบคลิปวิดีโอพร้อมข้อความ (6) นำเสนอเนื้อหาแบบเฟซบุ๊ก ไลฟ์ (7) ใช้ฟุตบอลแฟนเพจเครือข่าย และ (8) ใช้ความหมายอื่นแทนการใช้คำเชิญชวนที่สื่อถึงการพนันฟุตบอลโดยตรง สำหรับการรับรู้ในการติดตามฟุตบอลแฟนเพจที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล พบว่ามีการใช้โฆษณาโปรโมชันโปรโมทเว็บไซต์พนัน เนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลส่วนใหญ่ถูกนำเสนอโดยไม่เน้นข้อเท็จจริง ผู้มีอิทธิพลทางความคิดมีส่วนในการตัดสินใจให้ผู้รับสารติดตามฟุตบอลแฟนเพจ การสื่อสารกลุ่มลับการพนันฟุตบอลในเฟซบุ๊ก เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลให้การเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์นั้นง่ายและสะดวก ทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น ด้านประสบการณ์การติดตามฟุตบอลแฟนเพจที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล พบประเด็นสำคัญ 3 …


คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาคบนอินสตาแกรมในกลุ่มสินค้าคลีนความผูกพันต่อเนื้อหา และความตั้งใจซื้อของสตรีวัยเริ่มต้นทำงาน, ปวีณา ชิ้นศุภร Jan 2019

คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาคบนอินสตาแกรมในกลุ่มสินค้าคลีนความผูกพันต่อเนื้อหา และความตั้งใจซื้อของสตรีวัยเริ่มต้นทำงาน, ปวีณา ชิ้นศุภร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายคุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาคบนอินสตาแกรมในกลุ่มสินค้าคลีน และอธิบายความสัมพันธ์ของการรับรู้คุณลักษณะและความตั้งใจซื้อ โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน เริ่มจากวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เจ้าของอินสตาแกรมอาหารคลีน เจ้าของธุรกิจอาหารคลีน และนักการตลาด จำนวน 8 คน การวิเคราะห์เนื้อหาอินสตาแกรมกลุ่มสินค้าคลีนจำนวน 5 เพจ และการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการวิจัยเชิงสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาคบนอินสตาแกรมในกลุ่มสินค้าคลีน เป็นผู้บริโภคในระดับสังคมเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับผู้บริโภคทั่วไป มีความสนใจและสื่อสารเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพ มีผู้จำนวนติดตามอยู่ระหว่าง 5,000 – 50,000 คน โดยมีคุณลักษณะสำคัญ อาทิ แสดงออกถึงความสนใจในเรื่องสุขภาพหรือสินค้าคลีน มีบุคลิกภาพหรือไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพหรือสินค้าคลีน นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าคลีน อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ใช้ภาษาสื่อสารกับผู้ติดตามอย่างเป็นกันเองในการนำเสนอเนื้อหาหรือตอบคอมเม้น เป็นผู้บริโภคสินค้าคลีนหรือมีประสบการณ์ตรงกับสินค้า สำหรับรูปแบบเนื้อหาที่โพสต์บนอินสตาแกรมมากที่สุดคือ รูปภาพเดี่ยว และสาระเนื้อหาที่พบมากที่สุดคือ การบอกเล่าประสบการณ์การบริโภคสินค้า (Review) โดยมักจะแทรกเนื้อหาเชิงการตลาด (Tied-in) ผลการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการติดตามบัญชีผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่จำนวน 5-10 บัญชี และอ่านโพสต์ในลักษณะดูเฉพาะรูปภาพมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาค ด้านการแสดงออกถึงความสนใจในเรื่องสุขภาพหรือสินค้าคลีนมากที่สุด มีความผูกพันต่อเนื้อหามากที่สุดคือการกดไลค์โพสต์ ผลการทดสอบสมมติฐานสรุปได้ว่า การรับรู้คุณลักษณะของผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับจุลภาคมีความสัมพันธ์เชิงบวก กับความผูกพันต่อเนื้อหา และความตั้งใจซื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ, สุทธิมนัส ชินอัครพงศ์ Jan 2019

กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ, สุทธิมนัส ชินอัครพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์การศึกษา ประการแรก เพื่ออธิบายกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ ประการที่สอง เพื่อศึกษาแนวทางในการเสริมสร้างความรู้เรื่องกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ การศึกษาครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีวิจัยแนวทางปรากฏการณ์วิทยา มีวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และ คัดเลือกจากการสังเกตการณ์ออนไลน์ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม กลุ่มแรก ผู้สูงอายุที่มีอายุเทียบเท่าตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เคยมีประสบการณ์การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และมีแสดงออกถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วม รวมกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่ศึกษา 12 คน กลุ่มที่สอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร จำนวน 4 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน รวมทั้งสิ้น 8 คน โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุเป็นกระบวนการที่มีการตรวจสอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก ซึ่งเรียงลำดับจาก 1) การตรวจสอบด้วยแหล่งข้อมูลในตัวผู้สูงอายุ (Internal source) และเมื่อผู้สูงอายุยังคงไม่แน่ใจความถูกต้อง จะนำไปสู่กระบวนการ 2) การตรวจสอบด้วยแหล่งข้อมูลภายนอกผู้สูงอายุ (External source) นอกจากนั้น หลังจากกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลแล้ว ผู้วิจัยพบว่ามีกระบวนการหลังการตรวจสอบ คือ การหักล้างข้อมูลเท็จ (Debunking) และผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สูงอายุโดยพบ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุ ได้แก่ ประเด็นความสะดวก การประกอบอาชีพในอดีต ปัญหาด้านสุขภาพ และความรู้จากการอมรมสัมมนาและสถาบันที่มีความรู้ ส่วนแนวทางในการเสริมสร้างความรู้เรื่องกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ พบว่า มีแนวทางในการพัฒนา คือ ในเชิงการใช้สื่อบุคคลส่งเสริมผู้สูงอายุพบว่า ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลที่มีความใกล้ชิด เป็นสื่อบุคคลที่สามารถสื่อสารกับผู้สูงอายุได้มีประสิทธิภาพ ในเชิงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การอบรม การสร้างห้องเรียนฝึกทักษะ โดยการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะทำให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนทัศนคติและนำข้อมูลไปใช้ในการตรวจสอบได้ ในเชิงการส่งเสริมภาพลักษณะของผู้สูงอายุ โดยเสนอว่า การตอกย้ำภาพผู้สูงอายุในฐานะผู้ทำผิด เป็นตัวปัญหา ไม่ใช่วิธีที่ดีในการส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ และสุดท้ายคือในเชิงการดูแลและปรับปรุงเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์ให้เหมาะสม ด้วยการสร้างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือชุดอื่น ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าการให้ผู้สูงอายุเปิดรับข่าวสารจากการส่งต่อกันมา เป็นต้น


การสื่อสารเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตในประเทศไทย, ศุภกฤตษ์ จิตตภัทราวงศ์ Jan 2019

การสื่อสารเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตในประเทศไทย, ศุภกฤตษ์ จิตตภัทราวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง “การสื่อสารเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตในประเทศไทย”เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) อธิบายลักษณะการสื่อสารเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ของนักแข่งอีสปอร์ต 2.) อธิบายลักษณะการสื่อสารอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตต่อบุคคลภายนอกบนพื้นที่สาธารณะ และ 3.) อธิบายลักษณะการรับรู้อัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ต จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) กับนักแข่งอีสปอร์ตในประเทศไทย ผู้เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตต่าง ๆ เช่น นักวิชาการ ผู้ฝึกสอนอีสปอร์ต ผู้สนับสนุน นักกีฬา เป็นอาทิ สัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Focus group) การสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วมในพื้นที่การแข่งขันอีสปอร์ต (Non-participant Observation) พร้อมทั้งศึกษาเอกสารต่าง ๆ (Document analysis) ประกอบด้วย ผลการศึกษาพบว่า นักแข่งอีสปอร์ตมีการประกอบสร้างอัตลักษณ์ใน 2 พื้นที่ คือ 1.) โลกกายภาพ (Physical world) ผ่านการให้ความหมาย ตัวตนและภาพปรากฏ ลักษณะภาษาที่ใช้ และกระบวนการแข่งขันอีสปอร์ต 2.) พื้นที่โลกเสมือน (Virtual world) ผ่านการขยายตัว การตั้งชื่อ การสร้างตัวตนทั้ง 2 พื้นที่จะรวมเป็นอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตและสื่อสารเพื่อรื้อสร้าง ประกอบสร้าง และต่อต้านภาพเหมารวมของสังคม การรับรู้และถอดรหัสอัตลักษณ์ของนักแข่งอีสปอร์ตของบุคคลคนในสังคมพบว่าการรับรู้อัตลักษณ์ของนักแข่งอีสปอร์ตจะมีการรับรู้อัตลักษณ์ผ่านการนิยามความหมาย รวมทั้งตัวตนและภาพปรากฏของนักแข่งอีสปอร์ตที่ไม่มีการแยกพื้นที่หรือช่วงเวลาเป็นสำคัญ อีกทั้งการรับรู้และถอดรหัสอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ตจะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามความใกล้ชิด การติดตาม ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับอัตลักษณ์นักแข่งอีสปอร์ต


การประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ของศิลปินเพลงร็อกและค่ายเพลง กับความผูกพันและความภักดีของแฟนเพลง, เพชรภัสสร อ้นขวัญเมือง Jan 2019

การประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ของศิลปินเพลงร็อกและค่ายเพลง กับความผูกพันและความภักดีของแฟนเพลง, เพชรภัสสร อ้นขวัญเมือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงและการสื่อสารของศิลปินเพลงร็อกบนสื่อสังคมออนไลน์ ความสัมพันธ์ของการเปิดรับเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลง ความผูกพันต่อเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงและการสื่อสารของศิลปิน และความภักดีต่อศิลปินเพลงร็อกของแฟนเพลง งานวิจัยนี้ใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ได้แก่ งานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสารบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและยูทูบของค่ายเพลงและศิลปินเพลงร็อก กับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์และศิลปินเพลงร็อก กับการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการวิจัยเชิงสำรวจ ใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลกับแฟนเพลงศิลปินเพลงร็อก จำนวน 400 คน ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า ค่ายเพลงมีเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ ดังนี้ 1) ด้านผลงานเพลง ได้แก่ เพลงและอัลบั้มใหม่ 2) ด้านกิจกรรม ได้แก่ งานแสดง งานเปิดตัวอัลบั้มและศิลปิน 3) ด้านสาระความรู้ ได้แก่ เบื้องหลังการทำเพลง มิวสิกวิดีโอ และข้อมูลศิลปิน และการสื่อสารของศิลปินเพลงร็อก พบว่า 1) รูปแบบการสื่อสาร มีการโพสต์ข้อความ รูปภาพ อินโฟกราฟิก วิดีโอ ไลฟ์วิดีโอ และสตอรี่ 2) เนื้อหา มีด้านผลงานเพลง ได้แก่ เพลงและอัลบั้มใหม่ และด้านกิจกรรม ได้แก่ ตารางงาน คอนเสิร์ต และงานเปิดตัวอัลบั้ม ผลการวิจัยเชิงสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการเปิดรับเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงบนยูทูบมากที่สุด มีความผูกพันต่อเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงในระดับปานกลาง มีความผูกพันต่อการสื่อสารของศิลปินเพลงร็อกและความภักดีต่อศิลปินเพลงร็อกในระดับสูง ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า 1) การเปิดรับเนื้อหาการประชาสัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เป็นความสัมพันธ์ระดับสูงและมีทิศทางแปรตามกัน 2) ความผูกพันต่อเนื้อหาการประชาสัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับความภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เป็นความสัมพันธ์ระดับปานกลางและมีทิศทางแปรตามกัน และ 3) ความผูกพันต่อการสื่อสารมีความสัมพันธ์กับความภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เป็นความสัมพันธ์ระดับสูงและมีทิศทางแปรตามกัน


สันติวิธีในนโยบายความมั่นคงของไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ติณณภพ เตียวเจริญกิจ Jan 2019

สันติวิธีในนโยบายความมั่นคงของไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ติณณภพ เตียวเจริญกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ประการแรก เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการที่สอง เพื่อวิเคราะห์การให้ความหมาย การตีความ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธีของตัวแสดงสำคัญในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ ประการสุดท้ายเพื่อประเมินปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนแนวคิดสันติวิธีในนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษานี้เป็นการวิจัยเอกสารประกอบการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเอกสารที่ใช้เป็นเอกสารชั้นต้น ได้แก่ นโยบาย คำสั่ง โครงการ คำประกาศ และ เอกสารชั้นรอง ได้แก่ ข่าวสาร บทความวิเคราะห์ และงานวิจัย ผลการศึกษาพบว่า สันติวิธีมีส่วนขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงสำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบางลักษณะคือ ประการแรก สันติวิธีถูกบรรจุในนโยบายความมั่นคงมากว่า 17 ปี แต่พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นสันติวิธี ขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐบาลและผู้นำประเทศ ประการที่สอง สันติวิธีในความรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐคือ การไม่ใช้กำลังและคงไว้ซึ่งการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งต่างจากภาคประชาสังคมที่มีความเห็นว่าสันติวิธีคือการไม่ใช้กำลังและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และประการที่สาม ปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนสันติวิธีในนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ย้อนแย้งกับสันติวิธี คือความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ฝังรากอยู่ในระดับองค์กรและระดับกลไกปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ


ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบท: กรณีศึกษาโครงการนาแปลงใหญ่ ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มัณฑนา นกเสวก Jan 2019

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบท: กรณีศึกษาโครงการนาแปลงใหญ่ ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มัณฑนา นกเสวก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตลอดหลายทศวรรษนโยบายข้าวได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่เข้าไปใช้แทรกแซงสังคมชนบท ดังนั้นวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จึงต้องการวิเคราะห์ถึงการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการศึกษานโยบายข้าวที่ถูกกำหนดนโยบายมาในในช่วงบริบทการเมืองแบบอำนาจนิยม โดยใช้โครงการนาแปลงใหญ่เป็นกรณีศึกษา ผ่านการตั้งคำถามว่า“ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการจัดสถาบันระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการใช้โครงการนาแปลงใหญ่อย่างไร” และ “โครงการนาแปลงใหญ่มีลักษณะการทำงานอย่างไร” เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้กรอบการศึกษาสถาบันนิยมใหม่แบบสถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Institutionalism) และแนวการศึกษาแบบพหุภาคี (Corporatism) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยใช้นาแปลงใหญ่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมภายใต้นโยบายข้าวของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประกอบด้วย บรรทัดฐานในการตัดสินใจ กลไกรัฐในการดำเนินนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนสำคัญ (critical juncture) คือวิกฤตินโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส่งผลให้นโยบายข้าวในรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะคือ รัฐเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจรมากกว่าที่จะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยตรง และเน้นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อเข้ามาจัดการการรวมกลุ่มและควบคุมวิถีชีวิตประจำวันของชาวนาในชนบทภายใต้แนวคิดแบบประชารัฐ โดยมีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นตัวแสดงทางนโยบายที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ และมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างตัวแสดงทางนโยบายภายใต้การจัดสถาบันดังกล่าวทั้งในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อค้ำจุนความสัมพันธ์นั้นไว้ ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในรูปแบบพหุภาคีโดยรัฐ (state corporatism) อย่างไรก็ดีจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทำให้พบว่ารัฐยังไม่สามารถสถาปนาความร่วมมือดังกล่าวได้แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจภายใต้บริบทการเมืองแบบอำนาจนิยมก็ตาม และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบริบทการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่นาแปลงใหญ่ยังคงมีการขับเคลื่อนในลักษณะเดิม เพียงแต่ถูกลดระดับความเข้มข้นลงไปเท่านั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวถูกวางแผนให้เป็นโครงการระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นแม้มีการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมือง แต่กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายก็ยังเป็นกลไกเดิมที่มีที่มาจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


