Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Discipline
Keyword
Publication Year
Publication
Publication Type

Articles 1621 - 1650 of 5570

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การป้องกันปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, กรณัฏฐ์ อัครธนบูลย์ Jan 2020

การป้องกันปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, กรณัฏฐ์ อัครธนบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศในมุมมองอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง 6 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ผู้นำและตัวแทนชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ นักวิชาการอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศส่งผลต่อ (1) สุขภาพของประชาชน โดยประชาชนยังคงมีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และภาวะความผิดปกติต่างๆ อันเนื่องมาจากการสูดดมมลพิษทางอากาศเข้าไป และ (2) สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า ยังคงมีสารมลพิษถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บางประเภท สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นผลมาจาก (1) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (2) การบริหารจัดการของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (3) มาตรการและระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่สะท้อนข้อเท็จจริง และ (4) การบังคับใช้กฎหมายและการบังคับโทษไม่ชัดเจน โดยสาเหตุการกระทำผิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมุมมองอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) ภาครัฐ ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนซึ่งเป็นทั้งเหยื่อทางตรงและทางอ้อม (2) ผู้ประกอบการหรือผู้ก่อมลพิษ ไม่รู้ตัวว่ากำลังก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมอยู่ หรือ จงใจกระทำผิดเนื่องจากเห็นว่าได้รับประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายมากกว่าได้รับโทษจากกฎหมาย (3) ผู้ได้รับผลกระทบ หรือ เหยื่อทางตรงที่เป็นมนุษย์ ได้รับความเสียหายจากการก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากการพิสูจน์หาตัวและจับกุมผู้กระทำผิดทำได้ยาก (4) ประชาชนทั่วไป หรือ เหยื่อทางอ้อมที่เป็นมนุษย์ ขาดความรู้ความเอาใจใส่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ได้ตระหนักในสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการควรปรับปรุงและบูรณาการกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้มีการบังคับใช้และบทลงโทษที่ชัดเจนควบคู่กับการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมตระหนักถึงการดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถจำแนกเป็นรูปธรรมได้โดย (1) ประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างจริงจัง (2) ใช้หลักทางวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศควบคู่กับการควบคุมมาตรฐานในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย (3) มีระบบบริหารจัดการแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี, พจมานพจี ทวีสว่างผล Jan 2020

การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี, พจมานพจี ทวีสว่างผล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่อง "การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุมในการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดี ประกอบกับระยะเวลาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุม เพื่อเสนอแนวทางในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุมในการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย และ2) กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 26 ราย รวมทั้งสิ้น 33 ราย ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี ปรากฎอยู่ใน 3 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นตอนการจับกุม : มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา สร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำโดยผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำผิด การเรียกรับประโยชน์จากผู้ต้องหา 2) ในขั้นตอนการสอบสวน : ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก ไม่ได้รับสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้รับสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนในชั้นสอบสวน ไม่ได้รับสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร ไม่ได้รับสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อีกทั้งพบว่า พนักงานสอบสวนมีจำนวนน้อย ปริมาณงานมาก ทำให้พนักงานสอบสวนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ก้าวหน้ามากกว่า และที่สำคัญที่สุดระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหา 48 ชั่วโมง ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน 3) ในขั้นตอนการสั่งคดี : พนักงานสอบสวนมักจะส่งสำนวนล่าช้าไม่เหลือเวลาให้พนักงานอัยการตรวจสอบและไม่สามารถส่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากไม่มีเหลือเวลาในการควบคุมผู้ต้องหา มีผลให้พนักงานอัยการต้องรีบสั่งฟ้องคดี หรือหากไม่มีหลักฐานเพียงพอพนักงานอัยการต้องสั่งไม่ฟ้องและปล่อยตัวผู้ต้องหาไป สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหา : เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนงดสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำผิด งดทำลายพยานหลักฐาน งดการข่มขู่ งดการทำร้ายร่างกาย เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนควรส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการมีระยะเวลาการตรวจสอบ ผู้วิจัยนำเสนอให้แยกเวลาพิจารณาคดีระหว่างพนักงานสอบสวนออกจากพนักงานอัยการ หากควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 วัน ควรเหลือเวลาให้พนักงานอัยการอย่างน้อย 14 วัน และหากการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 84 วัน ควรเหลือเวลาให้พนักงานอัยการอย่างน้อย 28 วัน และพนักงานอัยการเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีร่วมกับพนักงานสอบสวน


ความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์, ปรเมศวร์ กุมารบุญ Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์, ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์ด้วยทฤษฎีเกม โดยการไร้ตัวตนในดุษฎีนิพนธ์นี้หมายถึง การหลบพ้นการสืบสวนจับกุมทางดิจิทัลและการไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อดำเนินคดีเอาผิดได้ เพราะอาชญากรไซเบอร์เป็นอาชญากรที่คอยมองหาโอกาสอยู่เสมอและเมื่อได้พบไซเบอร์เทคโนโลยีใดที่มีปัจจัยการไร้ตัวตนจะตัดสินใจเลือกก่ออาชญากรรมทันทีและเมื่อไซเบอร์เทคโนโลยีนั้นการไร้ตัวตนหมดสิ้นไป อาชญากรรมไซเบอร์ประเภทนั้นจะหมดไปเป็นวัฏจักร ดุษฎีนิพนธ์นี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสานมีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณจากสถิติคดีอาชญากรรมไซเบอร์กับการสำรวจความเห็นออนไลน์จำนวน 35 ราย และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการวิจัยเอกสาร รวบรวมเนื้อหาอาชญากรรมไซเบอร์ คำสารภาพของอาชญากรไซเบอร์ คดีที่มีคำพิพากษาอาชญากรรมไซเบอร์ที่เคยเกิดขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบันและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 1 กรณีศึกษา จากนั้นเลือกกรณีศึกษาที่น่าสนใจขึ้นมา 17 กรณีศึกษาและใช้ทฤษฎีเกมกับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมไซเบอร์กับการไร้ตัวตน โดยอธิบายรูปแบบความสัมพันธ์เป็น ต้นไม้การตัดสินใจ ตารางผลตอบแทน และสมการผลตอบแทน ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีเกมอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนและการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ให้ได้เข้าใจง่ายและได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐแก้กฎหมายที่ยังมีช่องว่างและเสนอให้มีศาลชำนัญพิเศษพิจารณาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเฉพาะต่อไป


เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย, ศิริรัตน์ พรหมหิตาธร Jan 2020

เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย, ศิริรัตน์ พรหมหิตาธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง "เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย" นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเกี่ยวกับศัลยกรรมความงาม 2) ศึกษากระบวนการเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อการทำศัลยกรรมที่เกิดความผิดพลาด และ 3) ศึกษาแนวทางป้องกันและเยียวยาการตกเป็นเหยื่อศัลยกรรมความงาม งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการและข่าวที่นำเสนอในปี 2558-2562 ที่ปรากฏในสื่อ เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการทำศัลยกรรมความงาม ซึ่งผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหาย ญาติและผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการศัลยกรรมความงามจากหมอกระเป๋าและคลินิกศัลยกรรมความงาม จำนวน 5 คน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมทั้งหมด 9 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นภายนอกทั้งทางร่างกายและจิตใจตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย เสียโฉม พิการและเสียชีวิต อีกทั้งพบว่ารูปแบบการทำศัลยกรรมกับหมอกระเป๋าได้รับความนิยมในกลุ่มสาวประเภทสอง เพราะความต้องการตอบสนองด้านความงาม ต้องการเหมือนผู้หญิง เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ทำศัลยกรรมความงาม ปัจจุบันความนิยมเหล่านี้ขยายวงกว้างในกลุ่มผู้หญิง เกือบทุกช่วงอายุ เนื่องจากอิทธิพลของกระบวนการสร้างอัตลักษณ์โดยใช้สื่อทางสังคม การโฆษณา การรีวิว และการบอกกันแบบปากต่อปาก การเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อจากการศัลยกรรมความงามพบว่ามีการเยียวยาโดยสังคมผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย องค์กรต่างๆที่ไม่หวังผลกำไร, การเยียวยาโดยคู่กรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย และการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ประกอบกับการเยียวยาโดยภาครัฐผ่านพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และ การเยียวยาตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ในมาตรา 41 ที่นำหลักการชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดมาใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางป้องกันการตกเป็นเหยื่อศัลยกรรมความงาม คือ ควรเพิ่มช่องทางตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการสถานเสริมความงาม, การมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะของแพทย์ที่จะทำศัลยกรรมความงาม, การทำความเข้าใจระหว่างแพทย์และผู้รับบริการถึงขั้นตอนและวิธีการรักษา การผ่าตัด และผลกระทบ, มีการควบคุมข้อความที่ใช้โฆษณาของคลินิกศัลยกรรมให้มีความเหมาะสม, การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการทำศัลยกรรมความงาม และการตรวจสอบแพทย์และคลินิกศัลยกรรมความงาม รวมทั้งการผสานการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐและมีหน่วยงานกลางกำกับดูแลเฉพาะเรื่องศัลยกรรมความงาม และแนวทางการเยียวยาความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม คือ เพิ่มเติมข้อกำหนดในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ในมาตรา 41 ให้มีการชดเชยที่ครอบคลุมความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม, จัดให้มีการประกันภัยความรับผิดทางการแพทย์ หรือกองทุนเพื่อเยียวยากรณีเกิดความผิดพลาดจากการทำศัลยกรรมความงาม


แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, จักรี กันธิยะ Jan 2020

แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, จักรี กันธิยะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดและเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทย โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณโดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมกลุ่มย่อยและการเก็บแบบสอบถามจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง แบบประชุมกลุ่มย่อยและแบบสอบถามและผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหารวมถึงสถิติพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัญหาและอุปสรรคของการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในประเทศไทยประกอบด้วย 1.1) ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ยังขาดยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและขาดนโยบายในการป้องกันและปราบปรามคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจัง 1.2) ด้านกฎหมายและการลงโทษซึ่งการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษยังขาดประสิทธิภาพและไม่มีการนำมาตรการมาใช้อย่างจริงจัง 1.3) ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการปฏิบัติงานในการสืบสวนสอบสวนแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน ตลอดจนไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและ 1.4) ด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่รัฐขาดประสบการณ์ในคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและ 2) แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทยภาครัฐต้องมีแนวทางการพัฒนาในด้าน 2.1) นโยบายและยุทธศาสตร์โดยการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยาเสพติด 2.2) ด้านกฎหมายและการลงโทษ เช่น การแก้ไขกลไกทางกฎหมาย/แนวทางการปฏิบัติระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 2.3) ด้านหน่วยงาน สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนหน่วยงานภาคีทั้งในและต่างประเทศและ 2.4) ด้านบุคลากร เช่น ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสมทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย


แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส, วิสูต กัจฉมาภรณ์ Jan 2020

แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส, วิสูต กัจฉมาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ "แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส" เป็นการศึกษาวิจัยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัสอันเป็นนวัตกรรมการโอนมูลค่าระหว่างกันโดยตรงแบบไร้พรมแดนได้อย่างรวดเร็วและไม่มีหน่วยงานกลางใดกำกับ เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออาชญากรที่อาจเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน รูปแบบของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลเข้ารหัส รวมถึงแนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัสที่เหมาะสม โดยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับเทคนิควิธีเดลฟายรูปแบบปรับปรุง จากการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศเงินสกุลเข้ารหัสมีกลไกการปกปิดตัวตนของผู้ใช้งาน สามารถกลบเกลื่อนร่องรอยเส้นทางธุรกรรมไม่ให้พิสูจน์ย้อนกลับถึงต้นทางได้ กอรปกับมีช่องว่างทางกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาชญากรจึงอาจเลือกใช้เงินสกุลเข้ารหัสเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ทั้งนี้ มาตรการป้องกันและปราบปรามที่เหมาะสม คือ ควรเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ตัวตนของผู้ขอใช้งานโดยจัดทำระบบจัดการฐานข้อมูลกลางของประเทศ เฝ้าระวังธุรกรรมแปรสภาพเงินสกุลเข้ารหัสของผู้ต้องสงสัย พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้านการต่อต้านการฟอกเงิน และปรับปรุงกฎระเบียบในกระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส รวมถึงพัฒนาโปรแกรมสืบค้นเส้นทางธุรกรรมบนระบบปฏิบัติการบล็อกเชน และเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับเงินสกุลเข้ารหัสที่ถูกต้องให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงประชาชนทั่วไป


แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์, กรวรรณ คำกรเกตุ Jan 2020

แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์, กรวรรณ คำกรเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เพื่อนำไปสู่ตัวอย่างรูปแบบและนโยบายที่เหมาะสมต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กและเยาวชนต่อโอกาสในการตกเป็นเหยื่อและเป็นผู้กระทำผิดในสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยและแต่ละบริบทสังคมต่อไป การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 คน และการจัดสนทนากลุ่มย่อย ผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม จำนวน 5 คน ผลการศึกษาพบว่า การกำหนดแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนนั้น ต้องมีการสำรวจสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนก่อน ทั้ง 5 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 1) ปัจจัยส่วนบุคคล 2) ปัจจัยทางด้านครอบครัว 3) ปัจจัยทางด้านกลุ่มเพื่อน /สถาบันการศึกษา 4) ปัจจัยทางด้านสังคม และ 5) ปัจจัยอื่น ๆ เพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนให้มีวัคซีนทางสังคมต่อการป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ และการกระทำความผิดในสังคม โดยปัญหาและอุปสรรคจากกรณีศึกษาการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2562 สามารถแบ่งปัญหาออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนโยบาย และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 2) ด้านวิธีการแก้ไข/เนื้อหา หรือกิจกรรม 3) ด้านเจ้าหน้าที่ผู้แก้ไข 4) ด้านเด็กและเยาวชนผู้รับการแก้ไข 5) ด้านระยะเวลา และ 6) ปัญหาด้านอื่น ๆ ทั้งงบประมาณ การติดตามประเมินผล และสถานการณ์ Covid-19 ดังนั้น การนำเสนอนโยบาย และรูปแบบที่เหมาะสม โดยผู้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอผ่านกระบวนการตามหลักของทฤษฎีระบบ (System Theory) การวิเคราะห์ปัจจัยนำเข้า (Input) คือ การวิเคราะห์และสำรวจสภาพปัญหา จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยใช้เครื่องมือในการประเมินเพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดกระบวนการ (Process) คือ แนวทาง/วิธีการ/โปรแกรม ที่จะนำไปสู่กระบวนการในการเปลี่ยนแปลง และนำแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม ตามบริบทของสังคมไทยไปปฏิบัติที่เหมาะสม แบ่งเป็นหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรเฉพาะด้าน ในแต่ละโรงเรียน จึงนำไปสู่ผลลัพธ์ (Output) คือ เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง ไม่หันไปกระทำผิดในสังคมหรือตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในสังคม โดยกระบวนการต่าง ๆ นั้น ดำเนินการผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้อัตราการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนลดลง และเป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง จึงนำไปสู่แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหาร และความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย, ภูวดล ไชยอินทร์ Jan 2020

การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหาร และความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย, ภูวดล ไชยอินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นการใช้ความรุนแรงของรัฐกระทำต่อมนุษย์ผู้อยู่ในสังคม โดยสังคมย่อมยินยอมให้รัฐลงโทษมนุษย์ที่กระทำความผิด อย่างไรก็ตามการลงโทษทัณฑ์ของรัฐต้องอาศัยความสมเหตุสมผลซึ่งเป็นอำนาจของความรู้อย่างหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของโทษทัณฑ์ในฐานะวาทกรรมอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของรัฐไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการให้เหตุผลในการลงโทษในแต่ละสมัย โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการให้ความสมเหตุสมผลของภาครัฐ และความเห็นจากภาคสังคม ผ่านกรณีศึกษาการลงโทษประหารชีวิต และรูปแบบของเรือนจำ ด้วยวิธีวงศาวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ จากปัจจุบันร่วมสมัยจนถึงรัฐสมัยโบราณ ซึ่งทำให้เห็นว่าในมิติทางประวัติศาสตร์การลงโทษเป็นเพียงวาทกรรมที่ปรากฏเด่นชัดในแต่ละยุคสมัย โดยเป็นอิทธิพลของการรับเอาวิธีคิดจากภายนอกเข้ามาปะทะกับความคิดภายในสังคมแบบเดิม และทำให้ความคิดที่เป็นวาทกรรมเกิดการซ้อนทับกันเป็นชั้น โดยต่างเป็นการจับวางในวาทกรรมทัณฑวิทยาทั้งรูปแบบดังต่อไปนี้ (1) การแก้แค้นทดแทนให้สาสม (2) การลงโทษเพื่อการยับยั้งป้องกัน และ (3) การลงโทษเพื่อการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของรัฐไทยในการผดุงความชอบธรรมของความสมเหตุสมผลของการลงโทษในสังคมไว้แบบเดิม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นับเป็นคุณูปการในการพยามนำเสนอการใช้วิธีวงศาวิทยาในการศึกษาการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย ตลอดจนเปิดมุมมองที่หลากหลายต่อความสมเหตุสมผลของกรอบคิดของการลงโทษแบบอื่นๆต่อไป


การป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์, พรรษาวดี คล้อยระยับ Jan 2020

การป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์, พรรษาวดี คล้อยระยับ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ 2) ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ และ 3) เสนอแนะแนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงลึกในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน อัยการ จำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพปัญหาการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศในสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น สาเหตุการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ เกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากตัวของเด็กที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่าย ครอบครัวของเด็กมีปัญหาในครอบครัวทำให้ต้องพึ่งพาสังคมออนไลน์ สภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ รวมไปถึงเพื่อนของเด็ก และตัวผู้กระทำความผิดมักจะเป็นผู้มีความชำนาญ รูปแบบการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ มีดังนี้คือ การกลั่นแกล้งทางเพศ การข่มขู่ทางเพศ การลวนลามทางเทศ และ การอนาจารทางเพศ 2) ผลการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ พบว่า กฎหมาย บทลงโทษตลอดจนนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับการป้องกันการถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ มีความสอดคล้องเหมาะสม แต่การนำผู้ต้องหามาลงโทษมีความยากลำบาก เนื่องจากในโลกออนไลน์ไม่สามารถเก็บพยานหลักฐานได้ครบ ขาดการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐกับภาคเอกชน และการได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนยังไม่เพียงพอทั้งด้านงบประมาณ ด้านข้อมูล และบุคลากรยังไม่เพียงพอ 3) แนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ ดังนี้ คือรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการดำเนินการเชิงรุก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน ประชาชน ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ องค์กรเอกชน หรือภาคเอกชน ร่วมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยง ควรให้การสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งทางด้านงบประมาณ บุคลากร และข้อมูล เนื่องจากภาครัฐมีทรัพยากรดังกล่าวไม่เพียงพอและ ผู้ปกครองสร้างความรู้ความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน ทุกหน่วยงานต้องมีส่วนร่วมป้องกัน แก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่รัฐไม่เผยแพร่ข้อมูลเหยื่อสู่สาธารณะ


เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีกับการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย: กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เรื่อง Princess Hour, You Who Came From The Stars And Crash Landing On You, วริศรา กรีธาพล Jan 2020

เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีกับการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย: กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เรื่อง Princess Hour, You Who Came From The Stars And Crash Landing On You, วริศรา กรีธาพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ตีความเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย โดยศึกษาจากละครโทรทัศน์เกาหลี 3 เรื่อง ได้แก่ Princess Hours, You Who Came from the Stars และ Crash Landing on You และ (2) ศึกษาทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่นไทยหลังจากการดูละครโทรทัศน์เกาหลี โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกคู่รักวัยรุ่นชาวไทยเพศชายและเพศหญิงอายุ 18-25 ปีที่รับชมและชื่นชอบละครโทรทัศน์เกาหลี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ละครโทรทัศน์เกาหลีสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทยในด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ด้วยการนำเสนอภาพตัวละครนำชายที่มีลักษณะของความเป็นชายแบบใหม่และความเป็นสุภาพบุรุษ รวมถึงการไม่ใช้ความรุนแรงกับคนรัก ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงของสังคมเกาหลีที่เป็นสังคมปิตาธิปไตยและเพศชายมีการใช้ความรุนแรงต่อคู่รักของตน ซึ่งงานวิจัยนี้อาจเป็นแนวทางและความรู้สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างเนื้อหาละครโทรทัศน์ให้สามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่นไทย เพื่อลดการเรียนรู้และลอกเลียนแบบความรุนแรงจากสื่อ


แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: กรณีศึกษาอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ, ตุลาการ ขยันขันเกตุ Jan 2020

แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: กรณีศึกษาอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ, ตุลาการ ขยันขันเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัย เรื่อง "แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: ศึกษากรณีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อกำหนดและแนวทางของสหประชาชาติ รวมถึงความสอดคล้องของสภาพสังคมไทยกับการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามมาตรฐานสหประชาชาติ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายมาปฏิบัติ กลุ่มประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการ จำนวน 14 คน ผลการศึกษาพบว่า ข้อกำหนดและแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดของสหประชาชาติเป็นมาตรฐานสากลที่พึงปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากประเทศไทยกำหนดนโยบายการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดสอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติจะส่งผลให้สามารถลดความผิดพลาดในการดำเนินคดีอาญาด้วยการลงโทษผู้บริสุทธิ์ และลดผลกระทบต่อเหยื่อได้ แนวทางที่เหมาะสมในการใช้โทษประหารชีวิตในกรณีคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางของสหประชาชาติ คือ การใช้โทษประหารชีวิตเฉพาะในคดีเจตนาฆ่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และอาจพักการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อีกทั้งการนำมาตรการแทนการลงโทษประหารชีวิตในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิตที่ไม่สอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติ คือ กำหนดโทษจำคุกเพิ่มเข้าไปในบางฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว, การใช้โทษจำคุกระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการพ้นโทษ, การจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้รับการลดโทษ และการนำนักโทษประหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด (Most Serious Crime) ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติและเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตสืบไป


โมเดลเชิงสาเหตุแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีชาวต่างประเทศที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย, ทศพิธ รุจิระศักดิ์ Jan 2020

โมเดลเชิงสาเหตุแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีชาวต่างประเทศที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย, ทศพิธ รุจิระศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาและตรวจสอบโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมต่อสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ (2) ศึกษาบทบาทของการสนับสนุนทางสังคมในโมเดลเชิงสาเหตุดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตนักศึกษาปริญญาตรี 207 คน (หญิง 127 คน ชาย 80 คน) อายุเฉลี่ย 21.68 + 2.11 ปี ระยะเวลาที่อาศัยในประเทศไทยเฉลี่ย 1.47+1.44 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม มาตรวัดกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรม มาตรวัดการสนับสนุนทางสังคม และมาตรวัดสุขภาวะ เก็บข้อมูลทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling) และการทดสอบโมเดลแข่งขัน ผลการวิจัยพบว่าโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ ที่มีกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 44.167, df = 34, p = .114, SRMR = 0.059, RMSEA = 0.038, CFI = 0.989) และในการวิเคราะห์โมเดลแข่งขัน พบว่าโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ ที่มีกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยที่การสนับสนุนทางสังคมส่งผลต่อสุขภาวะผ่านกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรม เป็นโมเดลที่ดีที่สุด (Chi-square = 66.675, df = 50, p = .057, SRMR = 0.071, RMSEA = 0.040, CFI = 0.986) นอกจากนี้ผลการวิจัยยังบ่งชี้ว่า เมื่อนักศึกษาชาวต่างชาติเผชิญกับแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น กลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ คือ กลยุทธ์การแยกตัว และเมื่อได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากขึ้น กลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่นักศึกษาชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ คือ กลยุทธ์การบูรณาการ นอกจากนี้การสนับสนุนทางสังคมส่งผลทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อสุขภาวะผ่านกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเฉพาะด้านการยึดมั่นต่อวัฒนธรรมสังคมถิ่นฐาน


การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล, นภัสสร แสนชัย Jan 2020

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล, นภัสสร แสนชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาถึง 3 ประเด็นได้แก่ 1.ความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย 2.การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล 3.การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลและการศึกษาทั้งสามประเด็นจะเปรียบเทียบระหว่างเขตการปกครอง (ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล) ของประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของปี พ.ศ. 2562 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ วิธีการศึกษาของทั้ง 3 ประเด็นจะประกอบด้วยการคำนวณค่าดัชนีคัควานีและดัชนีการวัดการกระจายเพื่อวัดความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพ ส่วนของการศึกษาสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลศึกษาด้วยแบบจำลองสมการถดถอยโลจิต ผลการศึกษาสำหรับประเด็นความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพ พบว่า ระบบบริการสุขภาพมีลักษณะถดถอยและยังคงมีความไม่เป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพทั้งพื้นที่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลโดยประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าประชาชนที่มีรายได้สูงซึ่งมีค่าดัชนีคัควานีของภาพรวมทั้งหมดสามารถคำนวณได้เท่ากับ -0.1526 ประเด็นการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาล พบว่า 2 ประเด็นนี้ ส่วนใหญ่ปัจจัยที่นำมาศึกษามีผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ คือ 1. ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ 2. ครัวเรือนที่มีผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ส่วนของปัจจัยที่ลดโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ คือ 1. สถานะการทำงานของหัวหน้าครัวเรือน 2. ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน 3.ระดับเศรษฐานะของครัวเรือน 4. การมีประกันสุขภาพของสมาชิกในครัวเรือน เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างพื้นที่เขตการปกครองพบว่า ในพื้นที่เขตเทศบาลมีปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาสภาวะล้มละลาย คือ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ ในส่วนของพื้นที่นอกเขตเทศบาล พบว่า ในเขตพื้นที่นี้ยังขาดปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาการกลายเป็นคนยากจน คือ การศึกษา เนื่องจากผลการประมาณค่าจากแบบจำลองทั้งภาพรวมพบว่า การศึกษาเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อประเด็นที่กำลังศึกษา


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทย, พัฒนโชค ชูไทย Jan 2020

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทย, พัฒนโชค ชูไทย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทยใน โดยใช้ข้อมูลกลุ่มนักเรียนในช่วงอายุ 13 ปี ถึง 17 ปี ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 4,971 คน จากรายงานการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2558 และจำนวนทั้งสิ้น 14,580 คน จากรายงานการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2561 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมถึงใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ การศึกษานี้วิเคราะห์ผลการศึกษาผ่านการวิเคราะห์แบบจำลองโพรบิท เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลในเชิงบวกต่อความน่าจะเป็นของการลาออกจากโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ นักเรียนเพศชาย อายุของนักเรียน จำนวนชั่วโมงภายในบ้านซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทน และนักเรียนที่ทำงานควบคู่กับการเรียนในโรงเรียนในกรณีระดับประถมศึกษา จำนวนชั่วโมงทำงานที่ได้รับรายได้และผลตอบแทน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนของนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นักเรียนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักเรียนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อความน่าจะเป็นของการลาออกจากโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุของนักเรียนในกรณีระดับมัธยมศึกษา นักเรียนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลในระดับประถมศึกษา และสัดส่วนจำนวนโรงเรียนต่อจำนวนประชากร 1,000 คนในแต่ละจังหวัด ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการลดอัตราการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียน รัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนจำนวนโรงเรียนต่อจำนวนประชากร 1,000 คนในแต่ละจังหวัด โดยการสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ด้านนโยบายการศึกษาสำคัญของประเทศไทย รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปีและกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงินและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนจากครัวเรือนยากจน


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมมาตรฐาน Rspo ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย, ปุณศยา รอดเจริญ Jan 2020

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมมาตรฐาน Rspo ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย, ปุณศยา รอดเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติโดยรวมของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีต่อมาตรฐาน RSPO ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมันระหว่างเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง ศึกษาถึงสาเหตุและข้อจำกัดที่เกษตรกรตัดสินใจไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนยูนิวานิช–ปลายพระยา) จำนวน 65 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO จำนวน 65 ราย ในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ โดยใช้แบบสอบถามแล้วนำมาวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน ผลการศึกษาพบว่า (1) เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีทัศนคติต่อมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกัน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ค่อนข้างมีทัศนคติเชิงบวกต่อมาตรฐาน RSPO แต่เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีทัศนคติเป็นกลางต่อมาตรฐาน RSPO ไปจนถึงค่อนข้างมีทัศนคติเชิงลบต่อมาตรฐาน RSPO (2) การเปรียบเทียบโครงสร้างต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมัน พบว่า ต้นทุนรวมในการทำผลิตปาล์มน้ำมันของครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะ ครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีสัดส่วนต้นทุนค่าปุ๋ยและต้นทุนค่ายาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO แต่ในส่วนของต้นทุนค่าดูแลรักษาสวนปาล์มน้ำมันกลับพบว่าครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีสัดส่วนต้นทุนค่าดูแลรักษาสวนปาล์มน้ำมันสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO (3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ได้แก่ เพศของหัวหน้าครัวเรือน ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ทัศนคติเชิงบวกต่อมาตรฐาน RSPO และทัศนคติเชิงลบต่อมาตรฐาน RSPO และ(4) สาเหตุที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันตัดสินใจไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO คือ เกษตรกรบางส่วนไม่รู้จักมาตรฐาน RSPO และสำหรับเกษตรกรที่รู้จักมาตรฐาน RSPO แต่ยังคงตัดสินใจไม่เข้าร่วมเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกษตรกรคิดว่ามาตรฐาน RSPO มีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อน เกษตรกรมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO ในหลายประเด็น และเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO เป็นต้น ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรทั้งสองกลุ่มมีทัศคติต่อมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและปัจจัยด้านทัศนคติของเกษตรกร …


