Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 1381 - 1410 of 2268

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

การอ่านทำความเข้าใจด้วยเครื่องเพื่อคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ด้วยวิธีการเรียนรู้เชิงลึก, ณัฐชัย ตรีทศายุธ Jan 2017

การอ่านทำความเข้าใจด้วยเครื่องเพื่อคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ด้วยวิธีการเรียนรู้เชิงลึก, ณัฐชัย ตรีทศายุธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การอ่านทำความเข้าใจเพื่อใช้ตอบคำถาม เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญและยากที่สุดในงานสายการประมวลผลภาษาธรรมชาติ วิธีการที่ได้รับความนิยมและให้ผลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการใช้โมเดลที่นำเอาการเรียนรู้เชิงลึกเข้ามาช่วยตอบ โดยโมเดลจะทำการหาคำที่คล้ายกันระหว่างคำถามและบทความเพื่อนำไปใช้ในการตอบคำถาม แต่โมเดลในรูปแบบนี้จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะตอบคำถามซึ่งคำตอบจะต้องใช้การเชื่อมต่อคำในหลายประโยคเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่าคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ได้ งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะเสนอแนวทางในการใช้คำอ้างอิงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงยังได้เสนอวิธีการตอบแบบสองทาง และฟังก์ชันต้นทุนจากความยาวของคำตอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของระบบ


การระบุตัวคนขับรถโดยใช้ฮิสโทแกรมและโครงข่ายประสาทเทียมจากข้อมูลความเร่ง, ณัฐธัญ วิโรจน์บุญเกียรติ Jan 2017

การระบุตัวคนขับรถโดยใช้ฮิสโทแกรมและโครงข่ายประสาทเทียมจากข้อมูลความเร่ง, ณัฐธัญ วิโรจน์บุญเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จนถึงปัจจุบันจำนวนตัวรับรู้ในรถยนต์มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ภายในรถยนต์ ข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากตัวรับรู้เหล่านี้ส่งผลให้เกิดการศึกษาในการพยายามใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยขน์ งานวิจัยอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือการศึกษาพฤติกรรมการขับรถ เนื่องจากคนขับรถแต่ละคนมีพฤติกรรมต่างกัน การรู้ถึงพฤติกรรมการขับรถจึงทำให้สามารถระบุตัวคนขับรถได้ การทราบถึงบุคคลที่กำลังขับรถทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย การประกันภัย หรือการอำนวยความสะดวก สิ่งนี้เองทำให้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการระบุตัวคนขับรถเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อไม่นานมานี้ งานวิจัยที่ผ่านมาส่วนมากมักใช้ข้อมูลจากตัวรับรู้จำนวนมากเพื่อระบุตัวคนขับรถและสามารถทำได้โดยมีความแม่นยำสูง อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการระบุตัวคนขับรถสามารถทำได้โดยใช้ตัวรับรู้เพียงตัวเดียว แต่ค่าความแม่นยำของงานเหล่านี้ยังสามารถพัฒนาต่อได้ งานวิจัยนี้ได้เสนอระบบการระบุตัวคนขับรถโดยใช้เพียงข้อมูลจากตัวรับรู้ความเร่ง โดยมีการใช้ฮิสโทแกรมของความเร่งเป็นข้อมูลนำเข้าสู่โครงข่ายประสาทเทียม สถาปัตยกรรมระบบที่นำเสนอในงานวิจัยนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบระบุตัวคนขับรถอื่นในอนาคต ผลการทดสอบประสิทธิภาพของระบบนี้สามารถระบุตัวคนขับรถได้แม่นยำสูงสุดถึง 99 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้ทดสอบประสิทธิภาพในหลายแง่มุมซึ่งที่ผ่านมามีหลายงานวิจัยที่มองข้ามบางแง่มุมไป ดังนั้นการวัดผลในงานวิจัยนี้จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการวัดผลการระบุตัวคนขับรถอื่นในอนาคตได้เช่นกัน


อัลกอริทึมในการหาเส้นทางที่พิจารณาปริมาณการเข้าคิวของข้อมูล บนระบบเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์, ภควัต ชุ่มเจริญ Jan 2017

อัลกอริทึมในการหาเส้นทางที่พิจารณาปริมาณการเข้าคิวของข้อมูล บนระบบเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์, ภควัต ชุ่มเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อัลกอริทึมการหาเส้นทางเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางในการส่งของข้อมูลในระบบเครือข่ายโดยที่ผ่านมาได้มีอัลกอริทึมการหาเส้นทางต่างๆ มากมายที่พัฒนามาจากทฤษฎีกราฟพื้นฐานด้วยคำนึงถึงการเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือ shortest path และนอกจากนั้นตัวชี้วัดของระบบเครือข่ายจำนวนมากได้ถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพของการควบคุมคุณภาพการให้บริการ (QoS) ที่อุปกรณ์ปลายทาง แต่อย่างไรตามการเลือกเส้นทางจากอัลกอริทึมการหาเส้นทางที่มีอยู่เดิมนั้น เมื่อมีปริมาณการส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้นยังทำให้เกิดเวลาแฝง (Lantency) ของการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์จุดปลายหนึ่ง ไปยังอุปกรณ์จุดปลายอีกจุดหนึ่ง และเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน ในระบบเครือข่าย โดยปัญหาดังกล่าวจะเรียกว่า ปัญหาปริมาณข้อมูลเกินขนาดบัฟเฟอร์ หรือ Bufferbloat Problem ซึ่งเกิดจากการที่มีปริมาณข้อมูลในบัฟเฟอร์เกินขนาดของบัฟเฟอร์ งานวิจัยนี้จึงได้เสนออัลกอริทึมในการหาเส้นทางที่พิจารณาปริมาณการเข้าคิวของข้อมูล บนระบบเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์โดยใช้ความสามารถของระบบแบบรวมศูนย์กลาง เพื่อรวบรวมข้อมูลขนาดบัฟเฟอร์โดยตรงตามเวลาจริง เพื่อคำนวณเส้นทางที่มีระยะที่สั้นที่สุดที่มีระดับค่าการครอบครองพื้นที่ในบัฟเฟอร์ที่ยอมรับได้ โดยผลประสิทธิภาพของอัลกอริทึม ที่ได้จากทดลองแสดงให้เห็นว่าอัลกอริทึมที่เสนอในงานวิจัยนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าอัลกอริทึมที่หาเส้นทางที่ระยะทางที่สั้นที่สุด ในแง่ของผลรวมของปริมาณงาน (Overall Throughput) ช่วงเวลาในการเดินทางของข้อมูล (Round Trip Time) และความสูญเสียสะสมของกลุ่มข้อมูล (Packet Loss) ที่เกิดในระบบเครือข่ายเป็นอย่างมาก


การอ่านเลขสายรถประจำทางจากภาพ, พิชชากร วงศ์ต๊ะ Jan 2017

การอ่านเลขสายรถประจำทางจากภาพ, พิชชากร วงศ์ต๊ะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากข้อจำกัดในการเดินทางด้วยตนเองโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะของผู้พิการสายตาเลือนราง ที่มักมองเลขสายรถประจำทางไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ช่วยหรือสอบถามจากคนรอบข้าง จึงสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อช่วยให้ผู้พิการสายตาเลือนรางสามารถเดินทางโดยรถประจำทางได้อย่างอิสระยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้นำเสนอระบบตรวจจับเลขสายรถประจำทางจากภาพ โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถเรียนรู้และสกัดคุณลักษณะจากชุดข้อมูลสอนได้ และใช้เทคนิคการประมวลผลภาพประกอบกับใช้ข้อมูลจีพีเอสของป้ายรถประจำทางที่มีข้อมูลบอกว่าป้ายรถประจำทางนั้นมีรถประจำทางสายใดผ่าน วิเคราะห์และประมวลผลจนได้เลขสายรถประจำทางออกมา โดยขั้นตอนของระบบตรวจจับเลขสายรถประจำทางจากภาพ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนการตรวจจับบริเวณแผงด้านบนรถประจำทาง ขั้นตอนการตรวจหาบริเวณที่มีข้อความ ขั้นตอนการรู้จำข้อความ และขั้นตอนการประมวลผลหลังเพื่อปรับปรุงความแม่นยำ โดยขั้นตอนการตรวจจับบริเวณแผงด้านบนรถประจำทางจะใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องวิธีการฟาสเตอร์อาร์ซีเอ็นเอ็น ในการเรียนรู้ตัวสกัดคุณลักษณะแผงด้านบนรถประจำทางจากชุดข้อมูลสอน และส่งต่อไปยังขั้นตอนการหาบริเวณที่มีข้อความโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องวิธีการฟาสเตอร์อาร์ซีเอ็นเอ็น จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรู้จำข้อความกูเกิลคลาวด์วิชัน และตัวรู้จำข้อความวิธีหน่วยความจำระยะสั้นระยะยาว สุดท้ายนำผลลัพธ์ที่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการประมวลผลหลังเพื่อปรับปรุงความแม่นยำ โดยทำการตัดตัวอักษรที่ไม่เกี่ยวข้อง และใช้ข้อมูลจีพีเอสป้ายรถประจำทาง ในการช่วยแก้ไขคำตอบที่ผิดจากวิธีรู้จำข้อความให้ถูกต้องมากขึ้น จากผลการทดลองในการอ่านสายรถประจำทางพบว่าสามารถอ่านเลขรถประจำทางได้ถูกต้อง 62 เปอร์เซ็นต์ โดยประเมินความถูกต้องจากจำนวนค่าความจริงของแผงรถประจำทาง และจำนวนเลขสายรถประจำทางที่อ่านได้ถูกต้องจากขั้นตอนวิธีที่นำเสนอ