บทบาทของเกาหลีใต้กับปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างปีค.ศ.2000-2018, บุษยพรรณ ลิ้มยิ่งเจริญ Jan 2019

บทบาทของเกาหลีใต้กับปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างปีค.ศ.2000-2018, บุษยพรรณ ลิ้มยิ่งเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาบทบาทของเกาหลีใต้ในการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ในระหว่าง ค.ศ. 2000 - 2018 โดยต้องการตอบคำถามว่า เกาหลีใต้ มีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และนโยบายที่เกาหลีใต้เลือกใช้ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดเรื่องนโยบายผูกมิตรเข้าหา (engagement policy) มาเป็นกรอบในการศึกษาบทบาทของเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือ ตลอด 5 ยุคสมัยของประธานาธิบดี ได้แก่ คิมแดจุง (ค.ศ. 1998 - 2003) โนมูฮยอน (ค.ศ. 2003 - 2008) อีมยองบัค (ค.ศ. 2008 - 2013) พัคกึนฮเย (ค.ศ. 2013 - 2017) และมูนแจอิน (ค.ศ. 2017 - ปัจจุบัน) ข้อเสนอหลักของการศึกษาวิจัยพบว่า ประธานาธิบดีทั้ง 5 ท่าน ใช้นโยบายผูกมิตรเข้าหาเป็นนโยบายหลักเพื่อจัดการปัญหาเกาหลีเหนือ แต่ใช้คนละรูปแบบ และมีระดับของการผูกมิตรเข้าหาเกาหลีเหนือแตกต่างกัน ซึ่งกลายเป็นตัวแปรปัจจัยภายในที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้เอง โดยในสมัยประธานาธิบดีฝ่ายหัวก้าวหน้า จะใช้นโยบายผูกมิตรเข้าหาในลักษณะที่เป็นมิตรกับเกาหลีเหนือมากกว่าสมัยประธานาธิบดีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้ ได้แก่ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจและคู่กรณีหลักในประเด็นปัญหานี้ และนโยบายนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีบทบาทหลักในสถานการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี


อิทธิพลของความคล้ายคลึงเชิงรูปลักษณ์ และการรับรู้การควบคุมได้ ที่มีผลต่อการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ ความเชื่อใจ และการยอมรับต่อหุ่นยนต์, กฤตภัค วรเมธพาสุข Jan 2019

อิทธิพลของความคล้ายคลึงเชิงรูปลักษณ์ และการรับรู้การควบคุมได้ ที่มีผลต่อการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ ความเชื่อใจ และการยอมรับต่อหุ่นยนต์, กฤตภัค วรเมธพาสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ที่มีต่อความไว้วางและการยอมรับหุ่นยนต์ตามแนวคิดทฤษฎี S-E-E-K ที่นำมาใช้สร้างกรอบแนวคิดหลักในการวิจัยนี้ โดยมีปัจจัยทางด้านความคล้ายคลึงเชิงรูปลักษณ์เป็นตัวแปรต้น การรับรู้การควบคุมได้เป็นตัวแปรกำกับ และแรงจูงใจทางสังคมเป็นตัวแปรควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตจำนวน 200 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี ใช้การสุ่มอย่างเป็นระบบร่วมกับการสุ่มอย่างง่ายเข้าหนึ่งใน 4 เงื่อนไข โดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยดูรูปภาพและอ่านข้อความคุณสมบัติของหุ่นยนต์ที่มีการจัดกระทำให้มีความคล้ายคลึงมนุษย์และพฤติกรรมที่คาดเดา/ควบคุมได้ของหุ่นยนต์ที่แตกต่างกันในแต่ละเงื่อนไข จากนั้นตอบแบบสอบถามการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ ความไว้วางใจหุ่นยนต์ การยอมรับหุ่นยนต์ ผลจากการวิเคราะห์เส้นทาง พบว่า ความคล้ายคลึงเชิงรูปลักษณ์มีผลต่อการรับรู้ความเหมือนมนุษย์ที่มีต่อหุ่นยนต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในเงื่อนไขที่มีการรับรู้การควบคุมและคาดเดาไม่ได้ ทำให้อิทธิพลของความคล้ายคลึงเชิงรูปลักษณ์ที่มีต่อการรับรู้ความเหมือนมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หุ่นยนต์ที่มีความคล้ายคลึงมนุษย์สูง และบุคคลไม่สามารถควบคุมหรือคาดเดาพฤติกรรมของหุ่นยนต์ได้ ทำให้บุคคลรู้สึกว่าหุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความไว้วางใจ รวมถึงการยอมรับหุ่นยนต์


ประสบการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้รับบริการ, ณฐวรรณ เปาอินทร์ Jan 2019

ประสบการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้รับบริการ, ณฐวรรณ เปาอินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้รับบริการ ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมวิจัยคือผู้ที่เคยมีประสบการณ์การเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลแบบเจอตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกจากประสบการณ์การเข้ารับบริการ จำนวน 6 ราย โดยมีอายุระหว่าง 26-37 ปี ผลการวิจัยสามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประกอบด้วย ความไม่สามารถจัดการปัญหาด้วยตนเอง ความเชื่อมั่นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (การสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทัศนคติทางบวกต่อการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และความเหมาะสมของนักจิตวิทยาการปรึกษา) และความพร้อมเปิดเผยตนเอง 2) การถ่ายทอดประสบการณ์ภายในได้อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย ความไว้วางใจว่าความลับจะไม่ถูกเปิดเผย ความใกล้ชิดทางใจ การได้รับการยอมรับ และขอบเขตสัมพันธภาพที่เหมาะสม และ 3) การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย การคิดพิจารณาปัญหาร่วมกับนักจิตวิทยาการปรึกษา ความรับผิดชอบในการเปลี่ยนตนเอง และการลองเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยผู้วิจัยได้อภิปรายผลการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว การวิจัยนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้รับบริการเพิ่มขึ้น โดยผู้รับบริการสามารถนำผลการวิจัยมาพัฒนาการมีส่วนร่วมของตน ในขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถนำผลการวิจัยมาพัฒนาการให้บริการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ


ความสัมพันธ์ของค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ค่านิยมด้านการมีเกียรติ และการรับรู้เวลาในอนาคตต่อความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพของผู้ใหญ่แรกเริ่ม, ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์ Jan 2019

ความสัมพันธ์ของค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ค่านิยมด้านการมีเกียรติ และการรับรู้เวลาในอนาคตต่อความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพของผู้ใหญ่แรกเริ่ม, ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของค่านิยมในการทำงาน และการรับรู้เวลาในอนาคตโดยค่านิยมในการทำงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ ค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และค่านิยมด้านการมีเกียรติที่มีต่อความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพ ของผู้ใหญ่แรกเริ่ม จำนวน 278 คน มีอายุระหว่าง 18-29 ปี (อายุเฉลี่ย 26.5 ปี) ที่กำลังทำงานประจำ โดยร่วมงานกับบริษัทปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามออนไลน์ และจากรูปแบบเอกสาร โดยใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ (Multiple regression) ผลการวิจัยพบว่า ค่านิยมในการทำงานที่ประกอบด้วย ค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ค่านิยมด้านการมีเกียรติ และการรับรู้เวลาในอนาคตร่วมกันอธิบายความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพได้ร้อยละ 23.9 และเมื่อปรับความคลาดเคลื่อนจะร่วมกันอธิบายความ ตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพได้ร้อยละ 22.5 โดยค่านิยมนอกงาน (β = -.233, p < .01) และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน (β= -.196, p = .002) มีความสัมพันธ์ทางลบกับความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการรับรู้เวลาในอนาคต (β= .138, p = .012) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่แรกเริ่มมีแนวโน้มไม่คิดที่จะเปลี่ยนอาชีพ หากมีการรับรู้การทำงานที่ตอบสนองค่านิยมภายนอก (เช่น มีเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น สวัสดิการต่าง ๆ ดี เป็นต้น) และมีการรับรู้ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน และหากบุคคลวัยนี้ให้ความสำคัญกับเวลาในอนาคต ก็จะมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนอาชีพ งานวิจัยนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจพัฒนาการทางด้านอาชีพของบุคคลในวัยผู้ใหญ่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยให้บุคคลวัยนี้เข้าใจตนเอง และช่วยให้หน่วยงานเข้าใจความต้องการของผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงาน


ผลของการใช้งานจุดแข็งและแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตนที่มีต่อสุขภาวะองค์รวม โดยมีความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลเป็นตัวแปรส่งผ่าน: โมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่ถูกกำกับ, วริศ ครรชิตานุรักษ์ Jan 2019

ผลของการใช้งานจุดแข็งและแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตนที่มีต่อสุขภาวะองค์รวม โดยมีความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลเป็นตัวแปรส่งผ่าน: โมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่ถูกกำกับ, วริศ ครรชิตานุรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาอิทธิพลของการใช้งานคุณลักษณะจุดแข็งร่วมกับแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตน ต่อสุขภาวะองค์รวม โดยมีความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุล เป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยควบคุมอิทธิพลของการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตน นิสิต นักศึกษา 192 คนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ตอบแบบสอบถามออนไลน์วัดตัวแปรทั้งหมดในการวิจัยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ แล้วนำจุดแข็งอันดับต้นหรือจุดแข็งอันดับท้ายไปใช้ในบริบทการเรียน โดยได้รับการกระตุ้นให้ใช้งานจุดแข็งนั้นด้วยแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตน หรือแรงจูงใจมุ่งเน้นตัวเอง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างรายงานความถี่ที่นำจุดแข็งไปใช้ ตอบมาตรวัดความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและมาตรวัดสุขภาวะซ้ำอีกครั้ง ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมสามทางแบบผสม (การใช้งานจุดแข็ง x แรงจูงใจ x เวลา) หลังควบคุมความแปรปรวนในตัวแปรตามด้วยตัวแปรการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตนแล้ว ไม่พบอิทธิพลปฏิสัมพันธ์สามทางและปฏิสัมพันธ์สองทาง แต่พบอิทธิพลหลักของตัวแปรเวลา โดยกลุ่มตัวอย่างทุกเงื่อนไขมีคะแนนความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุล และคะแนนสุขภาวะองค์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิเคราะห์อิทธิพลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยแบบลำดับขั้น พบว่าหลังควบคุมความแปรปรวนในตัวแปรตามด้วยตัวแปรการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตนแล้ว การใช้งานจุดแข็ง แรงจูงใจ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง ไม่มีอิทธิพลทั้งต่อการมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและสุขภาวะที่วัดหลังการทดลอง รวมทั้งไม่พบอิทธิพลส่งผ่านที่ถูกกำกับตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ แต่ความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลมีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาวะองค์รวม โมเดลโดยรวมอธิบายความแปรปรวนในสุขภาวะได้ร้อยละ 77 กล่าวโดยสรุป งานวิจัยนี้พบว่าการใช้งานจุดแข็งไม่ว่าจะเป็นอันดับต้นหรือท้าย และด้วยแรงจูงใจมุ่งตนเองหรือมุ่งเหนือตัวตน เพิ่มความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและสุขภาวะองค์รวมให้มากขึ้นได้ไม่แตกต่างกัน โดยความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลที่เพิ่มขึ้น มีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาวะองค์รวมอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับจุดแข็งด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นลักษณะทางบวก เพื่อนำไปทดลองใช้ในบริบทการเรียน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นจุดแข็งอันดับต้นเท่านั้น