ปัจจัยที่ส่งผลต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษีในมุมมองของผู้ขายรายย่อย, ญาณิศา เชื้อไทย Jan 2020

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษีในมุมมองของผู้ขายรายย่อย, ญาณิศา เชื้อไทย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา จำนวน 385 คน โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้วิธีการศึกษาด้วยแบบจำลองถดถอยเชิงพหุ และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษี ได้แก่ รายรับเฉลี่ยจากการขาย ลักษณะช่องทางการขาย และทัศนคติเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบภาษี โดยรายรับเฉลี่ยจากการขายส่งผลเชิงบวกต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษีเนื่องจากประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบอัตราก้าวหน้า รายรับเพิ่มขึ้นจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และการเป็นผู้ขายที่มีช่องทางการขายเป็นออนไลน์อย่างเดียวส่งผลให้มีความกังวลการถูกตรวจสอบภาษีมากกว่าผู้ขายที่มีช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกาศใช้กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าความกังวลใจเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบภาษีของภาครัฐเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลเชิงบวกต่อความกังวลการถูกตรวจสอบภาษีของผู้ขายรายย่อย


การปกครอง วัฒนธรรม และพัฒนาการทางเศรษฐกิจ : บทวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมของแสงไฟยามค่ำคืนเหนือพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาษา, ศิวัช พู่พันธ์พานิช Jan 2020

การปกครอง วัฒนธรรม และพัฒนาการทางเศรษฐกิจ : บทวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมของแสงไฟยามค่ำคืนเหนือพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาษา, ศิวัช พู่พันธ์พานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษาชิ้นนี้ต้องการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเขตการปกครองและวัฒนธรรมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาษาโดยใช้ความสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนเป็นตัวแทนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพื่อวางแนวพื้นที่ได้โดยอิสระ การศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ความสว่างของแสงไฟเหนือพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่ตั้งถิ่นฐานข้ามขอบเขตจังหวัด เพื่ออธิบายผลของเขตการปกครองที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยควบคุมปัจจัยด้านวัฒนธรรมให้คงที่ และความสว่างของแสงไฟเหนือพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกัน แต่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เคียงกันและอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน เพื่ออธิบายผลของวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยควบคุมปัจจัยด้านเขตการปกครองให้คงที่ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนทั้ง 2 กรณีผ่าน 5 ตัวแปร ดังนี้ คุณภาพของสถาบันท้องถิ่น ความหนาแน่นของประชากร ความสูงของพื้นที่ ถนนในพื้นที่ และระยะห่างจากเมือง ผลการศึกษาพบว่า ทั้งเขตการปกครองและวัฒนธรรมส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยคุณภาพของสถาบันท้องถิ่นที่มีความโปร่งใสและคุณภาพในการดำเนินงานที่ต่างกัน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่ข้ามจังหวัดมีความสว่างของแสงไฟที่แตกต่างกัน และความสูงของพื้นที่ทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่างกัน ส่งผลให้แสงไฟระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายในจังหวัดจึงต่างกัน นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเขตการปกครองจะมีความสำคัญมากกว่าวัฒนธรรมเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ข้ามจังหวัด ในทางกลับกันวัฒนธรรมก็จะมีความสำคัญมากกว่าเขตการปกครองเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน ดังนั้น เขตการปกครองระดับจังหวัดและความร่วมมือระหว่างจังหวัดมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจควรคำนึงถึงความสอดคล้องของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายด้วย


การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นของคนจนเมือง ในเขตกรุงเทพมหานคร, ปริตตา หวังเกียรติ Jan 2020

การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นของคนจนเมือง ในเขตกรุงเทพมหานคร, ปริตตา หวังเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทบาทของเมืองในฐานะพื้นที่ที่สร้างโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมของบุคคลที่มีภูมิหลังยากจน ถูกตั้งคำถามในช่วงสองทศวรรษหลัง เมื่อสัดส่วนคนจนเมืองเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตเมือง งานวิจัยนี้จึงตรวจทานสถานการณ์การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเชิงคุณภาพในกลุ่มครอบครัวที่มีภูมิหลังยากจน 30 ครอบครัว มีรุ่นพ่อแม่เป็นอดีตแรงงานอพยพไร้ทักษะ ตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานครช่วงทศวรรษที่ 2510-2530 อันเป็นช่วงเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศไทย พบว่าตัวแทนจากรุ่นลูก 28 คนจาก 30 ครอบครัว มีจำนวนปีการศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ 19 คนมีระดับอาชีพสูงกว่า แต่มีเพียง 8 คน หรือหนึ่งในสี่ที่มีควินไลท์รายได้สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กับข้อจำกัดด้านทักษะของรุ่นลูกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริบทของตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การเลื่อนชั้นทางสังคมแบบก้าวกระโดดจึงยังไม่เกิดขึ้นในรุ่นลูก นอกจากนี้ ครอบครัวกรณีศึกษาที่รุ่นลูกประสบความสำเร็จในการเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่น มีรุ่นพ่อแม่ที่มีความสามารถในการครอบครองทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม จัดเป็นทุนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการนอกระบบตลาด ได้มากกว่าครอบครัวที่รุ่นลูกไม่ประสบความสำเร็จ เพิ่มโอกาสให้รุ่นพ่อแม่เข้าถึงทุนทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น การเข้าถึงงานและรายได้ ส่งผลต่อการเลื่อนชั้นทางสังคมในทางที่ดีขึ้นในรุ่นลูก ข้อค้นพบนี้สะท้อนว่าทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมสามารถชดเชยภูมิหลังเสียเปรียบของครอบครัวที่มีภูมิหลังยากจนได้ อีกด้านหนึ่ง ก็บ่งชี้ว่าครอบครัวเหล่านี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสในระบบตลาด อันเกิดจากการกระจายทรัพยากรในเมืองไม่ทั่วถึง


ประสบการณ์ความไม่แน่นอนในอดีตและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของกลุ่มเกษตรกรไทย, นภัสสร วิวัฒนกุลกิจ Jan 2020

ประสบการณ์ความไม่แน่นอนในอดีตและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของกลุ่มเกษตรกรไทย, นภัสสร วิวัฒนกุลกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานชิ้นนี้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์การเผชิญความไม่แน่นอนของราคาสินค้าเกษตรกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงด้านรายได้ของเกษตรกรไทย ในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งการศึกษาสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้นโยบายความช่วยเหลือทางการเกษตรจากทางภาครัฐ โดยจะทำการศึกษา 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร(ราคา ณ ไร่นา) และปริมาณน้ำฝนรายปี 21 ปีย้อนหลัง เพื่อศึกษาประสบการณ์ความไม่แน่นอนของเกษตรกรในด้านราคาและภูมิอากาศ 2) การทดลอง The Bomb Task เพื่อประเมินระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง 3) การทำแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 112 คน ในพื้นที่จังหวัดเลย เพื่อศึกษาปัจจัยด้านสถานะความมั่นคงทางการเงินและบุคลิกภาพส่วนบุคคล ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรไทยมีประสบการณ์การเผชิญความไม่แน่นอนด้านราคาอยู่ตลอดเวลา โดยมีความสัมพันธ์กับความไม่แน่นอนด้านภูมิอากาศ ประกอบกับการใช้นโยบายช่วยเหลือทางการเกษตรจากภาครัฐ โดยประสบการณ์ความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลต่อสถานะความมั่นคงทางการเงินของเกษตรกร ซึ่งผลจากการจำลองสถานการณ์การตัดสินใจในสถานการณ์ความเสี่ยง โดยวิธี The Bomb Task พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 จัดอยู่ในกลุ่มผู้หลีกหนีความเสี่ยง โดยจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรผ่านการใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติด้วยสมการถดถอยพหุ (Multiple Regression) ซึ่งทั้งประสบการณ์ความไม่แน่นอนที่เกษตรกรได้พบเจอมาในด้านราคาสินค้าเกษตร สถานะความมั่นคงทางการเงิน รวมไปถึงบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล ล้วนมีผลต่อความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเกษตรกร โดยเฉพาะปัจจัยด้านสถานะความมั่นคงทางการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเกษตรกร


กระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า: กรณีศึกษาการรำหมู่บวงสรวง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี, อภิโชติ ชมพล Jan 2020

กระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า: กรณีศึกษาการรำหมู่บวงสรวง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี, อภิโชติ ชมพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและกระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าของการรำหมู่บวงสรวงกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 - 2562 จากการวิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์หน่วยงานรัฐ ผู้มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้รำบวงสรวง ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้ชม โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวคิดสินค้าของสำนักมาร์กซิสต์ และการวิเคราะห์อุตสาหกรรมวัฒนธรรมผ่านการผลิตและการบริโภคตามนัยของอดอร์โน และแม็กซ์ ฮอร์ไคเมอร์ ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการรำบวงสรวงกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) ช่วงก่อน พ.ศ. 2536 การรำบวงสรวงเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มสตรีศรีหมากแข้ง ฝึกซ้อมและคัดเลือกโดยครูผู้ฝึกสอน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในพิธีกรรมและการรำแก้บน 2) ช่วงหลัง พ.ศ. 2536 หน่วยงานรัฐและสื่อมวลชนได้ผลิตสื่อท่ารำเผยแพร่ โดยใช้ทุนวัฒนธรรมเดิมสร้างมูลค่าและจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เกิดมูลค่าแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น การรำบวงสรวงจึงกลายเป็นสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น และ 3) ช่วงการเข้ามาของทุนนานาชาติการบันทึกสถิติโลกทำให้เกิดความเชื่อและพลังศรัทธามวลชนจากการจำกัดผู้รำในอดีตกลายเป็นการรำหมู่บวงสรวงที่มีผู้รำมหาศาลอันเกิดจากพลังแรงงานของผู้รำ เกิดมูลค่าส่วนเกินจากการฝึกซ้อม กลายเป็นสินค้าที่สื่อต่าง ๆ ได้เผยแพร่ในสังคมออนไลน์จากการผลิตคอนเทนต์ โดยมีจุดร่วมในการผลิตคือการผลิตจำนวนมากและการทำให้เหมือนกันเยี่ยงอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนการเป็นสินค้าวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยถูกขับเคลื่อนด้วยอิทธิพลของระบบทุนนิยม สังคม และกระแสของการท่องเที่ยว


เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยการกำกับดูแลโดยรัฐและการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง, ชุติมณฑน์ ยิ่งยืน Jan 2020

เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยการกำกับดูแลโดยรัฐและการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง, ชุติมณฑน์ ยิ่งยืน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้สามารถขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่องและสามารถก้ามข้ามจากการเป็นประเทศยากจนสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้สำเร็จ แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการชะลอตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นและการกระจายรายได้ที่ลดลง อีกทั้งการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาตามแนวทางกลไกตลาดเสรี แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่สามารถนำพาประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ จึงนำมาสู่การศึกษาโดยการใช้เศรษฐศาสตร์สถาบันผ่านรูปแบบการกำกับดูแลโดยรัฐ ตามแนวทางที่หลายประเทศเลือกใช้ในช่วงการพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง จากการศึกษา พบว่า การกำกับดูแลของไทยที่มีต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนั้น มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ภาครัฐจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และพยายามกำกับดูแลตามแนวทาง GEG โดยการแทรกแซงผ่านนโยบายภาษี โดยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลและเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไปพร้อม ๆ กับการเปิดเสรี เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น แต่กลับพบว่า การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการลดลงของภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การสนับสนุนด้านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังก่อให้เกิดการผูกขาดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่นำมาซึ่งการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่ส่งผลให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติในไทยมีน้อยและขาดตอน เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับประสิทธิภาพทางการผลิต การกำกับดูแลในรูปแบบดังกล่าว จึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทำงานของกลไกทางสถาบันที่จะใช้การลงทุนโดยตรงจากพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวข้ามการติดกับดักรายได้ปานกลาง


เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย :กรณีศึกษานโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2561, กมลรัตน์ ปราโมทย์พันธุ์ Jan 2020

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย :กรณีศึกษานโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2561, กมลรัตน์ ปราโมทย์พันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงกระบวนการกำหนดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย บทบาทและกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของกลุ่มเหตุปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย ในช่วงปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2561 ผู้วิจัยได้สร้างกรอบแนวคิดจากการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งแบ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระบบทุนนิยมโลก โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ อุปทานและอุปสงค์ของนโยบาย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีรัฐเศรษฐศาสตร์ อธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลที่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย และใช้แนวคิดทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ อธิบายพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลในการผลักดันนโยบาย ผลการวิจัยพบว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย เริ่มต้นเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2546 ผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “Unseen in Thailand มุมมองใหม่ เมืองไทย” โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ในประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 และความอึมครึมของภาวะสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก โดยโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในทางเศรษฐกิจ จึงมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งขึ้นในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งกลับไม่ได้สร้างผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลให้กับคนไทยเท่าที่ควร เนื่องจากแรงผลักดันในการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทยที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ ทำให้คนไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นปริมาณมากในเขตท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งโดยขาดการควบคุมดูแลการเข้าใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรมลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ


อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมและการดูตัวแบบเชิงบวกต่อการรับรู้การคุกคามจากการเหมารวมและความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของคนที่มีภาวะตาบอดสี, อนุสรณ์ อาศิรเลิศสิริ Jan 2020

อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมและการดูตัวแบบเชิงบวกต่อการรับรู้การคุกคามจากการเหมารวมและความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของคนที่มีภาวะตาบอดสี, อนุสรณ์ อาศิรเลิศสิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการคุกคามจากการเหมารวมและการให้ตัวแบบเชิงบวกในกลุ่มคนที่มีภาวะตาบอดสีในประเทศไทยซึ่งเป็นเพศชายจํานวน 44 คน โดยสุ่มการจัดกระทําให้ผู้ร่วมการทดลองเข้าเงื่อนไขแบบ 2 x 2 โดยมีการอ่านข้อความที่มีการคุกคามจากการเหมารวม (หรืออ่านข้อความที่ไม่มีการคุกคาม) และการดูวิดีโอตัวแบบเชิงบวก (หรือดูวีดีโอที่ไม่มีตัวแบบเชิงบวก) เพื่อลดอิทธิพลของคุกคามจากการเหมารวม โดยมีการวัดความเร็วในการตอบสนองจากการทดสอบความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากการเล่มเกม Stroop Task และทํามาตรวัดการรับรู้การถูกคุกคามจากการเหมารวม ผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติ Two-way ANOVA พบว่ามีผลปฏิสัมพันธ์ระหว่างเงื่อนไขการคุกคามจากการเหมารวมและการให้ตัวแบบเชิงบวก กล่าวคือกลุ่มที่ได้รับการคุกคามและได้ตัวแบบเชิงบวกมีคะแนนการรับรู้การถูกคุกคามตํ่ากว่ากลุ่มอื่น รวมถึงมีความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ดี อย่างไรก็ตามไม่พบอิทธิผลหลักของการคุกคามจากการเหมารวมและการดูวีดีโอตัวแบบเชิงบวกในการทดลองนี้ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมขึ้นอยู่กับการที่ผู้ร่วมวิจัยได้ชมวิดีโอตัวแบบเชิงบวกมาก่อนหรือไม่


ความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกกับความเหนื่อยหน่าย โดยมีแรงงานทางอารมณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน, ณัฐพร ปานเกิดผล Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกกับความเหนื่อยหน่าย โดยมีแรงงานทางอารมณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน, ณัฐพร ปานเกิดผล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่มีต่อความเหนื่อยหน่าย โดยมีแรงงานทางอารมณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์จากพนักงานบริการโรงพยาบาล 1 แห่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 185 คน ผลการวิจัย พบว่า แรงงานทางอารมณ์มิติการแสดงออกระดับพื้นผิวมีอิทธิพลส่งผ่านระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกกับความเหนื่อยหน่ายในทุกมิติ ได้แก่ ความอ่อนล้าทางอารมณ์ การลดคุณค่าความเป็นบุคคลในผู้อื่น และความสำเร็จส่วนบุคคล กล่าวคือ ความเหนื่อยหน่ายในตัวพนักงานในองค์กรนั้นมีอิทธิพลมากจากการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกในตัวพนักงาน ผ่านตัวแปรส่งผ่านด้านความไม่สอดคล้องทางอารมณ์ที่พนักงานแสดงออกระดับพื้นผิว แรงงานทางอารมณ์มิติการแสดงออกระดับพื้นผิวนี้ พนักงานจะแสร้งแสดงออกมาในสิ่งที่ตนไม่ได้รู้สึก เพียงเพื่อให้ตรงกับบทบาทและความคาดหวังขององค์การ ในขณะที่แรงงานทางอารมณ์มิติการแสดงออกระดับลึกเป็นตัวแปรส่งผ่านอิทธิพลของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่ส่งไปยังความเหนื่อยหน่าย ในมิติด้านการลดค่าความเป็นบุคคลในผู้อื่น และความสำเร็จส่วนบุคคล กล่าวคือ ค่าความเหนื่อยหน่ายในตัวพนักงานในองค์กรมีผลจากอิทธิพลการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกและการแสดงออกระดับลึกของพนักงาน แรงงานทางอารมณ์มิติการแสดงออกระดับลึกนี้ พนักงานจะปรับความรู้สึกภายในกับการแสดงออกทางอารมณ์ภายนอกให้เกิดความสอดคล้องกัน จากการพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้รับบริการรู้สึก และสามารถตอบสนองต่อตวามต้องการในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ส่งอิทธิพลต่อค่าคะแนนที่ต่ำในด้านการลดค่าความเป็นบุคคลในผู้อื่น และค่าคะแนนที่สูงในด้านความสำเร็จส่วนบุคคล


โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของอิทธิพลภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณา บูรณาการจากแนวคิดเชิงพุทธและตะวันตก ที่มีผลต่อความไว้วางใจ ความผูกพัน และ ความสร้างสรรค์ ในการทำงานของพนักงานชาวไทย, กิมาพร ลีสมิทธิ์ Jan 2020

โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของอิทธิพลภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณา บูรณาการจากแนวคิดเชิงพุทธและตะวันตก ที่มีผลต่อความไว้วางใจ ความผูกพัน และ ความสร้างสรรค์ ในการทำงานของพนักงานชาวไทย, กิมาพร ลีสมิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้แบ่งเป็น 2 การศึกษา ได้แก่ การพัฒนามาตรวัดภาวะผู้นำ และ การทดสอบสมมติฐานการวิจัย เก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างพนักงานจากสถาบันการเงินด้วยแบบสอบถามกระดาษ การศึกษาแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตรวจสอบมาตรวัดภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณาเชิงพุทธ บนพื้นฐานของความไว้วางใจ มาตรวัดถูกทดสอบความตรงเชิงเนื้อหา วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (n = 203) และวัดความตรงเชิงโครงสร้าง (n = 324) โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและความตรงเชิงลู่เข้า ผลการพัฒนามาตรวัด ภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณาเชิงพุทธแบบ 4 มิติตัวแปร ประกอบด้วย ด้านการส่งเสริม การเอาใจใส่ การออกแบบรางวัลและการชมเชย เพื่อแสดงการยกย่อง และ ความยึดมั่นในคุณธรรม สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์สูงสุด การทดสอบสมมติฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลระยะยาวของพฤติกรรมผู้นำ ความไว้วางใจในผู้นำ ที่มีผลต่อความผูกพัน ความสร้างสรรค์ของผู้ปฏิบัติงานในสังคมไทย การศึกษาจัดกระทำในโมเดลสมมติฐานภาคตัดขวางและการศึกษาระยะยาว วิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (structural equation modeling: SEM) ด้วยโปรแกรมเอ็มพลัส (Mplus) ผลการศึกษาในโมเดลการศึกษาภาคตัดขวาง ความไว้วางใจในผู้นำเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างความสัมพันธ์ของภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณาเชิงพุทธกับความผูกพันและความสร้างสรรค์ของพนักงาน ขณะที่ผลของโมเดลการศึกษาระยะยาว พบว่า ความไว้วางใจในผู้นำ (Time-1) ส่งผ่านอิทธิพลระหว่างภาวะผู้นำแบบมีเมตตากรุณาเชิงพุทธ (Time-1) และความผูกพัน (Time-2) แต่ไม่มีอิทธิผลส่งผ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความสร้างสรรค์ (Time-2)


นโยบายของไทยในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนในจังหวัดสงขลาระหว่างปี ค.ศ. 2014–2018, ปิยนาถ อิฏฐกรพันธ์ Jan 2020

นโยบายของไทยในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนในจังหวัดสงขลาระหว่างปี ค.ศ. 2014–2018, ปิยนาถ อิฏฐกรพันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษานโยบายของไทยในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนในจังหวัดสงขลาระหว่างปี ค.ศ. 2014–2018 เพื่อศึกษาบทบาทและปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา จากการศึกษาพบว่า บทบาทของตัวแสดงในการผลักดันให้เกิดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา มีดังนี้ หน่วยงานภาครัฐ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายเป็นหลักในการปรับปรุงพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนด้านแรงงาน และการให้คำปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุน โดยหน่วยงานส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและส่งมอบนโยบายให้กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา หน่วยงานเอกชน จะเป็นผู้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซียกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การสนับสนุนงานวิจัย และการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานในต่างประเทศ จะเป็นผู้ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างไทย – มาเลเซีย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย บริเวณรัฐปะลิส และรัฐเกดะห์เชื่อมโยงกับจังหวัดสงขลา อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่างมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ดังนั้น บทบาทและปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาจึงมีลักษณะผสมผสานทั้งการสนับสนุนและการต่อต้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจบริเวณชายแดนจังหวัดสงขลากับประเทศมาเลเซีย


ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียด รูปแบบความผูกพัน ต้นทุนทางจิตวิทยาและภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นที่มีประสบการณ์แยกจากบิดามารดา, ฐิตาพร แก้วบุญชู Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียด รูปแบบความผูกพัน ต้นทุนทางจิตวิทยาและภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นที่มีประสบการณ์แยกจากบิดามารดา, ฐิตาพร แก้วบุญชู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ที่ความเครียด รูปแบบความผูกพัน ต้นทุนทางจิตวิทยามีกับภาวะซึมเศร้า และศึกษาความสามารถที่ปัจจัยเหล่านี้ทำนายภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นที่เคยมีประสบการณ์แยกจากบิดามารดา โดยเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสุ่มแบบเจาะจงจำนวน 141 คน อายุ 18-25 ปี มีประสบการณ์แยกจากบิดาและ/หรือมารดาในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 16 ปี เป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และไม่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาทางจิตเวช กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย มาตรวัดความเครียด มาตรวัดรูปแบบความผูกพันห้ามิติ อันได้แก่ มิติความมั่นใจ มิติความไม่สบายใจเมื่อเกิดความใกล้ชิด มิติต้องการการยอมรับ มิติหมกมุ่นถึงความสัมพันธ์ และมิติความสัมพันธ์มีความสำคัญเป็นรอง มาตรวัดต้นทุนทางจิตวิทยา และมาตรวัดภาวะซึมเศร้า ข้อมูลที่ได้รับถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติสหสัมพันธ์เพียร์สันและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณด้วยวิธีการใส่ตัวแปรอิสระเข้าพร้อมกัน ผลการศึกษาพบว่าภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) กับความเครียด รูปแบบความผูกพันด้านต่างๆ และต้นทุนทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณพบว่าแม้ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันทำนายความแปรปรวนของภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 68 (R2 = .68, p < .001) แต่มีเฉพาะความเครียดเท่านั้นที่สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


อิทธิพลของการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงวัย โดยมีความต้องการพื้นฐาน ด้านจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเป็นตัวแปรกำกับ, ณฐวรรณ อรรณพไกรสร Jan 2020

อิทธิพลของการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงวัย โดยมีความต้องการพื้นฐาน ด้านจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเป็นตัวแปรกำกับ, ณฐวรรณ อรรณพไกรสร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ของความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง ในการทำนายความพึงพอใจในชีวิต โดยมีการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ (การเติมเต็มการมีอิสระในตนเอง การเติมเต็มความสัมพันธ์ และการเติมเต็มความสามารถ) เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง (เพื่อความสนุกสนาน เพื่อการรับรู้ถึงตัวตนและบทบาท และเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม) เป็นตัวแปรกำกับ ในงานวิจัยเป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ที่มีการเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถามและเลือกเก็บกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยเก็บข้อมูลจากผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี สามารถดูแลและพึ่งพาตนเองในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้ง มีการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างที่ตนเองชื่นชอบและไม่ได้รับรายได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้เวลาอย่างต่ำ 30 นาทีเป็นต้นไป จำนวนทั้งสิ้น 232 คน จากผลการวิเคราะห์ในงานวิจัย ไม่พบอิทธิพลส่งผ่าน และอิทธิพลกำกับ (Moderated Mediation) ของโมเดลการวิจัย กล่าวคือ ไม่พบความสัมพันธ์ของความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อการทำนายความพึงพอใจในชีวิต โดยมีการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ (การเติมเต็มการมีอิสระในตนเอง การเติมเต็มความสามารถ และ การเติมเต็มความสัมพันธ์) เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง (เพื่อความสนุกสนาน เพื่อการรับรู้ถึงตัวตนละบทบาท และเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม) เป็นตัวแปรกำกับ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างสามารถทำนายการเติมเต็มความต้องการด้านความสัมพันธ์ โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม จึงสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างอย่างเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือการรับรู้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ ดังในงานวิจัยที่ผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม และเข้าร่วมอย่างเป็นประจำ อาจนำไปสู่การได้รับการเติมเต็มความต้องการด้านความสัมพันธ์


การปรับงานระดับกลุ่ม การปรับงานรายบุคคล และความผูกใจมั่นในงานระดับบุคคล: การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านแบบเหลื่อมเวลาไขว้, ติณณ์ ชุ่มใจ Jan 2020

การปรับงานระดับกลุ่ม การปรับงานรายบุคคล และความผูกใจมั่นในงานระดับบุคคล: การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านแบบเหลื่อมเวลาไขว้, ติณณ์ ชุ่มใจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างการปรับงานในระดับกลุ่ม การปรับงานในระดับบุคคล และความผูกใจมั่นในงานของบุคคล ในกลุ่มตัวอย่างพนักงานรายเดือนบริษัทเอกชนในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาเดียวกัน (cross-sectional study) และความสัมพันธ์ช่วงเหลื่อมเวลา (cross-lagged panel design) โดยเว้นช่วงการวัดครั้งละ 1 สัปดาห์ 3 ครั้ง (N = 175) ผลการวิเคราะห์การวัดในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า ความสัมพันธ์ของการปรับงานระดับกลุ่ม การปรับงานรายบุคคล และความผูกใจมั่นในงาน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในเกณฑ์ดีและมีอิทธิพลทางตรงในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งพบว่าการปรับงานรายบุคคลเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างการปรับงานระดับกลุ่มและความผูกใจมั่นในงานรายบุคคลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในช่วงเวลาเดียวกันทั้ง 3 ช่วงเวลา แต่อิทธิพลทางตรงในทางบวกของการปรับงานระดับกลุ่มที่ไปยังความผูกใจมั่นในงานระดับบุคคลนั้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผลการวิเคราะห์แบบเหลื่อมเวลาไขว้ผู้วิจัยไม่พบอิทธิพลทางตรงในทางบวกที่มีนัยสำคัญทางสถิติของทุกเส้นอิทธิพลยกเว้นเส้นอิทธิพลของการปรับงานระดับกลุ่มครั้งที่ 1 ไปยัง การปรับงานรายบุคคลครั้งที่ 2


ความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิด รูปแบบความผูกพัน ปัจจัยทางความสัมพันธ์ กับความทุกข์ใจจากการเลิกรา ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผ่านประสบการณ์การเลิกรา, ศุภวรรณ นารถ Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิด รูปแบบความผูกพัน ปัจจัยทางความสัมพันธ์ กับความทุกข์ใจจากการเลิกรา ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผ่านประสบการณ์การเลิกรา, ศุภวรรณ นารถ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และความสามารถในการทำนายความทุกข์ใจจากการเลิกรา ด้วยการกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิด รูปแบบความผูกพัน และปัจจัยทางความสัมพันธ์ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงอนุมาน และเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ โดยกลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผ่านประสบการณ์การเลิกรามาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จำนวน 211 คน กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปซึ่งครอบคลุมถึงปัจจัยทางความสัมพันธ์ มาตรวัดความทุกข์ใจจากการเลิกรา มาตรวัดรูปแบบความผูกพันฉบับย่อ และมาตรวัดการกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สันและการถดถอยพหุคูณแบบ Enter ผลการวิจัยสนับสนุนสมมติฐานโดยรวม ทั้งนี้ พบสหสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างความทุกข์ใจจากการเลิกรากับการใช้การกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิดแบบไม่เอื้อประโยชน์ (r = .41, p < .01) การมีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล อันประกอบด้วย ความต้องการการยอมรับ (r = .25, p < .01) และความหมกมุ่นถึงความสัมพันธ์ (r = .39, p < .01) ในทางกลับกัน ความทุกข์ใจจากการเลิกรามีสหสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการมีคนรักใหม่ (r = -.16, p < .05) ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณพบกว่าการกำกับอารมณ์ด้วยวิธีการทางความคิด รูปแบบความผูกพัน และปัจจัยทางความสัมพันธ์ร่วมกันทำนายความทุกข์ใจจากการเลิกราได้ร้อยละ 26 (p < .001) โดยมีเฉพาะการกำกับอารมณ์ฯ แบบไม่เอื้อประโยชน์ (β = .28, p < .001) รูปแบบความผูกพันด้านความหมกมุ่นถึงความสัมพันธ์ (β = .35, p < .001) และการมีคนรักใหม่ (β = -.18, p < .01) เท่านั้นที่สามารถทำนายความทุกข์ใจดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแนวทางในการทำความเข้าใจและลดความทุกข์ใจจากการเลิกราในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ในอนาคต