การวิเคราะห์รูปแบบการจราจรบนถนนโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่จากซีดีอาร์และจีพีเอส, ล่ำซำ ทองสีนุช Jan 2017

การวิเคราะห์รูปแบบการจราจรบนถนนโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่จากซีดีอาร์และจีพีเอส, ล่ำซำ ทองสีนุช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนึ่งที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง การทราบถึงปริมาณความต้องการในการเดินทางระหว่างพื้นที่และเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการวางแผนระบบขนส่งภายในเมือง ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้อยู่มากมายเช่น โปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ, จีพีเอสที่ติดบนรถแท็กซี่ (GPS), บันทึกการใช้งานเครือข่ายไวไฟ (Wi-Fi Log) และบันทึกรายละเอียดการใช้งานโทรศัพท์ (CDR) โดยข้อมูลที่นักวิจัยนิยมใช้ในการหาปริมาณความต้องการในการเดินทางระหว่างพื้นที่คือข้อมูลจากจีพีเอสที่ติดบนรถแท็กซี่และบันทึกรายละเอียดการใช้งานโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลจากแต่ละแหล่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันโดยข้อมูลจีพีเอสเป็นข้อมูลที่รายงานตำแหน่งของผู้ใช้งานอย่างแม่นยำและมีรอบการส่งตำแหน่งที่แน่นอนแต่ข้อมูลมีขนาดเล็กไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนประชากรทั้งเมืองได้ แต่ข้อมูลจากซีดีอาร์เป็นข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้งานขนาดใหญ่แต่ตำแหน่งที่ได้เป็นตำแหน่งของเสากระจายสัญญาณเท่านั้น ผู้วิจัยจึงนำข้อดีของข้อมูลจากทั้งสองแหล่งมาใช้ในการสร้างเครื่องมือ โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอวิธีการในการสร้างเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของประชากรระหว่างบ้านและสถานที่ทำงาน โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกรายละเอียดการใช้งานโทรศัพท์ในการหาบ้านและสถานที่ทำงานของประชากรทำให้ทราบถึงปริมาณความต้องการในการทางระหว่างพื้นที่ และใช้ข้อมูลจีพีเอสจากรถแท็กซี่ในการหาเส้นทางบนถนนที่เป็นที่นิยมในการเดินทางระหว่างพื้นที่ และผู้วิจัยได้วิเคราะห์ในหลาย ๆ พื้นที่ยกตัวอย่างเช่น ประชากรที่ทำงานในพื้นที่สีลมและช่องนนทรี ,การเดินทางระหว่างสีลมกับอนุสาวรีชัยสมรภูมิ และการเดินทางจากฝั่งธนบุรีไปฝั่งพระนคร


การปรับปรุงแบบจำลองเสียงเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติของเสียงสังเคราะห์ภาษาไทย, ศุภเดช ฉันจรัสวิชัย Jan 2017

การปรับปรุงแบบจำลองเสียงเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติของเสียงสังเคราะห์ภาษาไทย, ศุภเดช ฉันจรัสวิชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เสียงสังเคราะห์เป็นเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับการรับรู้ข้อมูลประเภทข้อความ ความชัดเจน และความเป็นธรรมชาติของเสียงสังเคราะห์ส่งผลโดยตรงกับความเข้าใจของผู้ฟังที่มีต่อข้อมูลในสัญญาณเสียง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงได้พัฒนาด้านความเป็นธรรมชาติ และความชัดเจนของเสียงสังเคราะห์ที่สร้างมาจากค่าพารามิเตอร์ของตัวเข้ารหัสเสียง STRAIGHT ซึ่งค่าพารามิเตอร์เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟ และแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก โดยการนำเสนอแนวคิด 3 แนวคิด ได้แก่ 1) แนวคิดการแยกกันของแบบจำลองคุณลักษณะความถี่มูลฐาน และค่าคุณลักษณะสเปกตรัม โดยทั้งสองแบบจำลองถูกฝึกฝนแยกกันเพื่อสร้างเป็นแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟสำหรับสร้างค่าพารามิเตอร์ของตัวเข้ารหัสเสียง STRAIGHT ที่สอดคล้องกับแบบจำลองดังกล่าว ในวิทยานิพนธ์นี้ได้นำเสนอขั้นตอนวิธีในการปรับแนวเวลาของค่าพารามิเตอร์ที่สร้างขึ้นมาจากการใช้สองแบบจำลอง 2) เสนอการปรับเปลี่ยนค่าคุณลักษณะส่วนรับเข้าของโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึกที่ถูกใช้ในการสร้างค่าพารามิเตอร์ของตัวเข้ารหัสเสียง STRAIGHT จากเดิมที่ใช้ค่าคุณลักษณะทางบริบท เป็นแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟที่เป็นผลลัพธ์จากต้นไม้ตัดสินใจที่ใช้ในการจัดกลุ่มบริบท 3) นำเสนอวิธีการนอร์มัลไลเซชันค่าคุณลักษณะส่วนส่งออกของแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก ที่ใช้ค่ากลาง และค่าความแปรปรวนจากแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟที่เป็นผลลัพธ์จากต้นไม้ตัดสินใจ ในการทดสอบได้ทำการทดสอบ 2 รูปแบบ คือ 1) การทดสอบปรนัยที่ใช้ตัวชี้วัดค่าความเพี้ยนของเซปตรัลในระดับเมลของค่าสัมประสิทธิ์เมลเคปสตรัม (MGC_MCD) ค่าความเพี้ยนของเซปตรัลในระดับเมลของค่าแถบคลื่นความถี่ของความไม่เป็นคาบ (BAP_MCD) ความไม่สอดคล้องกันของสถานะความก้องของเสียง (LF0_UVU) และความผิดพลาดกำลังสองเฉลี่ยของค่าความถี่มูลฐาน (LF0_RMSE) 2) การทดสอบอัตนัยที่ใช้ผู้ทดสอบ 9 คน โดยวัดในด้านของความชัดเจน และความเป็นธรรมชาติของเสียงสังเคราะห์ ผลการทดสอบปรนัยการใช้แนวคิดที่ 2 และ 3 กับแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก สามารถสังเคราะห์ค่าพารามิเตอร์ของตัวเข้ารหัสเสียง STRAIGHT ได้ใกล้เคียงกับเสียงต้นฉบับมากกว่าการใช้แนวคิดที่ 1 กับแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟ และแบบจำลองดั้งเดิมทั้งในส่วนของแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟ และแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก สำหรับในการทดสอบอัตนัยพบว่าการใช้แนวคิดที่ 1 กับแบบจำลองฮิดเดนมาร์คอฟสามารถสังเคราะห์ค่าคุณลักษณะที่มีความเป็นธรรมชาติ และชัดเจนมากกว่าการใช้แนวคิดอื่น และแบบจำลองดั้งเดิมทั้งสองแบบจำลอง


แบบจำลองการสูญหายของการแพร่กระจายในมุมอับสายตาสำหรับมาตรฐานไอทริปเปิ้ลอี 802.11 พี, สัญชัย จักรธีรังกูร Jan 2017

แบบจำลองการสูญหายของการแพร่กระจายในมุมอับสายตาสำหรับมาตรฐานไอทริปเปิ้ลอี 802.11 พี, สัญชัย จักรธีรังกูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เครือข่ายแอดฮอกสำหรับยานพาหนะถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพการคมนาคมทางถนน ไอทริปเปิ้ลอี 802.11 พีเป็นมาตรฐานสำหรับการสื่อสารระหว่างยานพาหนะ ซึ่งจะทำให้เกิดแอพพลิเคชันของยานพาหนะที่เชื่อมต่อกัน หนึ่งในแอพพลิเคชันคือแอพพลิเคชันเพื่อความปลอดภัย ที่จะสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการสื่อสารเกิดขึ้นที่บริเวณมุมอับสายตา ประสิทธิภาพของการสื่อสารอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะนำมาซึ่งการลดลงของประสิทธิภาพของแอพพลิเคชัน หลังจากการสร้างแอพพลิเคชัน และโปรโตคอลแล้ว ประสิทธิภาพจะต้องถูกประเมินด้วย โปรแกรมจำลองเครือข่ายเป็นหนึ่งในวิธีสำหรับการประเมินประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแบบจำลองการสูญหายของการแพร่กระจายที่สามารถแสดงคุณลักษณะของการสื่อสารที่บริเวณมุมอับสายตาได้ใกล้เคียงกับการทดลองจริง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงเสนอแบบจำลองการสูญหายของการแพร่กระจายในมุมอับสายตาสำหรับมาตรฐานไอทริปเปิ้ลอี 802.11 พี ระยะทางที่สั้นที่สุดถูกใช้เป็นตัวประกอบหลักในแบบจำลอง นอกจากนั้น ยังมีตัวประกอบที่ใช้สำหรับปรับปริมาณการกีดขวางในแบบจำลองได้อีกด้วย การทดลองจริงจำนวนมากได้ทำขึ้นเพื่อประเมินแบบจำลอง ผลการทดลองแสดงว่าแบบจำลองที่เสนอสามารถแสดงคุณลักษณะของการสื่อสารในการทดลองจริงได้อย่างใกล้เคียง แบบจำลองสำหรับมุมอับสายตาสามารถนำไปใช้จำลองในโปรแกรมจำลองเครือข่ายได้อย่างสมจริง


การแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ, เกศิณี สุมนาตย์ Jan 2017

การแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ, เกศิณี สุมนาตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการดำเนินธุรกิจ เมื่อมีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น การให้บริการที่รวดเร็ว ทันต่อความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ได้มีการวางแผนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้า อาจทำให้การบริการมีความล่าช้า ไม่ทันกาล ต้องมีการรอคอย ซึ่งอาจเกิดจากมีจำนวนของผู้ให้บริการหรือพนักงานไม่เพียงพอกับจำนวนผู้มารับบริการ การบริหารจัดการแถวคอยที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อผู้มารับบริการ และอาจนำไปสู่การสูญเสียลูกค้า และเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้ งานวิจัยนี้ได้เสนอสโตแคสติกเพทริเน็ตซึ่งเป็นแบบจำลองที่สามารถจำลองการเข้าแถวคอยของผู้มารับบริการ, ผู้ให้บริการและลักษณะของการเข้าแถวคอยได้ ซึ่งที่ได้เสนอแบบจำลองนี้เนื่องจากว่าเป็นแบบจำลองที่สามารถวิเคราะห์การเข้าแถวคอยได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตลอดจนช่วยทำให้เข้าใจพฤติกรรมของการเข้าแถวคอยที่ได้จำลองเอาไว้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของแบบจำลองสโตแคสติกเพทริเน็ตที่ไม่สามารถคำนวณความน่าจะเป็นของการเปลี่ยนจากจุดของการเข้าแถวคอยจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ทำให้ไม่เพียงพอกับการวิเคราะห์การเข้าแถวคอย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้เสนอการแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ ซึ่งห่วงโซ่มาร์คอฟสามารถคำนวณความน่าจะเป็นเพื่อวิเคราะห์หาโอกาสที่ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการที่แถวคอย และคาดการณ์การใช้บริการว่าจะสามารถแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งในการวิเคราะห์นี้จะถูกวิเคราะห์อยู่ในรูปแบบของการคำนวณความน่าจะเป็นที่มีการแจกแจงแบบเอ็กโพเนนเชียล โดยใช้ฟังก์ชันความหนาแน่นของความน่าจะเป็นหรือ ฟังก์ชันการแจกแจงสะสม เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจำนวนของผู้ให้บริการเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการหรือไม่อย่างไรและนำไปสู่การตัดสินใจและดำเนินการเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการการใช้บริการของผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพต่อไป สุดท้ายเครื่องมือได้ถูกนำไปทดสอบความถูกต้องกับ 3 กรณีศึกษา ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เครื่องมือสามารถวิเคราะห์หาโอกาสที่ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการที่แถวคอยและแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดมีค่าความน่าจะเป็นได้อย่างถูกต้อง


การวิเคราะห์ผลกระทบอินสแตนซ์ฐานข้อมูลจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าของความต้องการเชิงฟังก์ชัน, กฤษฎา แก่นเฉลียว Jan 2017

การวิเคราะห์ผลกระทบอินสแตนซ์ฐานข้อมูลจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าของความต้องการเชิงฟังก์ชัน, กฤษฎา แก่นเฉลียว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความต้องการเชิงฟังก์ชันถูกนำมากำหนดฟังก์ชันการทำงานของซอฟต์แวร์ ซึ่งความต้องการดังกล่าวสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกช่วงของการพัฒนาซอฟต์แวร์ บางฟังก์ชันสัมพันธ์ฐานข้อมูล หากข้อมูลนำเข้าของฟังก์ชันเกิดการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบไปยังสคีมาฐานข้อมูล เมื่อสคีมาฐานข้อมูลได้รับผลกระทบอาจจะเกิดผลกระทบกับอินสแตนซ์ฐานข้อมูลด้วย ในการทดสอบฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล กรณีทดสอบจะถูกสร้างขึ้นโดยมีรายการข้อมูลนำเข้าเป็นไปตามฟังก์ชัน และมีค่าข้อมูลทดสอบที่มาจากอินสแตนซ์ฐานข้อมูล และตารางการตามรอยจะถูกนำมาใช้เพื่อบอกความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการเชิงฟังก์ชันกับกรณีทดสอบ ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าข้องความต้องการเชิงฟังก์ชัน จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ผลกระทบต่อสคีมาฐานข้อมูล อินสแตนซ์ฐานข้อมูล ความต้องการเชิงฟังก์ชัน กรณีทดสอบ และตารางการตามรอยความต้องการ วิทยานิพนธ์จึงเสนอวิธีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสคีมาฐานข้อมูล อินสแตนซ์ฐานข้อมูล ความต้องการเชิงฟังก์ชัน กรณีทดสอบ และตารางการตามรอยความต้องการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าของความต้องการเชิงฟังก์ชัน 3 ประเภทคือ เพิ่ม ลบ แก้ไข โดยผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์ผลกระทบตามที่นำเสนอ โดยเครื่องมือมีความสามารถนำเข้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าของความต้องการเชิงฟังก์ชัน ซึ่งเครื่องมือสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและสามารถปรับปรุงสิ่งที่กระทบได้อย่างอัตโนมัติ สุดท้ายเครื่องมือถูกนำไปทดสอบความถูกต้องกับกรณีศึกษาที่แบ่งการทดสอบออกเป็น 4 กรณี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเครื่องมือสามารถวิเคราะห์ผลกระทบและปรับปรุงสิ่งที่ได้รับผลกระทบได้อย่างถูกต้อง


เครื่องมือประเมินความสามารถในการใช้งานเชิงฮิวริสติกสำหรับแอปพลิเคชันแอนดรอยด์, ขวัญดี เพชรากานต์ Jan 2017

เครื่องมือประเมินความสามารถในการใช้งานเชิงฮิวริสติกสำหรับแอปพลิเคชันแอนดรอยด์, ขวัญดี เพชรากานต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประเมินความสามารถในการใช้งานแอปพลิเคชันโดยใช้วิธีการประเมินเชิงฮิวริสติกเป็นวิธีการประเมินความสามารถในการใช้งานส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถดำเนินการประเมินได้ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับวิธีประเมินแบบอื่น โดยการประเมินจะให้ผู้ประเมินทำการเปรียบเทียบการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ในแต่ละหน้าจอของแอปพลิเคชันกับหลักการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้หรือฮิวริสติก การประเมินจึงขึ้นกับการพิจารณาและประสบการณ์ในการออกแบบที่ผ่านมาของผู้ประเมินว่าสามารถตรวจพบข้อผิดพลาดในการออกแบบหรือไม่ อีกทั้งยังมีรายการประเมินตามฮิวริสติกในการออกแบบโดยต้องตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้การประเมินทำได้ไม่ง่าย งานวิจัยนี้จึงนำเสนอการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยผู้ประเมินความสามารถในการใช้งานของส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ของแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์พกพาบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ในการตรวจสอบรายการประเมินการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้จากโค้ดของแอปพลิเคชันและรายงานข้อผิดพลาดในการออกแบบที่พบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการประเมินเชิงฮิวริสติกเป็นการประเมินที่ต้องทำโดยอาศัยผู้ประเมิน ผู้วิจัยจึงได้เลือกรายการประเมินจำนวน 19 รายการ ที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ประเมิน และสามารถตรวจสอบได้อย่างอัตโนมัติมาพัฒนาเครื่องมือ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประเมินในการตรวจสอบความสามารถในการใช้งานส่วนต่อประสานกับผู้ใช้เทียบกับรายการประเมินบางส่วนได้ จากการทดสอบการประเมินส่วนต่อประสานผู้ใช้ของ 3 แอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ตามรายการประเมิน 19 รายการดังกล่าว พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนจุดที่พบข้อผิดพลาดในการออกแบบเมื่อประเมินโดยใช้เครื่องมือ มีค่ามากกว่าเมื่อประเมินโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบส่วนต่อประสานผู้ใช้และกลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนี้เครื่องมือยังช่วยลดเวลาในการประเมินและสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดในการออกแบบที่ผู้ประเมินทั้งสองกลุ่มตรวจไม่พบได้


อัลกอริทึมการอนุมานไวยากรณ์สม่ำเสมอเชิงความน่าจะเป็นด้วยเทคนิคการเพิ่มขึ้น, ต่อศักดิ์ เพ็ญภินันท์ Jan 2017