อิทธิพลของอำนาจต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว: การศึกษาอิทธิพลการป้องปรามของการรับรู้การถูกตรวจสอบเป็นตัวแปรกำกับ, ติณณ์ โบสุวรรณ Jan 2019

อิทธิพลของอำนาจต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว: การศึกษาอิทธิพลการป้องปรามของการรับรู้การถูกตรวจสอบเป็นตัวแปรกำกับ, ติณณ์ โบสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของอำนาจต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยมีการป้องปรามในรูปแบบของการรับรู้การถูกตรวจสอบเป็นตัวแปรกำกับ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือนิสิตปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 102 คน การวิจัยครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้นสองระยะ ในระยะแรกเป็นการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามทั่วไปและมาตรวัดอัตลักษณ์ทางศีลธรรมทางเว็บไซต์ Google forms ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้คะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมเป็นเกณฑ์เข้าสู่หนึ่งในหกเงื่อนไข ได้แก่ อำนาจสูงและไม่มีการรับรู้การถูกตรวจสอบ อำนาจสูงและการรับรู้การถูกตรวจสอบต่ำ อำนาจสูงและการรับรู้การถูกตรวจสอบสูง อำนาจต่ำและไม่มีการรับรู้การถูกตรวจสอบ อำนาจต่ำและการรับรู้การถูกตรวจสอบต่ำ อำนาจต่ำและการรับรู้การถูกตรวจสอบสูง เพื่อเป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนให้มีค่าเฉลี่ยคะแนนอัตลักษณ์ทางศีลธรรมไม่แตกต่างกันสำหรับการทำกิจกรรมวัดพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ในสองสัปดาห์ให้หลัง ผลการวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าทีมมีการรับรู้อำนาจของตนเองสูงกว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับมอบหมายเป็นลูกทีม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยในเงื่อนไขการรับรู้การถูกตรวจสอบสูง การรับรู้การถูกตรวจสอบต่ำ และไม่มีการรับรู้การถูกตรวจสอบมีการรับรู้การถูกตรวจสอบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลไม่พบปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและการรับรู้การถูกตรวจสอบต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และทั้งอำนาจกับการรับรู้การถูกตรวจสอบไม่มีอิทธิพลหลักต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


เรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง : กรณีศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชัชชม ทัพชุมพล Jan 2019

เรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง : กรณีศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชัชชม ทัพชุมพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลกับการคงอยู่ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง (2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยค้ำจุนการทำงานกับการคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง (3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแรงจูงใจในการทำงานของคนเก่งกับการคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง และ (4) เพื่อศึกษาระดับความตั้งใจคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การทดสอบด้วยการแจกแบบสอบถาม (ออนไลท์) จากจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 69 คน (ตัวอย่าง) และวิเคราะห์สถิติด้วยการหาค่าเฉลี่ยและค่าทางสถิติทั้งหมด คือ One Sample t-test, Independent Sample t-test, ANOVA t-test และ Pearson’s correlation coefficient โดยมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 40 – 49 ปี มีสถานภาพโสด การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี และมีอายุงานโดยเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป สำหรับการศึกษา ด้านปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกันกับการคงอยู่ในองค์กร พบว่า ด้านการศึกษาที่แตกต่างกันมีอิทธิลต่อการคงอยู่ในองค์กรแตกต่างกัน ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในองค์กร พบว่า ปัจจัยค้ำจุนการทำงานและปัจจัยแรงจูงใจในการทำงานของคนเก่งมีความสัมพันธ์ต่อการคงอยู่ในองค์กรหรือความผูกพันธ์ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง และการศึกษาระดับความตั้งใจคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง พบว่า ระดับความตั้งใจที่จะคงอยู่ในองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการที่มีสมรรถนะสูง อยู่ในระดับปานกลาง


สมรรถนะและการพัฒนาบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในยุค Digital Hr ของพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง, พัณณิน อินทรภักดี Jan 2019

สมรรถนะและการพัฒนาบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในยุค Digital Hr ของพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง, พัณณิน อินทรภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่อง “สมรรถนะและการพัฒนาบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในยุค Digital HR ของพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง” เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามในการศึกษาระดับสมรรถนะด้านดิจิทัลในปัจจุบัน และระดับสมรรถนะที่คาดหวังในการทำงานยุค Digital HR และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้สัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ในการศึกษาแนวทางการพัฒนาบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสายงานทรัพยากรบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสมรรถนะด้านดิจิทัลของบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน ศึกษาช่องว่างของสมรรถนะด้านดิจิทัลของบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันกับระดับของสมรรถนะที่คาดหวังเพื่อรองรับการทำงานในยุค Digital HR และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคล เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการทำงานในยุค Digital HR ผลการศึกษาพบว่า ระดับสมรรถนะด้านดิจิทัลของบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลาง และระดับสมรรถนะที่คาดหวังด้านดิจิทัลอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจากความแตกต่างของสมรรถนะในแต่ละด้าน จึงต้องมีการนำวิธีที่เหมาะสมมาปรับใช้เพื่อพัฒนาบุคลากร โดยมีสมรรถนะด้านดิจิทัลที่เหมาะสมในการนำมาใช้พัฒนาบุคลากรสายงานทรัพยากรบุคคลด้านความรู้ คือ เทคนิคการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ สมรรถนะด้านทักษะ คือ การประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการทำงาน และสมรรถนะด้านคุณลักษณะ คือ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, วงศธร รังสิมันต์ Jan 2019

ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, วงศธร รังสิมันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการในกองตรวจการมาตรฐาน 1-3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (2) เพื่อศึกษาปัจจัยลักษณะบุคคล ปัจจัยการปฏิบัติงาน ปัจจัยแรงจูงใจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (3) เพื่อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในกองตรวจการมาตรฐาน 1-3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองลงมา จำนวน 68 คน การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติทดสอบแบบทีเทส เอฟเทส และค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า (1) ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการอยู่ในระดับมากที่สุด (2) ปัจจัยลักษณะบุคคลด้านเพศที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (3) ปัจจัยการปฏิบัติงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (4) ปัจจัยจูงใจไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (5) ปัจจัยอื่น ๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


การวิเคราะห์การให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศึกษาผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ, ปฐมพร คงนุช Jan 2019

การวิเคราะห์การให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศึกษาผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ, ปฐมพร คงนุช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์การให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศึกษาผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายของรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่นำเสนอโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับความสอดคล้องของเหตุผลการรัฐประหารของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (22 พฤษภาคม 2557) ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จากการศึกษาพบว่า นโยบายของรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ จำแนกเป็น 11 ด้าน ทั้งนี้ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า เนื้อหาของรายการสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับนโยบายด้านที่ (6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ มากที่สุด ส่วนความสอดคล้องของนโยบายกับเหตุผลการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ปี 2557 ได้แก่ นโยบายด้านที่ (2) การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ (4) การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม (6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ (7) การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน (9) การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (10) การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และ (11) การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และไม่สอดคล้องกับนโยบายด้านที่ (1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ (5) การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน และ (8) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม


การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วริษฐา จีนโต Jan 2019

การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วริษฐา จีนโต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง “การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้านสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย และศึกษาปัจจัยการใช้สื่อสังคมด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่ใช้การวิจัยแบบผสมผสาน(Mixed Method) คือ วิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 100 ชุด สถิติที่ใช้ประกอบด้วยสถิติเชิงบรรยาย (Descriptive statistics) ได้แก่ สถิติค่าความถี่(Frequency) ค่าร้อยละ(Percent) ค่าเฉลี่ย(Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard deviation) สถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistics) ได้แก่ การทดสอบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่มีความเป็นอิสระต่อกัน(Independent Sample T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One way ANOVA) การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน(Pearson’s Correlation) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียแมน(Spearman’s Correlation) ผลการเก็บข้อมูลจากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 100 คน พบว่า พนักงานการท่าเรือแห่ง ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 20,001-30,000 บาท และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัว คิดเป็นร้อยละ 78 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อเฟซบุ๊ก(Facebook) คิดเป็นร้อยละ 86 ส่วนการรับข้อมูลด้านสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์ของหน่วยงานการท่าเรือฯ ส่วนใหญ่รับสื่อผ่านช่องทางไลน์(Line) จากหน่วยงานสำนักแพทย์และอนามัยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับประโยชน์ด้านความรู้เบื้องต้นในการดูแลสุขภาพและสังเกตความผิดปกติของตนเอง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการป้องกันโรคอยู่ในระดับสูง ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ อายุและรายได้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการป้องกันโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทัศนคติการรับข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้าน การจัดการความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความถี่ของสื่อสุขภาพออนไลน์ของหน่วยงาน การท่าเรือฯที่กระตุ้นให้มีการดูแลสุขภาพมากขึ้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการจัดการความเครียดและการป้องกันโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


กรอบความคิด (Mindset) กับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน กรณีศึกษา บุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อังศวีร์ เครือแก้ว Jan 2019

กรอบความคิด (Mindset) กับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน กรณีศึกษา บุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อังศวีร์ เครือแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ครั้งนี้เป็นการศึกษากรอบความคิดกับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับกรอบความคิดและเปรียบเทียบระดับกรอบความคิด ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานและผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน ศึกษาความสัมพันธ์กรอบความคิดกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงาน และศึกษาความสัมพันธ์กรอบความคิดกับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ปัจจัยด้านเพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง ระดับ P และลักษณะงานที่แตกต่างกันมีกรอบความคิดไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยด้านอายุงานที่แตกต่างกันมีกรอบความคิดแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานโดยภาพรวมมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับกรอบความคิด ที่ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas โดยสัมพันธ์กันในระดับต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับกรอบความคิด ที่ระดับ Strong Growth Mindset และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas 3) กรอบความคิด (mindset) ระดับ Strong Growth Mindset ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas ทั้ง 3 ระดับ ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4) กรอบความคิด (mindset) ระดับ Strong Growth Mindset ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas ทั้ง 3 ระดับ ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการประเมินประจำปีเช่นกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้


แนวทางในการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว, จุฑามาศ จุลจันทรังษี Jan 2019

แนวทางในการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว, จุฑามาศ จุลจันทรังษี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาบทบาทของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจากทัณฑสถานหญิงชลบุรี ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เป็นหลักการสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีบทบาทสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) บทบาทด้านการจำแนกและรับตัวผู้ต้องขังหญิง 2) บทบาทด้านสุขภาพอนามัย 3) บทบาทด้านการจัดการสภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่ 4) บทบาทด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และ5) บทบาทด้านการติดตามหลังพ้นโทษ นอกจากนี้พบว่าการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ควรประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดเนื่องจากเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวอย่างเหมาะสมต่อไป


ความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดของผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดซ้ำ, จุฬารัตน์ รัฐพิทักษ์สันติ Jan 2019

ความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดของผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดซ้ำ, จุฬารัตน์ รัฐพิทักษ์สันติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดของผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดซ้ำ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำ ประเภทความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด และใช้ผลการศึกษาเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และใช้วิธีการเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป จำนวน 9 คน ในเรือนจำพิเศษมีนบุรี ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่เคยกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด คือ ปัจจัยด้านภูมิหลัง ได้แก่ ครอบครัว การศึกษา สภาพแวดล้อม การคบเพื่อน อาชีพ และรายได้ ปัจจัยด้านจิตใจ ได้แก่ การคิดก่อนกระทำผิด ความรู้สึกแปลกแยก และปัจจัยด้านสังคม ได้แก่ ความกดดันทางสังคม พันธะทางสังคม ประสบการณ์การใช้ชีวิตในเรือนจำ ประสบการณ์การใช้ชีวิตหลังได้รับการปล่อยตัวก่อนกระทำผิดซ้ำ และการถูกตีตรา 2) ความกลัวที่มีผลต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดมากที่สุดคือความกลัวต่อการสูญสิ้นอัตตา รองลงมาคือความกลัวต่อการสูญเสียที่เกี่ยวกับชีวิตกับความกลัวต่อการโดนทอดทิ้ง และความกลัวต่อการสูญเสียอิสรภาพของตนเอง โดยความกลัวต่อความพิกลพิการไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด ข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษของการศึกษานี้ ได้แก่ การนำปัจจัยด้านต่าง ๆ เช่น ครอบครัว ศาสนา อาชีพ และรายได้ มาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาพฤติกรรมของผู้ต้องขัง นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการคืนคนดีสู่สังคม และลดอุปสรรคที่ส่งผลให้เกิดความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำ เช่น ความกดดันทางสังคม การถูกตีตรา เพื่อให้ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษสามารถรับมือกับความกลัวต่อการตัดสินใจกระทำผิดซ้ำได้อย่างถูกต้อง


พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550: จากเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติ, ฐานา วิบูลย์ภาณุเวช Jan 2019

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550: จากเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติ, ฐานา วิบูลย์ภาณุเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและสถานการณ์ของสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หลังจากที่มีการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ไปบังคับใช้ 2) เพื่อศึกษาแนวคิด ที่มา เจตนารมณ์และกระบวนการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยศึกษาเปรียบเทียบจากปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (Declaration on the Elimination of Violence Against Women) 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และผลกระทบต่อหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย สตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง และผลกระทบต่อสังคม ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ 4) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของกระบวนการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงพัฒนากระบวนการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเสริมพลังสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง โดยผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ และใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interviews) เพื่อรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัยพบว่าเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายคือ 1) เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐและประชาชนเข้ามามีส่วนในการรักษาสิทธิต่อเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม 2) เพื่อใช้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแทนการใช้กฎหมายอาญา กรณีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 3) เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง 4) เพื่อรักษาสถานภาพความเป็นครอบครัว เมื่อนำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ไปใช้บังคับ พบว่ามีปัญหาหลัก 5 ประการ ดังนี้ 1) ในมาตรา 5 ต้องให้มีการร้องทุกข์ให้เป็นคดีก่อนแล้วจึงมีกลไกในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การฟื้นฟูและปรับปรุงพฤติกรรม 2) เปิดโอกาสให้ยอมความได้ในทุกชั้นของกระบวนการยุติธรรม 3) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ประสานกันระหว่างหน่วยงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก 4) ความไม่รู้กฎหมายของประชาชน และ 5) มีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ สิ่งเหล่านี้ควรเร่งแก้ไขปรับปรุงให้กฎหมายมีความชัดเจน สร้างแนวทางการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ ตลอดจนสร้างความรู้เรื่องกฎหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้