อัลกอริทึมการอนุมานไวยากรณ์สม่ำเสมอเชิงความน่าจะเป็นด้วยเทคนิคการเพิ่มขึ้น, ต่อศักดิ์ เพ็ญภินันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การอนุมานไวยากรณ์เป็นเรื่องที่ได้รับการศึกษามาเป็นเวลานาน ซึ่งไวยากรณ์จะถูกแสดงในรูปของกฎการสร้างใหม่ ๆ พร้อมด้วยความน่าจะเป็นที่สนับสนุนกฎการสร้างไวยากรณ์นั้น งานวิจัยนี้สนใจในรูปแบบของไวยากรณ์ทั่วไปที่ได้รับการยอมรับผ่านเครื่องจักรแบบจำกัดสถานะ เทคนิคการอนุมานไวยากรณ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคืออัลกอริทึมอัลเลอเจียร์ (Alergia) ซึ่งวิธีการคือสร้างเครื่องจักรแบบจำกัดสถานะเชิงความน่าจะเป็นจากตัวอย่างเชิงบวกพร้อมกับหาค่าความน่าจะเป็น ซึ่งงานวิจัยนี้นำเสนออัลกอริทึมการอนุมานไวยากรณ์เชิงความน่าจะเป็นจากการพิจารณาตัวอย่างเชิงบวกเริ่มต้นจากความยาวน้อยไปหาความยาวที่มากที่สุดตามลำดับ กำหนดรูปแบบให้กับไวยากรณ์ที่เกิดขึ้น และนำเสนอในรูปแบบของเครื่องจักรแบบจำลองสถานะเชิงความน่าจะเป็น


การตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล, ณัฐพงศ์ เอื้อเพิ่มเกียรติ Jan 2017

การตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล, ณัฐพงศ์ เอื้อเพิ่มเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดับเบิลยูเอส-บีเพล เป็นภาษาที่อนุญาตให้ผู้ออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ นำเว็บเซอร์วิซที่มีมาทำงานร่วมกับกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร โดยเรียกผ่านพาร์ทเนอร์ลิงก์ที่เป็นแท็กเชื่อมโยงการเรียกใช้งานเว็บเซอร์วิซ เมื่อออกแบบกระบวนการทางธุรกิจโดยใช้ ดับเบิลยูเอส-บีเพล แล้ว ผู้ทดสอบควรมีการทดสอบการทำงานทุกเว็บเซอร์วิซ ที่อยู่ภายใต้ดับเบิลยูเอส-บีเพล ซึ่งความท้าทายของการทดสอบเว็บเซอร์วิซคือ การตามรอยข้อความที่รับส่งระหว่างดับเบิลยูเอส-บีเพลกับเว็บเซอร์วิซ และทดสอบทุกเว็บเซอร์วิซที่อยู่ภายใต้ดับเบิลยูเอส-บีเพล วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการสำหรับตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยมุ่งเน้นการตรวจจับข้อความที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซ โดยใช้วิธีการแทรกรหัสต้นทาง และสามารถแสดงรายการเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบให้ผู้ทดสอบทราบได้ วิธีการที่นำเสนอนี้ยังครอบคลุมถึงการสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติมสำหรับเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบภายใต้ข้อจำกัดบางประการได้ วิทยานิพนธ์นี้ยังนำวิธีการที่เสนอมาพัฒนาเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยเครื่องมือจะสามารถอ่านไฟล์ดับเบิลยูเอส-บีเพล เพื่อจัดเก็บเส้นทางการไหลและแทรกรหัสต้นทางได้ สามารถจัดเก็บและแสดงข้อความที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซกับดับเบิลยูเอส-บีเพลได้ สามารถแสดงเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบให้ผู้ทดสอบทราบได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติมสำหรับเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบภายใต้ข้อจำกัดที่ระบุไว้ได้ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้ได้นำไปทดสอบกับกรณีศึกษา 3 กรณีศึกษา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ เครื่องมือสามารถจัดเก็บข้อมูลนำเข้าและข้อมูลส่งออกที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซได้ สามารถแสดงรายการเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบ และสามารถสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติม ตามที่คาดหวังได้ถูกต้อง


ระบบจัดเก็บชิ้นส่วนโครงแบบของทรัพยากรการบริการไอทีโดยใช้อาร์ดีเอฟ, นราทิช ณ ลำปาง Jan 2017

ระบบจัดเก็บชิ้นส่วนโครงแบบของทรัพยากรการบริการไอทีโดยใช้อาร์ดีเอฟ, นราทิช ณ ลำปาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอทางเลือกของการจัดเก็บชิ้นส่วนโครงแบบของทรัพยากรการบริการไอที เพื่อให้การจัดการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้กับการจัดการโครงแบบ ซึ่งผู้บริหารจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ที่เหมาะสมและถูกต้องเพื่อการตัดสินใจ โดยนำเสนอการเก็บข้อมูลลงฐานความรู้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาเชิงกลยุทธ์ ซึ่งโครงร่างออนโทโลยีได้รับการออกแบบเพื่อพัฒนาโครงแบบของทรัพยากรการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบของอาร์ดีเอฟเอ็นทริปเปิล คลาสและลำดับชั้นของโครงร่างถูกออกแบบให้แสดงความสัมพันธ์ของซีไอได้อย่างเหมาะสม การออกแบบการสืบค้นใช้ภาษาสปาควอลเพื่อรองรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การคำนวณงบประมาณในการบำรุงรักษาประจำปี เป็นต้น โปรแกรมโพรเทเจถูกเลือกมาเพื่อใช้ในการออกแบบโครงร่างออนโทโลยี จากนั้นพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันด้วยภาษาจาวาที่ใช้กรอบงานของจีนาผ่านทางอาปาเชจีนาฟุเซกิเซิร์ฟเวอร์ และเว็บแอปพลิเคชันสามารถทำงานได้สำเร็จตามแนวทางการใช้ออนโทโลยี


การสร้างมิวแตนท์สําหรับนิพจน์เงื่อนไขบนแบบจําลองบีพีเอ็มเอ็น, ปฤษฎี ท่าดีสม Jan 2017

การสร้างมิวแตนท์สําหรับนิพจน์เงื่อนไขบนแบบจําลองบีพีเอ็มเอ็น, ปฤษฎี ท่าดีสม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นเป็นแบบจำลองเชิงธุรกิจที่ถูกพัฒนาให้สามารถประมวลกระบวนการกิจกรรมเชิงธุรกิจบนเครื่องประมวลผลแบบจำลอง ซึ่งความสามารถดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ต้องมีการทดสอบการทำงานของกระบวนการกิจกรรมบนแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขทางธุรกิจ นักทดสอบจึงได้นำเสนอวิธีการสร้างกรณีทดสอบด้วยเทคนิคที่แตกต่างกัน แต่กรณีทดสอบเหล่านั้นยังไม่มีการประเมินคุณภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทดสอบมิวเทชันบนแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นในงานวิจัยนี้ ทั้งนี้การทดสอบมิวเทชันบนแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นของงานวิจัยนี้จะเริ่มต้นที่การกำหนดตัวดำเนินการมิวเทชันสำหรับแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็น จากนั้นพัฒนาเครื่องมือสร้างมิวแตนท์ขึ้นมาเพื่อสามารถทำการทดสอบมิวเทชันบนแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นได้ งานวิจัยนี้ได้กำหนดตัวดำเนินการมิวเทชันของแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นได้ทั้งหมด 25 ตัวดำเนินการ และพัฒนาเครื่องมือสร้างมิวแตนท์สำหรับนิพจน์เงื่อนไขบนแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นขึ้น ด้วยตัวดำเนินการสำหรับนิพจน์เงื่อนไข 3 ตัวดำเนินการคือตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์ ตัวดำเนินการเชิงสัมพันธ์ และตัวดำเนินการเชิงตรรกะ จากนั้นนำมิวแตนท์ที่ได้จากเครื่องมือสร้างมิวแตนท์มาทำการทดสอบมิวเทชัน หลังจาก ทดสอบมิวเทชันกับกรณีทดสอบที่ได้จากงานวิจัยก่อนหน้า ทำให้ทราบว่าผลการทดสอบของแต่ละเทคนิคการสร้างกรณีทดสอบนั้นมีค่าคะแนนมิวเทชันที่แตกต่างกัน ชุดกรณีทดสอบที่มีค่าคะแนนมิวเทชันมากที่สุด เป็นชุดกรณีทดสอบที่มีคุณภาพที่สุด


ผลของตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดกรดและเบสต่อผลผลิตน้ำมันชีวภาพของไพโรไลซิสเหง้ามันสำปะหลังในเครื่องปฏิกรณ์แบบต่อเนื่อง, กันต์ธีรา คำภีระ Jan 2017

ผลของตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดกรดและเบสต่อผลผลิตน้ำมันชีวภาพของไพโรไลซิสเหง้ามันสำปะหลังในเครื่องปฏิกรณ์แบบต่อเนื่อง, กันต์ธีรา คำภีระ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เหง้ามันสำปะหลังคือส่วนเหลือใช้จากกระบวนการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง โดยมีปริมาณมากถึง 6,000,000 ตันต่อปี งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตน้ำมันชีวภาพจากเหง้ามันสำปะหลังด้วยกระบวนการไพโรไลซิสแบบต่อเนื่อง โดยทำการศึกษาตัวแปรที่มีผล 4 ตัวแปรดังนี้ ขนาดอนุภาคในช่วง 0.3-3 มิลลิเมตร อุณหภูมิ 400-500 องศาเซลเซียส อัตราการป้อนสาร 3.2-32.8 กรัมต่อนาที และอัตราการไหลของแก๊สไนโตรเจน 50-250 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อนาที จากผลการทดลองพบว่าภาวะที่เหมาะสมที่สุดคือ ขนาดอนุภาค 2-3 มิลลิเมตร อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส อัตราการป้อนสาร 18 กรัมต่อนาที และอัตราการไหลของแก๊สไนโตรเจน 150 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อนาที โดยที่ภาวะนี้ให้ปริมาณผลิตภัณฑ์น้ำมันชีวภาพมากถึงร้อยละ 43.04 ในงานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาผลของตัวเร่งปฏิกิริยาต่อการผลิตน้ำมันชีวภาพ โดยใช้ศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาแคลไซน์โดโลไมต์ (ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดเบส), ตัวเร่งปฏิกิริยา FCC ใช้แล้ว (ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดกรด) และตัวเร่งปฏิกิริยาผสม (แคลไซน์โดโลไมต์ : FCC ใช้แล้ว = 1:1) จากผลการทดลองพบว่าการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยามีผลให้ปริมาณน้ำมันชีวภาพลดลง ปริมาณผลิตภัณฑ์แก๊สเพิ่มขึ้น แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมันชีวภาพโดยลดปริมาณองค์ประกอบ Long residue hydrocarbon และเพิ่มปริมาณองค์ประกอบ Kerosine ได้ โดยเฉพาะตัวเร่งปฏิกิริยา FCC ใช้แล้วที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำมันชีวภาพได้โดยเพิ่มอัตราส่วนองค์ประกอบกลุ่มแอลเคน และแอลไคน์ได้ โดยลดสัดส่วนองค์ประกอบสารประกอบที่มีหมู่ออกซิเจนได้


ผลของสารตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาต่อสมบัติของพอลิแล็กทิกแอสิดคอมพอสิต, กิตติธร เลิศพิรุณ Jan 2017

ผลของสารตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาต่อสมบัติของพอลิแล็กทิกแอสิดคอมพอสิต, กิตติธร เลิศพิรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เริ่มต้นด้วยการเตรียมตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาที่ดัดแปรพื้นผิวด้วยสารดัดแปรเฮกซะเดซิลไตรเมทอกซีไซเลนผ่านปฏิกิริยาไซเลไนเซชันเพื่อให้มีสภาพผิวเป็นไฮโดรโฟบิก โดยใช้อัตราส่วนของตัวเติมเซลลูโลส/นาโนซิลิกา : สารดัดแปรเท่ากับ 1 : 1 และ 1 : 0.25 โดยน้ำหนัก จากนั้นเตรียมมาสเตอร์แบทช์ของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตด้วยตัวเติมไฮบริดดัดแปรที่เตรียมได้ปริมาณร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก ด้วยเครื่องอัดรีดแบบเกลียวคู่ จากนั้นนำมาสเตอร์แบทช์ที่เตรียมได้ไปผสมกับพอลิแล็กทิกแอซิดแบบหลอมเหลวอีกครั้งเพื่อลดปริมาณตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาดัดแปรในพอลิแล็กทิกแอซิดให้เหลือร้อยละ 1, 3 และ 5 โดยน้ำหนัก ด้วยเครื่องอัดรีดแบบเกลียวคู่ที่ใช้อุณหภูมิภายในบาเรลล์จากโซนป้อนถึงหัวดายเท่ากับ 195/190/180/165/150 องศาเซลเซียส จากนั้นขึ้นรูปชิ้นงานพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตด้วยเครื่องฉีดแบบสำหรับทดสอบสมบัติเชิงกลและการย่อยสลายทางชีวภาพ จากการทดสอบ พบว่า พอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตที่เตรียมจากตัวเติมไฮบริดดัดแปรด้วย 2 ระบบ ปริมาณร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก มีความทนแรงกระแทกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ 3.0 และมีความทนแรงดึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อใช้ตัวเติมเซลลูโลส : สารดัดแปร 1 : 1 และ 1 : 0.25 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับพอลิแล็กทิกแอซิดบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม พอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตที่ใส่ตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาดัดแปรร้อยละ 1, 3 และ 5 โดยน้ำหนัก มีสมบัติเชิงกลต่ำกว่าคอมพอสิตที่ใส่ไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาดัดแปรร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก ทั้งนี้เนื่องจากการแตกสลายของพอลิแล็กทิกแอซิดในส่วนผสมมาสเตอร์แบทช์เมื่อได้รับความร้อน 2 ครั้ง ขณะที่มาสเตอร์แบทช์ถูกนำไปฉีดขึ้นรูปโดยตรง ตัวเติมไฮบริดเซลลูโลส/นาโนซิลิกาดัดแปรร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก จึงสามารถเสริมแรงให้กับพอลิแล็กทิกแอซิด และส่งเสริมการเร่งย่อยสลายของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตภายใต้สภาวะการฝังดินด้วยกลไกการดูดซึมน้ำ เพื่อนำพาจุลินทรีย์เข้าไปย่อยสลายเซลลูโลสได้เป็นกรดแล็กทิก และซิลิกาจะปลดปล่อยกรดไซลิซิก กรดที่เกิดขึ้นจะเร่งการสลายตัวของพอลิแล็กทิกแอซิดผ่านกลไกไฮโดรไลติก ไฮโดรลิซิส จึงทำให้คอมพอสิตสลายตัวได้เร็วกว่าพอลิแล็กทิกบริสุทธิ์


ผลของตัวเติมไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาต่อสมบัติของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิต, จินดามาศ สรรพทรัพย์สิริ Jan 2017

ผลของตัวเติมไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาต่อสมบัติของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิต, จินดามาศ สรรพทรัพย์สิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เริ่มต้นด้วยการเตรียมตัวเติมไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาที่ดัดแปรพื้นผิวด้วยสารดัดแปรเฮกซะเดซิลไตรเมทอกซีไซเลนผ่านปฏิกิริยาไซเลไนเซชันเพื่อให้มีสภาพผิวเป็นไฮโดรโฟบิก โดยใช้อัตราส่วนของตัวเติมสตาร์ช/นาโนซิลิกา : สารดัดแปรเท่ากับ 4 : 1 และ 1 : 1 โดยน้ำหนัก จากนั้นเตรียมมาสเตอร์แบทช์ของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตด้วยตัวเติมไฮบริดดัดแปรที่เตรียมได้ปริมาณร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก ด้วยเครื่องอัดรีดแบบเกลียวคู่ จากนั้นนำมาสเตอร์แบทช์ที่เตรียมได้ไปผสมกับพอลิแล็กทิกแอซิดแบบหลอมเหลวอีกครั้งเพื่อลดปริมาณตัวเติมไVบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาดัดแปรในพอลิแล็กทิกแอซิดให้เหลือร้อยละ 1, 3 และ 5 โดยน้ำหนัก ด้วยเครื่องอัดรีดแบบเกลียวคู่ที่ใช้อุณหภูมิภายในบาเรลล์จากโซนป้อนถึงหัวดายเท่ากับ 150/160/170/180/190 องศาเซลเซียส จากนั้นขึ้นรูปชิ้นงานพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตด้วยเครื่องฉีดแบบสำหรับทดสอบสมบัติเชิงกลและการย่อยสลายทางชีวภาพ จากการทดสอบ พบว่า พอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตที่เตรียมจากตัวเติมไฮบริดดัดแปรด้วย 2 ระบบ ปริมาณร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก มีความทนแรงกระแทกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 และ 12.6 และมีความทนแรงดึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 และ 18.8 เมื่อใช้ตัวเติมไฮบริด : สารดัดแปรที่อัตราส่วน 4 : 1 และ 1 : 1 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ เหนือกว่าพอลิแล็กทิกแอซิดบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม พอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตที่ใส่ตัวเติมไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาดัดแปรร้อยละ 1, 3 และ 5 โดยน้ำหนัก มีสมบัติเชิงกลต่ำกว่าคอมพอสิตที่ใส่ไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกา ดัดแปรร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก ทั้งนี้เนื่องจากการแตกสลายของคอมพอสิตเมื่อได้รับความร้อนขณะทำการผสม 2 ขั้นตอน ดังนั้น การใส่ตัวเติมไฮบริดสตาร์ช/นาโนซิลิกาดัดแปรร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก สามารถเสริมแรงให้กับพอลิแล็กทิกแอซิด และส่งเสริมการย่อยสลายของพอลิแล็กทิกแอซิดคอมพอสิตภายใต้สภาวะการฝังดินด้วยปฏิกิริยาจากเอนไซม์ของจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาไฮโดรลิซิสและการย่อยสลายของคอมพอสิตไปพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งปลดปล่อยกรดแล็กทิกและซาลิไซลิก


การเตรียมและสมบัติของพอลิแล็กทิกแอซิด/พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง/ผงไม้/แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์คอมพอสิต, ณัฐบุรุษ คงไกรฤกษ์ Jan 2017

การเตรียมและสมบัติของพอลิแล็กทิกแอซิด/พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง/ผงไม้/แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์คอมพอสิต, ณัฐบุรุษ คงไกรฤกษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิจัยนี้ คอมพอสิตของพอลิแล็กทิกแอซิด/พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง ได้ถูกเตรียมโดยการใส่ผงไม้และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ขั้นแรกพอลิแล็กทิกแอซิดถูกผสมแบบหลอมเหลวกับพอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง 5 อัตราส่วน (ร้อยละ 10-50 โดยน้ำหนัก) ในเครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ตามด้วยการฉีดแบบ จากการทดสอบ พบว่า การใส่พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูงลงในพอลิเมอร์ผสมพอลิแล็กทิกแอซิด/พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง สามารถปรับปรุงความทนแรงกระแทก (ร้อยละ 10 สูงที่สุด) การยืดตัว ณ จุดขาด (ร้อยละ 10 สูงที่สุด) และเสถียรภาพทางความร้อน (ร้อยละ 10 สูงที่สุด) เมื่อเปรียบเทียบกับพอลิแล็กทิกแอซิดล้วน หากแต่ความทนแรงดึง ยังส์มอดุลัสและความทนแรงดัดโค้งมีค่าลดลงตามปริมาณพอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูงที่เพิ่มขึ้น โดยพอลิเมอร์ผสมที่อัตราส่วน 80/20 เมื่อใส่ผงไม้ปริมาณ 20 ส่วนโดยน้ำหนักต่อเรซินร้อยส่วน มีสมบัติเชิงกล (ความทนแรงดึง และ ยังส์มอดุลัส) ที่ดี จึงเลือกไปเตรียมคอมพอสิตด้วยแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ โดยมีอัตราส่วนผงไม้/แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์เท่ากับ 20/0, 20/20, 20/30 และ 20/40 จากการทดลอง พบว่า ผงไม้ช่วยปรับปรุงความทนแรงกระแทก ความทนแรงดึง ยังส์มอดุลัส และความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพ ขณะที่การยืดตัว ณ จุดขาด ความทนแรงดัดโค้ง เสถียรภาพทางความร้อน และการต้านทานการลามไฟลดลง นอกจากนี้ เมื่อใส่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ใน 80/20/20 พอลิแล็กทิกแอซิด/พอลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง/ผงไม้คอมพอสิต พบว่า คอมพอสิตมียังส์มอดุลัส เสถียรภาพทางความร้อน การต้านทานการลามไฟและความสามารถในการย่อยสลายเพิ่มขึ้นตามปริมาณแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ที่เพิ่มขึ้น


การผลิตไฮโดรเจนจากรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของกลีเซอรอลดิบและกลีเซอรอลบริสุทธิ์, นิพิฐพนธ์ ปะนามะสา Jan 2017

การผลิตไฮโดรเจนจากรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของกลีเซอรอลดิบและกลีเซอรอลบริสุทธิ์, นิพิฐพนธ์ ปะนามะสา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาผลของปัจจัยดำเนินการที่ส่งผลต่อการผลิตไฮโดรเจนจาก รีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของกลีเซอรอลบริสุทธิ์และกลีเซอรอลดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และศึกษาผลของสิ่งเจือปนในกลีเซอรอลดิบที่มีต่อรีฟอร์มิงด้วย ไอน้ำ โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์เบดนิ่งแบบต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะดำเนินการแตกต่างกัน โดยศึกษาช่วงอุณหภูมิ 600 - 700 องศาเซลเซียส อัตราส่วนการป้อนเข้าไอน้ำต่อคาร์บอนที่ 6 - 12 และความดัน 1 - 4 บาร์ โดยกำหนดให้ใช้อัตราการป้อนเข้าคงที่ 0.5 มิลลิลิตรต่อนาที จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าทั้งในกลีเซอรอลบริสุทฺธิ์และกลีเซอรอลดิบซึ่งมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิรวมไปถึงการเพิ่มปริมาณอัตราส่วนการป้อนเข้าไอน้ำต่อคาร์บอน ส่งผลให้ผลได้ไฮโดรเจนและร้อยละการเปลี่ยนคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยอุณหภูมิที่ 650 องศาเซลเซียส และอัตราส่วนการป้อนไอน้ำต่อคาร์บอนที่ 9 ที่ความดันบรรยากาศ เป็นค่าปัจจัยดำเนินการที่เหมาะสมให้ผลได้ไฮโดรเจน 3.36 มิลลิโมลต่อกรัมกลีเซอรอลและร้อยละการเปลี่ยนคาร์บอนที่ 18.1 จากกลีเซอรอลบริสุทธิ์ แต่สำหรับกลีเซอรอลดิบให้ผลได้ไฮโดรเจนและร้อยละการเปลี่ยนของคาร์บอนสูงกว่าอย่างชัดเจนที่ 4.37 มิลลิโมลต่อกรัมกลีเซอรอลและร้อยละ 25.6 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งเจือปนในกลีเซอรอลดิบ อาจส่งผลถึงปฏิกิริยารีฟอร์มิง โดยพบว่า โลหะอัลคาไลน์ และ เมทานอล ที่เจือปนอยู่ในสารละลายกลีเซอรอลน่าจะมีผลต่อผลได้ไฮโดรเจนและร้อยละการเปลี่ยนคาร์บอนเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันปริมาณกรดไขมันอิสระซึ่งเจือปนอยู่ในกลีเซอรอลไม่มีผลชัดเจนต่อการเพิ่มของผลได้ไฮโดรเจนและยังส่งผลให้ความเข้มข้นของไฮโดรเจนผลิตภัณฑ์ลดลง นอกจากนี้เมทานอลและกรดไขมันอิสระยังทำให้เกิดไฮโดรคาร์บอนมากขึ้น


การปรับปรุงคุณภาพเชิงเร่งปฏิกิริยาของน้ำมันชีวภาพโดยซีโอไลต์โดปด้วยโลหะ, ณิชาบูล ชายหาด Jan 2017

การปรับปรุงคุณภาพเชิงเร่งปฏิกิริยาของน้ำมันชีวภาพโดยซีโอไลต์โดปด้วยโลหะ, ณิชาบูล ชายหาด

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นการการปรับปรุงคุณภาพเชิงเริงปฏิกิริยาของน้ำมันชีวภาพที่ได้จากกระบวนไพโรไลซิสแบบเร็วของลำต้นทานตะวัน ไม้สนซีดาร์ ลำต้นเจแปนนิสน็อตวีด และลำต้น แอปเปิ้ลด้วยซีโอไลต์ H-ZSM-5 H-Beta และ H-USY จากผลการทดลองพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาทั้ง 3 ชนิดมีความว่องไวและเลือกจำเพาะในการเกิดสารประกอบแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนโดยได้ปริมาณสัมพัทธ์ของสารประกอบแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนร้อยละ 56.2 - 100 จากการวิเคราะห์ด้วย GC/MS ตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์ H-ZSM-5 ผลิตปริมาณสารประกอบแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนมากที่สุด นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยาทุกชนิดมีประสิทธิภาพในการนำกลับมาใช้ซ้ำโดยยังคงความว่องไวและความเลือกจำเพาะในการเป็นสารประกอบแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนสูงถึงร้อยละ 70 ในรอบการใช้ซ้ำครั้งที่ 3 และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้แล้วยังสามารถฟื้นฟูสภาพได้โดยการเผาแบบง่าย ในขณะที่การเมื่อศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์โดปด้วยโลหะทองแดงเพื่อเพิ่มความว่องไวและความเสถียรของตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยวิธีแลกเปลี่ยนไอออนและการเคลือบฝัง จากผลการทดลองพบว่าการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์โดปด้วยโลหะทองแดงในปริมาณร้อยละ 0.5 ด้วยวิธีเคลือบฝัง ทำให้ปริมาณสารประกอบแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มปริมาณทองแดงที่โดปบน H-ZSM-5 ส่งผลทำให้ความเลือกจำเพาะและพื้นที่ผิวของซีโอไลต์ลดลง ในขณะที่มีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นซึ่งจากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าการโดปทองแดงในปริมาณที่เหมาะสมมีผลการต่อประสิทธิภาพในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา


การเตรียมไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ไฮโดรเจล, พริม ภักดีธรรม Jan 2017

การเตรียมไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ไฮโดรเจล, พริม ภักดีธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไคโตซาน (CS) เป็นพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพซึ่งมีการตอบสนองที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ การใช้ไคโตซานเพื่อขึ้นรูปเป็นแผ่นปิดแผลยังมีข้อจำกัดบางประการเนื่องจากความอ่อนแอของแผ่นฟิล์ม นอกจากนั้นแผ่นไคโตซานยังมีความยืดหยุ่นไม่มากพอและแตกหักได้ง่าย ดังนั้นจึงได้เตรียมแผ่นไคโตซานบนผ้าเพื่อเป็นวัสดุฐานรอง การเตรียมไฮโดรเจลผสมโดยใช้ไคโตซานผสมพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ทั้งหมด 2% (w/v) ในสารละลายกรดอะซิติก 1% (v/v) ที่อัตราส่วน 0.75 ไคโตซาน ต่อ 0.25 พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ เป็นอัตราส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของไฮโดรเจลผสมที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 89.12% ซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมโดยนำสารละลายไฮโดรเจลไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ผสม เทลงบนผ้าและอบแห้งที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 72 ชั่วโมง อัตราส่วนของส่วนผสมไคโต-ซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ในการทดสอบคือตั้งแต่ 2:0 ถึง 0:2 เพื่อหาปริมาณน้ำที่เหมาะสม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ จึงเติมน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ (Cymbopogon citratus) เข้าไปปริมาณ 3.125% (v/v) ในขณะขึ้นรูปไฮโดรเจล จากการทดสอบแผ่นไฮโดรเจลผสมไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ด้วยวิธีทดสอบ AATCC 100 (Antibacterial Finishes on Textile Materials: Assessment of) ผลจากการทดลองน้ำมันตะไคร้หอมระเหย สามารถเพิ่มประสิทธิการต้านเชื้อของไฮโดรเจลผสมไคโต-ซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์บนฐานรองซึ่งสามารถยับยั้ง S.aureus ได้จาก 6.16 ± 0.02 log CFU/ml เหลือ 0.00 หรือ 99.99% ใน 24 ชั่วโมง


กระบวนการเลือกเส้นทางของทีซีพีแบบหลายเส้นทาง ในเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์, จิรศักดิ์ จุลวัจน์ Jan 2017

กระบวนการเลือกเส้นทางของทีซีพีแบบหลายเส้นทาง ในเครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์, จิรศักดิ์ จุลวัจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Multipath TCP (MPTCP) มีความสามารถในการเพิ่ม Throughput และเป็น Load balance ซึ่งทำให้คงทนต่อความเสียหาย (Fault Tolerance) จากเส้นทางเชื่อมต่อที่มีปัญหา แต่ด้วยเครือข่ายที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน ทำให้การที่ส่งข้อมูลโดยใช้ MPTCP เกิดการใช้เส้นทางที่ทับซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม ในการส่งข้อมูลภายใต้เครือข่ายที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ (Software-Defined Network) ที่ทราบถึงลักษณะของข้อมูลที่ถูกส่งภายในระบบ และสามารถเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานได้ทั้งระบบนั้น จะสามารถช่วยเลือกเส้นทางที่เหมาะสมได้ งานวิจัยนี้จึงเสนอกระบวนการระบุ Subflow ที่ถูกต้องแม่นยำและกระบวนการเลือกเส้นทางที่ใช้ข้อมูลแบนด์วิดท์ที่พร้อมใช้งานแบบเรียลไทม์และค่าความหน่วง เพื่อประมาณค่า Throughput ในการเลือกคู่เส้นทางที่จะได้ค่า Throughput สูงสุดจากเส้นทางทั้งหมดในเครือข่าย ผลลัพธ์จากการวัดประสิทธิภาพในการทดลองนี้พบว่าสามารถส่งข้อมูลที่ได้ค่า Throughput ที่สูงกว่าการเลือกเส้นทางแบบที่สั้นที่สุดร้อยละ 76 ในเครือข่ายแบบดัมเบลอย่างง่าย และร้อยละ 66.6 ในเครือข่าย COST 239


การขยายตัวจัดเก็บบันทึกจราจรเครือข่ายด้วยสถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส, ชาคริต ผาอินทร์ Jan 2017

การขยายตัวจัดเก็บบันทึกจราจรเครือข่ายด้วยสถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส, ชาคริต ผาอินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากได้วิวัฒนาการเทคโนโลยีสแต็คองค์กรไปสู่ไมโครเซอร์วิส หรือที่รู้จักกันว่า สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมโมโนลิทิกยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับแอปพลิเคชันจำนวนมาก แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขยายตัวของระบบ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในแอปพลิเคชันสามารถทำให้ต้องพัฒนาซ้ำระบบโมโนลิทิกทั้งระบบ ส่งผลให้ยากต่อการบำรุงรักษาโครงสร้างความเป็นมอดูลที่ดีในระยะยาว งานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอการใช้สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิสสำหรับการออกแบบตัวจัดเก็บบันทึกจราจรเครือข่าย บนพื้นฐานของแบบจำลองขยายตัวที่เรียกว่า ลูกบาศก์การขยายตัว แต่ละเซอร์วิสสามารถขยายตัวได้แบบปัจเจก ส่งผลให้แอปพลิเคชันขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การศึกษาเบื้องต้นเพื่อประเมินสมรรถนะแนวทางการออกแบบที่นำเสนอ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ล็อกเกอร์ที่พัฒนาบนพื้นฐานไมโครเซอร์วิสใช้เวลาค้นถามข้อมูลบนเรเดียสล็อกน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับล็อกเกอร์ที่พัฒนาแบบโมโนลิทิก


การจัดกลุ่มทับซ้อนที่มีพื้นฐานมาจากการจัดกลุ่มแบบแบ่งส่วนโดยใช้ความสัมพันธ์ของกลุ่มข้อมูล, ธนวัต ลิมังกูร Jan 2017

การจัดกลุ่มทับซ้อนที่มีพื้นฐานมาจากการจัดกลุ่มแบบแบ่งส่วนโดยใช้ความสัมพันธ์ของกลุ่มข้อมูล, ธนวัต ลิมังกูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การจัดกลุ่มแบบดั้งเดิมตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าข้อมูลหนึ่งตัวอย่างสามารถถูกจัดให้อยู่ได้เพียงกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มประเภทนี้ไม่สามารถครอบคลุมข้อมูลได้หมดทุกประเภท สำหรับข้อมูลประเภทหลายหมวดหมู่จำเป็นที่จะต้องใช้การจัดกลุ่มอีกแบบที่อนุญาตให้ข้อมูลหนึ่งตัวอย่างสามารถอยู่ได้หลายกลุ่มข้อมูล และเนื่องจากข้อมูลหนึ่งตัวอย่างสามารถอยู่ได้หลายกลุ่ม ดังนั้นกลุ่มข้อมูลที่เกิดขึ้นจึงสามารถทับซ้อนกัน การจัดกลุ่มประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า "การจัดกลุ่มทับซ้อน" งานวิจัยนี้ให้ความสนใจที่การจัดกลุ่มทับซ้อนแบบแบ่งส่วนซึ่งเป็นการจัดกลุ่มทับซ้อนที่มีประสิทธิภาพและสามารถประยุกต์ใช้ได้กับชุดข้อมูลส่วนใหญ่ การจัดกลุ่มทับซ้อนแบบแบ่งส่วนนั้นมักมีพัฒนาการมาจากขั้นตอนวิธี K-Means ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือมีการเริ่มต้นกระบวนการโดยการสุ่มเซนทรอยด์ ซึ่งหากเซนทรอยด์ที่ได้จากการสุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ประสิทธิภาพทางด้านความถูกต้องแม่นยำของการจัดกลุ่มจะถูกอิงอยู่กับค่าต่ำสุดสัมพัทธ์ของฟังก์ชันต้นทุน ซึ่งทำให้ความถูกต้องแม่นยำมีโอกาสที่จะออกมาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การจัดกลุ่มทับซ้อนที่พัฒนามาจากขั้นตอนวิธี K-Means ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกันเนื่องจากมีการเริ่มต้นกระบวนการที่เหมือนกัน นอกจากนี้งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดกลุ่มทับซ้อนแบบแบ่งส่วนที่ผ่านมายังไม่มีการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มข้อมูลซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อรูปแบบของกลุ่มข้อมูลมาใช้ประโยชน์ งานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์หลักสองประเด็นคือเพื่อแก้ปัญหาเซนทรอยด์ที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม โดยการประยุกต์ใช้ขั้นตอนวิธี K-Harmonic-Means และขั้นตอนวิธี ELBG อีกประเด็นหนึ่งคือนำองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดกลุ่มในด้านความถูกต้องแม่นยำ หลังจากค้นคว้าวิจัยจนได้ขั้นตอนวิธีใหม่และทดสอบกับชุดข้อมูล 20 ชุดข้อมูลพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดกลุ่มด้านความถูกต้องแม่นยำได้จริง โดยความถูกต้องแม่นยำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.68% จากขั้นตอนวิธี OKM ซึ่งนำมาเป็นขั้นตอนวิธีพื้นฐานในการวัดด้วยค่า F1


การแปลงแผนภาพยูเอ็มแอลสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา, ปาณิสรา ดำจันทร์ Jan 2017

การแปลงแผนภาพยูเอ็มแอลสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา, ปาณิสรา ดำจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำการทวนสอบเชิงรูปนัยโดยใช้วิธีการโมเดลเช็คกิงโดยเครื่องมือสปินนั้นต้องอาศัยแบบจำลองที่เป็นภาษาโพรเมลาซึ่งการทวนสอบเชิงรูปนัยนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะต้นของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะขั้นตอนการออกแบบ ปัจจุบันการออกแบบระบบได้มีการนำแผนภาพยูเอ็มแอลมาใช้โดยเฉพาะแผนภาพสเตทแมชชีนที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมแบบพลวัตของระบบซอฟต์แวร์ วิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอเครื่องมือในการแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนที่มีการเขียนโอซีแอลไปเป็นภาษาโพรเมลา เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำการทวนสอบด้วยวิธีโมเดลเช็คกิงโดยเครื่องมือสปิน โดยวิทยานิพนธ์นี้สนใจสัญลักษณ์พื้นฐานของแผนภาพสเตทแมชชีน 5 สัญลักษณ์ด้วยกันคือ สัญลักษณ์เริ่มต้น สัญลักษณ์สิ้นสุด สัญลักษณ์สถานะ สัญลักษณ์ทางเลือก และสัญลักษณ์การเปลี่ยนสถานะ และมีแม่แบบในการแปลง 6 แม่แบบ สำหรับแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา ทั้งนี้เครื่องมือสามารถแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนที่มีการเขียนโอซีแอลบนแผนภาพ สเตทแมชชีนไปเป็นภาษาโพรเมลาได้ โดยเครื่องมือจะรับแผนภาพสเตทแมชชีนที่อยู่ในรูปแบบแฟ้มเอกสารเอกซ์เอ็มแอลเป็นข้อมูลนำเข้าในการแปลงและข้อมูลนำออกเป็นภาษาโพรเมลา


การตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงจากภาพถ่ายด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส, นพวัชร์ สำแดงเดช Jan 2017

การตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงจากภาพถ่ายด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส, นพวัชร์ สำแดงเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เสนอวิธีการตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงที่อยู่ในภาพถ่ายท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัสโดยใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องและเทคนิคการประมวลผลภาพดิจิทัล โดยใช้ภาพถ่ายจากด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส ณ ทางเข้าโรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ ขั้นตอนแรกคือการตรวจหารถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส เริ่มจากการตรวจจับวัตถุด้วยโครงสร้างซิงเกิ้ลชอทดีเทคเตอร์ ถูกนำไปใช้ในการหาพื้นที่ของรถบรรทุกไม้โดยระบุพิกัดของขอบเขตที่ตรวจพบรถบรรทุกไม้และกำจัดวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้องในภาพ ขั้นตอนที่สองคือการแยกส่วนหน้าตัดของปลายท่อนซุง ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อสกัดจุดภาพเฉพาะส่วนที่เป็นหน้าตัดของปลายท่อนซุงเท่านั้นและแบ่งส่วนปลายท่อนซุงแต่ละท่อนออกจากภาพพื้นหลัง โดยในขั้นตอนนี้ดำเนินการด้วยวิธีการจำแนกทางความหมายตามโครงข่ายคอนโวลูชันแบบทั่วถึง แต่เนื่องจากภาพอาจมีหน้าตัดของปลายท่อนซุงบางส่วนที่ติดกับหน้าตัดของปลายท่อนซุงอื่น รวมถึงอาจมีส่วนที่ไม่ใช่หน้าตัดของปลายท่อนซุงปรากฏขึ้นในภาพผลลัพธ์ ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้ายนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกปลายท่อนซุงที่เชื่อมติดกันและเพื่อนับหน้าตัดของปลายท่อนซุงโดยใช้เทคนิคการประมวลผลภาพ วิธีการที่เสนอนี้ได้รับการทดสอบด้วยชุดข้อมูลไม้ยูคาลิปตัสบนรถบรรทุกจำนวน 300 ภาพและมีความถูกต้องเฉลี่ยร้อยละ 94.45 ในการแยกส่วนหน้าตัดของปลายท่อนซุงและมีค่าลบเท็จ (False negative) เฉลี่ยร้อยละ 2.71 และค่าลบจริง (False positive) เฉลี่ยร้อยละ 2.84


การประยุกต์ใช้กฎหมายอาญาโดยใช้ออนโทโลยี, พงศ์ปณัฏฐ โอสถิตย์พร Jan 2017

การประยุกต์ใช้กฎหมายอาญาโดยใช้ออนโทโลยี, พงศ์ปณัฏฐ โอสถิตย์พร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่องความผิด และบทลงโทษไว้สำหรับความผิดที่เกิดขึ้น โดยบทลงโทษนั้นใช้สำหรับการรักษาความสงบของบ้านเมือง เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข เพราะฉะนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งกระทำความผิด ว่าบุคคลที่ทำความผิดนั้นต้องถูกรัฐลงโทษอย่างไร ในการพิจารณากฎหมายอาญานั้นต้องสามารถแยกพิจารณาองค์ประกอบกฎหมายได้ โดยต้องอาศัยการตีความอย่างเคร่งครัด และในการพิจารณาความผิดนั้น ต้องมีการตีความองค์ประกอบต่างๆหลายส่วนด้วยกัน งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นเพื่อสร้างองค์ความรู้กฎหมายอาญาโดยใช้วิธีการออนโทโลยีในการวิจัย โดยองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมานั้นจะแสดงองค์ประกอบต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในกฎหมายอาญา และมีการสร้างกฎเอสดับบลิวอาร์แอล เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาเจตนา เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ รวมถึงการพิจารณาความผิดอีกด้วย ซึ่งจะทำการส่งกลับผลลัพธ์จากการประมวลผลทางเว็ปไซต์ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานระบบ


การประเมินแบบจำลองการปกปิดข้อมูลและการใช้กลุ่มตัวจำแนกประเภท, พีรพงศ์ วาณิชยวิศาลสกุล Jan 2017

การประเมินแบบจำลองการปกปิดข้อมูลและการใช้กลุ่มตัวจำแนกประเภท, พีรพงศ์ วาณิชยวิศาลสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโมเดลความปลอดภัยในการปกปิดข้อมูลและกลุ่มตัวจำแนกประเภทในการจำแนกประเภทชนิดต่างๆ ในปัจจุบันการทำเหมืองข้อมูลถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องในจุดประสงค์ต่างๆเพื่อหาองค์ความรู้ การทำเหมืองข้อมูลจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ใช้สอนโดยที่จะต้องป้องกันไม่ให้สามารถระบุตัวตนข้อมูลในชุดข้อมูลนั้นได้ การปกปิดข้อมูลถูกคิดค้นขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการจะลดอัตราความเสี่ยงจากการถูกระบุตัวตน อย่างไรก็ตามการปกปิดข้อมูลถูกใช้งานคุณภาพของชุดข้อมูลก็จะลดลง ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสมดุลระหว่างความปลอดภัยของข้อมูลในการถูกระบุตัวตนและคุณภาพของชุดข้อมูล จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือทำการประเมินผลกระทบของการจำแนกประเภทด้วยข้อมูลที่ถูกปกปิดและประเมินประสิทธิภาพของโมเดลความปลอดภัยและอัลกอริทึ่มกลุ่มตัวจำแนกประเภทต่างๆ มาตรวัดที่จะใช้ในการทดลองคือ ความแม่นยำของการจำแนกประเภท อัตราความเสี่ยงจากการถูกระบุตัวตน และ จำนวนข้อมูลที่ถูกลบ จากผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าความแม่นยำของการจำแนกประเภทระหว่างข้อมูลดั้งเดิมและข้อมูลที่ถูกปกปิดไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ


การสร้างกรณีทดสอบด้วยกราฟการไหลหน้าจอสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, วิไลพร ภู่เมธากุล Jan 2017

การสร้างกรณีทดสอบด้วยกราฟการไหลหน้าจอสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, วิไลพร ภู่เมธากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนในปัจจุบันมีการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมอยู่เสมอ เมื่อโปรแกรมประยุกต์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีหน้าจอการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กรณีทดสอบมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยที่ผ่านมามุ่งเน้นการสร้างกรณีทดสอบโดยไม่ได้สนใจลำดับหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์ ก่อให้เกิดปัญหาคือโปรแกรมประยุกต์ที่นำมาทดสอบถูกทดสอบได้ไม่ครอบคลุมหรือครบถ้วนทุกหน้าจอ ดังนั้นลำดับของหน้าจอจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาทดสอบด้วย งานวิจัยนี้จึงนำเสนอเครื่องมือสร้างกรณีทดสอบตามลำดับของหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยเริ่มต้นเครื่องมือจะสร้างกราฟการไหลของหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์ และเส้นทางการทดสอบ หลังจากนั้นจะให้ผู้ทดสอบกำหนดค่าขอบเขตเพื่อนำไปสร้างกรณีทดสอบ โดยจะสร้างกรณีทดสอบด้วยวิธีการทดสอบแบบแบล็กบอกซ์โดยใช้ค่าขอบเขต เมื่อนำเครื่องมือมาทดลองกับโปรแกรมประยุกต์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้งานจริงจำนวน 3 โปรแกรม เครื่องมือสามารถสร้างกรณีทดสอบที่มีเส้นทางทดสอบครอบคลุมแบบกิ่งตามกราฟการไหลของหน้าจอได้ และยังสามารถสร้างข้อมูลทดสอบได้ครบถ้วนถูกต้องตามค่าขอบเขตที่กำหนด


การตรวจสอบความต้องกันของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มโดยใช้ออนโทโลยี, วิสาข์รัตน์ ศรีสูงเนิน Jan 2017

การตรวจสอบความต้องกันของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มโดยใช้ออนโทโลยี, วิสาข์รัตน์ ศรีสูงเนิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็ม (Precedence Diagram Method: PDM) เป็นวิธีการสร้างแผนภาพข่ายงานกิจกรรมเพื่อแสดงลำดับและความสัมพันธ์ของกิจกรรมภายใต้งานโครงการ โดยใช้โหนดในการอธิบายระยะเวลาในการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม ที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยลูกศรที่แสดงการพึ่งพาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในระหว่างการดำเนินกิจกรรมนั้น อาจมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการดำเนินงานซึ่งอาจจะส่งผลให้ช่วงเวลาของการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงนำเสนอวิธีการตรวจสอบความต้องกันเชิงความหมายของช่วงเวลาในแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็ม โดยการสร้างแบบจำลองออนโทโลยีที่อธิบายความหมายของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มด้วยภาษาอาวล์ (OWL) และออกแบบกฎด้วยภาษาเอสดับบลิวอาร์แอล (SWRL) ที่สามารถสรุปผลจากจากข้อเท็จจริงเชิงตรรกะที่กำหนดขึ้นมาได้อย่างอัตโนมัติ และแสดงผลลัพธ์ของการตรวจสอบความต้องกันด้วยรูปแบบการสืบค้นของภาษาเอสคิวดับเบิลยูอาร์แอล (SQWRL)